“เศาะหาบะฮฺ” กับจุดยืนของหมู่ชนผู้ศรัทธา
บทความที่ชนะการประกวดเขียนบทความในโครงการ “แบบฉบับความยิ่งใหญ่ของท่านนะบีมุฮัมมัดและความประเสริฐของบรรดาศอฮาบะฮ์” เป็นอันดับที่ 3 จัดโดย ฝ่ายศาสนา และ วัฒนธรรม สถานทูตซาอุดิอารเบีย ประจำประเทศไทย ภายใต้การดูแลโดยเชคมุหัมมัด บิน อะหฺมัด อัล-อุศ็อยมีย์ หะฟิเซาะฮุลลอฮฺ
คำนำ
มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ พรอันประเสริฐและความศานติจงมีแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาเครือญาติตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านทั้งหลาย และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีการตั้งภาคีใดๆ ต่อพระองค์ และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์
อนึ่ง อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ทรงคัดเลือกชีวิตของคนกลุ่มชนหนึ่งของประชาชาตินี้ให้ดำเนินผ่านไปในเส้นทางแห่งการดิ้นรนต่อสู้ เส้นทางที่พวกเขาพร้อมที่จะแสวงหาสิ่งที่ผู้อภิบาลแห่งสากลโลกของพวกเขาทรงพึงพอใจ สิ่งที่เป็นภารกิจของเหล่าศาสนทูตทั้งหลาย โดยมีชีวิตของพวกเขา ทรัพย์สินของพวกเขาเป็นเสบียง พวกเขาละทิ้งความสุขสบายทุกอย่างเพื่อมุ่งหน้าสู่การเป็นแนวหน้าในการช่วยเหลือ เชิดชู และดำรงให้ศาสนานี้สูงส่ง พวกเขายอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขามีอยู่เพื่อน้อมรับคำสั่งสอนของท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของท่าน ดิ้นร้นต่อสู้เพื่อเผยแพร่คำสอนนั้นออกไป พวกเขายอมฝ่าฟันอุปสรรคและแรงต้านของเหล่าศัตรู อดทนและยืนหยัดในเส้นทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม พวกเขาไม่เคยลดละและท้อถอยจากการปฏิบัติภารกิจนี้ พวกเขายอมทำทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งนี้ก็เพื่อให้คำสอนของศาสนานี้ขจรกระจายไปทั่วทุกสารทิศ พวกเขาคือบรรดาผู้ศรัทธาซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน นอกจากเหล่า “เศาะหาบะฮฺ” ทั้งหลาย พวกเขาคือผู้ที่ทำหน้าที่ขัดเกลาจิตวิญญาณ และให้ข้อชี้นำแก่หัวใจทั้งหลาย เผยแพร่สาส์นแห่งสัจธรรม ลบล้างหลักการที่ผิดๆแห่งความเชื่อที่นอกรีต และจุดคบเพลิงแห่งสัจธรรมให้แก่มวลมนุษย์ชาติ และพวกเขาคือผู้ที่อัลลอฮฺทรงกล่าวว่า
﴿مُّحَمَّدٞ رَّسُولُ ٱللَّهِۚ وَٱلَّذِينَ مَعَهُۥٓ أَشِدَّآءُ عَلَى ٱلۡكُفَّارِ رُحَمَآءُ بَيۡنَهُمۡۖ تَرَىٰهُمۡ رُكَّعٗا سُجَّدٗا يَبۡتَغُونَ فَضۡلٗا مِّنَ ٱللَّهِ وَرِضۡوَٰنٗاۖ سِيمَاهُمۡ فِي وُجُوهِهِم مِّنۡ أَثَرِ ٱلسُّجُودِۚ ذَٰلِكَ مَثَلُهُمۡ فِي ٱلتَّوۡرَىٰةِۚ وَمَثَلُهُمۡ فِي ٱلۡإِنجِيلِ كَزَرۡعٍ أَخۡرَجَ شَطَۡٔهُۥ فََٔازَرَهُۥ فَٱسۡتَغۡلَظَ فَٱسۡتَوَىٰ عَلَىٰ سُوقِهِۦ يُعۡجِبُ ٱلزُّرَّاعَ لِيَغِيظَ بِهِمُ ٱلۡكُفَّارَۗ وَعَدَ ٱللَّهُ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ مِنۡهُم مَّغۡفِرَةٗ وَأَجۡرًا عَظِيمَۢا ٢٩﴾ (الفتح : 29)
“มุหัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ที่อยู่ร่วมกับเขา เป็นผู้เข้มแข็งกล้าหาญต่อพวกปฏิเสธศรัทธา เป็นผู้เมตตาสงสารระหว่างพวกเขาเอง เจ้าจะเห็นพวกเขาเป็นผู้รุกูอฺ ผู้สุญูด โดยแสวงหาคุณความดีจากอัลลอฮฺและความโปรดปราน (ของพระองค์) เครื่องหมายของพวกเขาอยู่บนใบหน้าของพวกเขาเนื่องจากร่องรอยแห่งการสุญูด นั่นคืออุปมาของพวกเขาที่มีอยู่ในอัต-เตารอต และอุปมาของพวกเขาที่มีอยู่ในอัล-อินญีล ประหนึ่งเมล็ดพืชที่งอกหน่อหรือกิ่งก้านของมันออกมาแล้วทำให้มันงอกงาม แล้วมันก็เติบโตแข็งแรงและทรงตัวอยู่ได้บนลำต้นของมัน นำความปลื้มปิติมาให้แก่ผู้หว่าน เพื่อที่พระองค์จะก่อความโกรธแค้นแก่พวกปฏิเสธศรัทธาเพราะพวกเขา (มุสลิมีน) และอัลลอฮฺทรงสัญญาแก่บรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลายในหมู่พวกเขาว่าจะได้รับการอภัยโทษและรางวัลอันใหญ่หลวง” (สูเราะฮฺ อัล-ฟัตหฺ : 29)
ไม่มีข้อสงสัยใดๆอีก สำหรับผู้ที่มีสติปัญญาทั้งหลายที่ได้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลาและศาสนทูตของพระองค์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ต้องมีความเชื่อมั่นว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมนั้น ล้วนเป็นกลุ่มชนที่ดีเลิศที่สุดเหนือกลุ่มชนทั้งหลาย ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม คือผู้นำและมีความประเสริฐที่สุดในหมู่ลูกหลานท่านนบีอาดัม บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านก็คือกลุ่มชนที่ดีเลิศที่สุดที่มีอยู่ ณ พื้นแผ่นดินนี้เช่นเดียวกัน
และโดยแน่แท้การได้รับรู้ถึงสภาพ คุณลักษณะนิสัย และจรรยามารยาทที่สูงส่งของพวกท่านเหล่านั้น ย่อมเป็นทางนำให้แก่หมู่ชนผู้ศรัทธาที่ปรารถนาใช้ชีวิตตามแบบอย่างของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้อย่างแน่แท้ ดังที่ท่านอับดุลลอฮฺ บินอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้ใดที่ต้องการทำตามแบบอย่างที่ดี เขาก็จงทำตามแบบอย่างที่ดีของผู้ที่ได้ตายไปแล้วเถิด พวกเขาเหล่านั้นคือเศาะหาบะฮฺของท่านนบีมุหัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม พวกเขาเป็นประชาชาติที่ดีที่สุด เป็นผู้ที่หัวใจที่บริสุทธิ์ที่สุด มีความรู้อย่างลึกซึ้งที่สุด และเป็นผู้มีความลำบากน้อยที่สุดในการนับถือหรือปฏิบัติคำสั่งใช้ของศาสนา เป็นกลุ่มชนที่อัลลอฮฺได้ทรงเลือกให้เป็นสาวกของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และทำการสืบทอดศาสนาของพระองค์ ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงเจริญรอยตามความประพฤติอันดีงามของพวกเขาเถิด พวกเขาคือบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบีมุหัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งเขาเหล่านั้นดำรงอยู่บนทางนำที่เที่ยงธรรม” [1]
และท่านอับดุลอฮฺ บินมัสอูดได้กล่าวอีกว่า “แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงมองดูหัวใจของปวงบ่าว ซึ่งพบว่าหัวใจของมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นหัวใจที่ดีเลิศที่สุดจากปวงบ่าวทั้งหลาย ซึ่งพระองค์ทรงเลือกท่านด้วยพระองค์เอง แล้วทรงแต่งตั้งให้ท่านประกาศศาสนา หลังจากนั้นก็ทรงมองดูหัวใจของมนุษย์คนอื่นๆ นอกจากหัวใจของมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม แล้วก็พบว่าหัวใจของบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี เป็นหัวใจที่ดีเลิศที่สุดจากปวงบ่างทั้งหลาย แล้วพระองค์ก็ทรงให้พวกเขาเป็นผู้ช่วยเหลือนบีของพระองค์ เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ต่อสู้ดิ้นร้นในกิจการต่างๆของศาสนาพระองค์ ดังนั้นสิ่งที่บรรดาผู้ศรัทธาเห็นว่าดี มันก็เป็นสิ่งดี ณ ที่อัลลอฮฺ และสิ่งที่บรรดาผู้ศรัทธาเห็นว่าน่าเกลียด มันก็เป็นความน่าเกลียด ณ ที่อัลลอฮฺ” [2]
และนี่คือ...สาส์นเล่มเล็กๆที่ได้กล่าวถึง “เศาะหาบะฮฺ กับจุดยืนของหมู่ชนผู้ศรัทธา” ซึ่งข้าพเจ้าได้เรียบเรียงขึ้นมาโดยผ่านการศึกษาจากแหล่งข้อมูลทางวิชาการที่มีความน่าเชื่อถือต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงคุณลักษณะที่สำคัญของการเป็นเศาะหาบะฮฺ รวมทั้งให้ตระหนักถึงความสำคัญ ความประเสริฐและการเป็นกลุ่มชนที่ดีเลิศของพวกท่าน ทั้งยังกล่าวถึงจุดยืนและภารกิจของผู้ศรัทธา โดยเฉพาะชาวอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺทั้งหลายที่ต้องมีต่อพวกท่าน เนื่องจากการปกป้องและลบล้างคำใส่ไคล้ของเหล่าศัตรูที่มีต่อพวกท่านนั้นถือเป็นภารกิจหนึ่งของหมู่ชนผู้ศรัทธาที่ต้องเอาใจใส่และขะมักเขม้นในการปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว เพราะการปกป้องและรักษาเกียรติของพวกท่านนั้นก็เท่ากับการปกป้องและรักษาเกียรติของอัลกุรอานและสุนนะฮฺของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมด้วย
ข้าพเจ้าขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ให้สาส์นเล่มเล็กๆนี้ได้รับความจำเริญ มีคุณประโยชน์ และมีความบริสุทธิ์ใจต่อพระองค์เพียงผู้เดียว และขอให้การงานชิ้นนี้ได้นำคุณประโยชน์แก่ข้าพเจ้าในช่วงที่ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่และได้สิ้นชีวิตไป และขอให้การงานชิ้นนี้เป็นประโยชน์แก่หมู่ชนผู้ศรัทธาทั้งหลาย
ขอพรของอัลลอฮฺและความจำเริญของพระองค์จงมีแด่บ่าวและศาสนทูตของอัลลอฮฺ ผู้เป็นนบีของเรา ผู้นำของเรา มุหัมมัด บินอับดุลลอฮฺ และบรรดาเครือญาติ ตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่าน และแด่ผู้ที่เจริญรอยตามพวกท่านด้วยกับความดีงามจนถึงวันกิยามะฮฺ อามีน
“เศาะหาบะฮฺ” พวกท่านคือใคร ?
โดยแน่แท้ การได้รับรู้ว่าใครเป็นหรือไม่เป็น “เศาะหาบะฮฺ” กันบ้างนั้นไม่ใช่เพียงแต่มีความสำคัญทางด้านหลักวิชาการในทรรศนะของวิชาว่าด้วยด้านหะดีษเท่านั้น แต่ยังส่งอิทธิพลโดยตรงและสำคัญมากทีเดียวแก่ท่าทีของเราที่มีต่อโครงสร้างทางจริยธรรมและการสร้างสังคมมุสลิม บ่อยครั้งด้วยกันที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม แนะนำว่าเศาะหาบะฮฺของท่านเป็นแบบฉบับของชนรุ่นต่อไปในอนาคต เพราะเศาะหาบะฮฺเหล่านั้นได้เข้าใจและปรับตนเองและน้อมรับในคำสอนของท่าน อย่างน้อยที่สุดในเรื่องคำสั่งเสียทั้งหลายและสุนันหรือการปฏิบัติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม พวกท่านได้ปฏิบัติได้ดีกว่าผู้อื่นใดที่จะสามารถกระทำได้อย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าใคร่นำเสนอคำนิยามบางส่วนที่สำคัญที่นักวิชาการบางท่านได้นำเสนอ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
“เศาะหาบะฮฺ”... พวกท่านคือผู้ที่อิมามอัล-บุคอรีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “ผู้ใดที่เคยคบหาเป็นมิตรกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม หรือเคยเห็นท่าน โดยที่เขาเป็นหนึ่งในหมู่ผู้ศรัทธา ก็ถือว่าเขาเป็นหนึ่งในบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่าน” [3]
“เศาะหาบะฮฺ”... พวกท่านคือผู้ที่ท่านอะลี บินอัล-มะดีนีย์ ได้กล่าวว่า “ผู้ใดที่เคยคบหาเป็นมิตรกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม หรือเคยเห็นท่านแม้เป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งของวันก็ตาม ก็ถือว่าเขาเป็นหนึ่งในบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม” [4]
“เศาะหาบะฮฺ”....พวกท่านคือผู้ที่ท่านอบูนะอีม อัล-อัศบะฮานีย์ ได้กล่าวว่า “ผู้ที่เป็นที่รู้กันว่าเขาเคยคบหาเป็นมิตรกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม หรือได้รายงานหะดีษจากท่าน หรือได้เห็นท่าน จากบรรดาผู้ชายและผู้หญิง” [5]
“เศาะหาบะฮฺ”....พวกท่านคือผู้ที่ท่านสะอีด บินอัล-มุสัยยิบ ได้กล่าวว่า “เศาะหาบะฮฺ คือผู้ที่เราจะไม่นับว่าเขาเป็นเศาะหาบะฮฺ นอกจากผู้ที่เคยคบหาหรืออยู่ใกล้ชิดกับท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม หนึ่งปีหรือสองปี และเคยเข้าร่วมสงครามกับท่านนบีหนึ่งครั้งหรือสองครั้ง” [6]
“เศาะหาบะฮฺ”... พวกท่านคือผู้ที่ท่านอัล-หาฟิซ อิบนุหะญัร และบรรดานักวิชาการด้านหะดีษได้กล่าวไว้ ซึ่งเป็นการให้คำนิยามที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือที่สุด [7] นั้นคือ “ผู้ที่เคยพบกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งเขาเป็นผู้ศรัทธา และสิ้นชีวิตไปในสภาพนั้น” [8]
“เศาะหาบะฮฺ”...พวกท่านคือผู้ที่ท่านอัล-หาฟิซ อิบนุหะญัร ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “พวกเขายังหมายรวมถึงผู้ที่พบเจอและไปมาหาสู่มักคุ้นกับท่านอย่างเป็นเนื่องนิจ หรืออาจจะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ และเป็นผู้ที่รายงานหะดีษจากท่านหรืออาจจะไม่ได้รายงานหะดีษแม้เพียงสักเรื่องหนึ่งก็ตาม เขาอาจะเป็นผู้เคยเข้าร่วมสงครามกับท่านนบีหรืออาจจะไม่เคยเข้าร่วม และเขาอาจจะเป็นผู้ที่เคยเห็นท่านด้วยกับตาแม้ว่าอาจจะไม่เคยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับท่านก็ตาม หรือบางทีอาจจะเป็นผู้ที่ไม่เคยเห็นท่านเนื่องจากมีอุปสรรคเช่นตาบอด และด้วยข้อผูกมัดของการมีศรัทธา ฉะนั้นสำหรับผู้ปฏิเสธศรัทธาที่เคยพบเจอท่านแม้ว่าภายหลังจากนั้นจะเข้ารับอิสลามก็ตามก็ไม่ถือว่าอยู่ในคำกล่าวข้างต้น เว้นแต่ว่าหลังจากที่เขาเข้ารับอิสลามแล้วเขาก็ได้พบเจอกับท่านนบีอีกครั้ง และคำกล่าวของเรานั้นมิได้หมายรวมถึงผู้ที่มีศรัทธาต่อสิ่งอื่น เช่นผู้ที่พบเจอกับท่านซึ่งเขาเป็นผู้ที่ศรัทธาจากชาวคัมภีร์(ยิวและคริสต์)ก่อนการเป็นนบี และคำกล่าวของเรายังหมายรวมถึงทุกๆคนที่เป็นมุกัลลัฟ(สามารถปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์)จากหมู่ญินและมนุษย์ ส่วนผู้ที่เคยพบเจอท่านแต่ภายหลังจากที่เขาศรัทธาแล้วนั้น เขากลับผินหลังให้กับศาสนาอิสลามและตายในสภาพนั้น เช่นนี้ก็ถือว่าเขาไม่ได้อยู่ในคำกล่าวของเราใดๆไม่ แต่ผู้ที่ผินหลังให้กับศาสนาภายหลังจากนั้นเขาหวนกลับมาสู่อิสลามอีกครั้งก่อนที่เขาจะตาย ไม่ว่าเขาจะพบเจอกับท่านนบีอีกครั้งหรือไม่ก็ตาม ทัศนะที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือนั้นเขาก็เป็นหนึ่งในบรรดาเศาะหาบะฮฺ” [9]
ดังนั้น สำหรับผู้ที่ผินหลังให้กับศาสนาและได้สิ้นชีวิตในสภาพนั้นก็ถือว่าการเป็นเศาะหาบะฮฺของเขานั้นได้สิ้นสุดไปด้วยปริยาย แต่ผู้ใดที่ได้สำนึกผิดและกลับเนื้อกลับตัวไปสู่อิสลามอีกครั้งการเป็นเศาะหาบะฮฺของเขาก็กลับคืนมาอีกครั้ง ซึ่งนี่เป็นทัศนะที่ถูกต้องที่สุด [10]
สรุปได้ว่า “เศาะหาบะฮฺ” คือ ผู้ศรัทธารุ่นแรกที่เคยคบหาเป็นมิตรและเสวนากับท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม โดยที่พวกเขาได้ฟังคำสั่งสอนของท่าน เจริญรอยตามท่าน และได้สิ้นชีวิตไปในสภาพที่มั่นคงในการศรัทธาต่ออิสลาม ฉะนั้นการที่จะรู้ว่าใครเป็นหรือไม่เป็นเศาะหาบะฮฺนั้นจึงมีเงื่อนไขสามประการด้วยกันนั้นคือ
หนึ่ง...มีความเชื่อมั่นและศรัทธาในคำสั่งสอนของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม
สอง...ได้คบหาเป็นมิตรกับท่านในสภาพที่เป็นผู้ศรัทธา
สาม...ได้สิ้นชีวิตในสภาพที่เป็นผู้ศรัทธา
สำหรับจำนวนของเศาะหาบะฮฺของท่านเราะสูลุลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมนั้น นักวิชาการบางท่านกล่าวว่าพวกท่านมีจำนวนทั้งหมดประมาณ 124,000 ท่าน บางท่านกล่าวว่า 114,000 ท่าน และบางท่านได้กล่าวว่า 60,000 ท่าน แต่ท่านอัล-บุคอรีย์และมุสลิมได้รายงานว่าจำนวนของเศาะหาบะฮฺนั้นมีจำนวนมากมายแต่ไม่มีการรวบรวมว่ามีจำนวนเท่าใด [11] ซึ่งเศาะหาบะฮฺท่านสุดท้ายที่สิ้นชีวิตนั้นคือท่านอบูอัฏ-ฏุฟัยล์ อามิร บินวาษิละฮฺ อัล-ลัยษีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ [12]
จะรู้ได้อย่างไรว่าใครคือเศาะหาบะฮฺ ?
บรรดานักวิชาการได้วางแนวทางและหลักเกณฑ์เพื่อให้รับรู้ว่าใครบ้างที่เป็นเศาะหาบะฮฺ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. มีรายงานที่ยืนยันว่าเขาเป็นเศาะหาบะฮฺ ซึ่งได้ปรากฏในอัลกุรอานทั้งที่ได้บ่งชี้อย่างชัดเจนและที่เป็นนัยซึ่งสามารถสื่อได้ว่าเขาคือเศาะหาบะฮฺ หรือด้วยกับการรายงานที่สืบต่อเนื่องกัน(มุตะวาติร)ที่ปรากฏในสุนนะฮฺของท่านนบี [13]
2. มีการรายงานจากเศาะหาบะฮฺด้วยกันเองว่าคนๆนี้เป็นเศาะหาบะฮฺ หรืออาจจะเป็นการรายงานจากตาบิอีนที่ได้บ่งชี้ว่าท่านเป็นเศาะหาบะฮฺ แต่ต้องมีการยืนยันถึงสิ่งที่ตาบิอีนได้รายงานนั้นมีความน่าเชื่อถือได้ [14]
3. มีการยืนยันที่มีความน่าเชื่อถือถึงการเป็นเศาะหาบะฮฺด้วยการบอกเล่าของท่านเองว่า “ฉันคือเศาะหาบะฮฺ” [15] หรือเขายืนยันว่าเคยพบเจอกับท่านนบี เคยคบหาเป็นมิตรกับท่าน เคยถามท่าน เคยเสวนากับท่าน เคยรับใช้ท่าน และอื่นๆ พร้อมทั้งรับรู้ว่าเขาได้ศรัทธาและรู้ว่าสถานที่เขาได้กล่าวอ้างนั้นเกิด ณ ที่ใด โดยที่ไม่มีรายงานอื่นที่ยืนยันว่าเขานั้นเป็นตาบิอีนหรือเป็นคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นเศาะหาบะฮฺ [16]
4. มีการยืนยันด้วยกับคุณลักษณะหรือสภาพแวดล้อมหรืออื่นๆ ซึ่งแบ่งเป็นหลายประเภท ดังนี้ [17]
หนึ่ง...เป็นชาวมุฮาญิรีนหรือเป็นคนของชาวเผ่าเอาส์และค็อซร็อจญ์ ซึ่งได้อาศัยอยู่ในเมืองมะดีนะฮฺในช่วงที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม มีชีวิตอยู่
สอง...เป็นชาวมักกะฮฺหรือชาวฏออิฟในปีที่ 10 ของการฮิจเราะฮฺ เนื่องจากไม่มีใครสักคนที่เป็นชาวเมืองทั้งสองในปีข้างต้น นอกจากเขาจะเข้ารับและศรัทธาในศาสนาอิสลาม พร้อมทั้งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในการประกอบพิธีหัจญ์อำลา(หัจญะตุลวิดาอ์)อีกด้วย
สาม...เป็นแม่ทัพที่ควบคุมดูแลการทำสงครามเพื่อต่อสู้กับผู้ที่ผินหลังให้กับศาสนาอิสลาม(สงครามริดดะฮฺ)และทำสงครามเพื่อพิชิตเมืองต่างๆ เนื่องจากไม่มีผู้ใดที่เป็นแม่ทัพที่ควบคุมดูแลนอกจากเป็นเศาะหาบะฮฺ
สี่...เป็นคนที่เกิดในช่วงเวลาที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม มีชีวิตอยู่ เนื่องจากเด็กทุกคนที่เกิดในช่วงเวลานั้นจะต้องพาไปหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ทุกคนเพื่อให้ท่านอวยพรและให้เด็กคนนั้นมีสิริมงคล
ทำไม...ต้องรักเศาะหาบะฮฺ ?
ไม่มีข้อสงสัยใดๆอีกว่า การรักเศาะหาบะฮฺนั้นเป็นหลักการพื้นฐานของการศรัทธาสำหรับชาวอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺอย่างแน่นอน เนื่องจากพวกท่านเป็นมนุษย์ที่ดีเลิศที่สุด ซึ่งอัลลอฮฺทรงคัดเลือกพวกท่านเพื่อเป็นสาวกของท่านศาสนทูตของพระองค์และเพื่อให้พวกท่านได้เผยแพร่ศาสนาของพระองค์ พวกท่านคือกลุ่มชนที่ได้ปกปักษ์รักษาคัมภีร์อัลกุรอานและอัส-สุนนะฮฺ(แบบฉบับ)ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ให้แก่พวกเรา และนำสาส์นดังกล่าวนั้นมาเผยแพร่แก่ประชาคมโลก ซึ่งหากไม่มีกลุ่มชนที่ดีเลิศอย่างพวกท่านแล้วไซร้ หลักคำสอนของศาสนาอิสลามย่อมสูญหายไป ดั่งการหายจากของคำสอนของชาวยิวและชาวคริสต์อย่างแน่แท้
อนึ่ง ถ้ากล่าวถึงความประเสริฐของบรรดาเศาะหาบะฮฺจากหลักฐานที่มาจากอัลกุรอานและอัส-สุนนะฮฺนั้น สามารถกล่าวได้ว่ามีความจำเป็นยิ่งนักที่เราทั้งหลายต้องรักใคร่พวกท่าน ปกป้องพวกท่าน และโกรธแค้นต่อผู้ที่พยายามใส่ไคล้พวกท่านทั้งหลาย ณ ที่นี้ ข้าพเจ้าจึงขอนำเสนอเหตุผลบางประการว่า “ทำไม...ต้องรักเศาะหาบะฮฺ ?” โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะอัลลอฮฺทรงโปรดปรานต่อพวกท่านทั้งหลายและทรงพรรณนาถึงพวกท่านด้วยการศรัทธา และเป็นผู้ที่อยู่แนวหน้าในการทำความดี รวมทั้งทรงสัญญาต่อพวกท่านด้วยกับสวนสวรรค์อันสถาพร [18] ดังที่พระองค์ได้ดำรัสว่า
﴿لَّقَدۡ رَضِيَ ٱللَّهُ عَنِ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ إِذۡ يُبَايِعُونَكَ تَحۡتَ ٱلشَّجَرَةِ فَعَلِمَ مَا فِي قُلُوبِهِمۡ فَأَنزَلَ ٱلسَّكِينَةَ عَلَيۡهِمۡ وَأَثَٰبَهُمۡ فَتۡحٗا قَرِيبٗا ١٨﴾ (الفتح : 18)
ความว่า “โดยแน่นอนอัลลอฮฺทรงโปรดปรานต่อบรรดาผู้ศรัทธาขณะที่พวกเขาให้สัตยาบันแก่เจ้าใต้ต้นไม้ (ที่หุดัยบิยะฮฺ) เพราะพระองค์ทรงรอบรู้ดีถึงสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของพวกเขา พระองค์จึงได้ทรงประทานความสงบใจลงมาบนพวกเขา และได้ทรงตอบแทนให้แก่พวกเขาซึ่งชัยชนะอันใกล้นี้” (สูเราะฮอัล-ฟัตหฺ : 18 )
พระองค์ได้ดำรัสอีกว่า
﴿وَٱلسَّٰبِقُونَ ٱلۡأَوَّلُونَ مِنَ ٱلۡمُهَٰجِرِينَ وَٱلۡأَنصَارِ وَٱلَّذِينَ ٱتَّبَعُوهُم بِإِحۡسَٰنٖ رَّضِيَ ٱللَّهُ عَنۡهُمۡ وَرَضُواْ عَنۡهُ وَأَعَدَّ لَهُمۡ جَنَّٰتٖ تَجۡرِي تَحۡتَهَا ٱلۡأَنۡهَٰرُ خَٰلِدِينَ فِيهَآ أَبَدٗاۚ ذَٰلِكَ ٱلۡفَوۡزُ ٱلۡعَظِيمُ ١٠٠﴾ (التوبة : 100)
ความว่า “บรรดาบรรพชนรุ่นแรกในหมู่ผู้อพยพ(ชาวมุฮาญิรีนจากมักกะฮฺ) และในหมู่ผู้ให้ความช่วยเหลือ(ชาวอันศอรจากมะดีนะฮฺ) และบรรดาผู้ดำเนินตามพวกเขาด้วยการทำดีนั้น อัลลอฮฺทรงพอพระทัยในพวกเขา และพวกเขาก็พอใจในพระองค์ด้วย และพระองค์ทรงเตรียมไว้ให้พวกเขาแล้ว ซึ่งบรรดาสวนสวรรค์ที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านอยู่เบื้องล่างพวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาลนั่นคือชัยชนะอันใหญ่หลวง” (สูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺ : 100)
2. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ได้ขจัดมลทินแก่พวกท่าน และได้พรรณนาถึงพวกท่านด้วยกับการเป็นหมู่ชนที่ได้รับความดีงามอย่างมากมาย และเป็นหมู่ชนที่ได้รับความสำเร็จ [19] ดังที่พระองค์ได้ดำรัสว่า
﴿لَٰكِنِ ٱلرَّسُولُ وَٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ مَعَهُۥ جَٰهَدُواْ بِأَمۡوَٰلِهِمۡ وَأَنفُسِهِمۡۚ وَأُوْلَٰٓئِكَ لَهُمُ ٱلۡخَيۡرَٰتُۖ وَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُفۡلِحُونَ ٨٨ أَعَدَّ ٱللَّهُ لَهُمۡ جَنَّٰتٖ تَجۡرِي مِن تَحۡتِهَا ٱلۡأَنۡهَٰرُ خَٰلِدِينَ فِيهَاۚ ذَٰلِكَ ٱلۡفَوۡزُ ٱلۡعَظِيمُ ٨٩﴾ (التوبة : 88-89)
ความว่า “แต่ทว่าเราะสูล และบรรดาผู้ที่ศรัทธาซึ่งร่วมอยู่กับท่านนั้น ได้ต่อสู้ด้วยทรัพย์สมบัติของพวกเขา และชีวิตของพวกเขา ชนเหล่านี้แหละสำหรับพวกเขานั้นจะได้รับความดีมากมาย และชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่ได้รับความสำเร็จ อัลลอฮฺได้ทรงเตรียมไว้แล้ว สำหรับพวกเขา ซึ่งบรรดาสวนสวรรค์ ที่มีแม่น้ำหลายสายไหลอยู่ภายใต้ สวนสวรรค์เหล่านั้นโดยที่พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล นั่นแหละคือชัยชนะอันใหญ่หลวง” (สูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺ : 88-89)
3. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ได้ดำรัสถึงพวกท่านว่าเป็นประชาชาติที่ดียิ่ง โดยที่พวกท่านได้ปฏิบัติภารกิจเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม นั้นคือการสั่งใช้ให้ปฏิบัติสิ่งที่ชอบ และห้ามมิให้ปฏิบัติสิ่งที่มิชอบ [20] ซึ่งหากบรรดาเศาะหาบะฮฺมิใช่กลุ่มชนแรกที่อยู่ในอายะฮฺนี้ แล้วจะมีกลุ่มชนใดอีกนอกจากพวกท่าน ?[21] ดังที่พระองค์ได้ดำรัสว่า
﴿كُنتُمۡ خَيۡرَ أُمَّةٍ أُخۡرِجَتۡ لِلنَّاسِ تَأۡمُرُونَ بِٱلۡمَعۡرُوفِ وَتَنۡهَوۡنَ عَنِ ٱلۡمُنكَرِ وَتُؤۡمِنُونَ بِٱللَّهِۗ وَلَوۡ ءَامَنَ أَهۡلُ ٱلۡكِتَٰبِ لَكَانَ خَيۡرٗا لَّهُمۚ مِّنۡهُمُ ٱلۡمُؤۡمِنُونَ وَأَكۡثَرُهُمُ ٱلۡفَٰسِقُونَ ١١٠﴾ (آل عمران : 110)
ความว่า “พวกเจ้านั้น เป็นประชาชาติที่ดียิ่งซึ่งถูกให้อุบัติขึ้นสำหรับมนุษย์ชาติ โดยที่พวกเจ้าใช้ให้ปฏิบัติสิ่งที่ชอบ และห้ามมิให้ปฏิบัติสิ่งที่มิชอบ และศรัทธาต่ออัลลอฮฺ” (สูเราะฮฺอาลิ อิมรอน : 110)
4. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ทรงรักพวกท่าน และพวกท่านก็รักพระองค์ [22] ดังที่พระองค์ได้ดำรัสว่า
﴿فَسَوۡفَ يَأۡتِي ٱللَّهُ بِقَوۡمٖ يُحِبُّهُمۡ وَيُحِبُّونَهُۥٓ ٥٤﴾ (المائدة : 54)
ความว่า “อัลลอฮฺ ก็จะทรงนำมาซึ่งพวกหนึ่ง ที่พระองค์ทรงรักพวกเขาและพวกเขาก็รักพระองค์” (สูเราะฮฺอัล-มาอิดะฮฺ : 54)
5. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ได้ให้คุณลักษณะพวกท่านว่าเป็นหมู่ชนแห่ง อีหม่าน(ศรัทธา) [23] ดังที่พระองค์ได้ดำรัสว่า
﴿وَٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَهَاجَرُواْ وَجَٰهَدُواْ فِي سَبِيلِ ٱللَّهِ وَٱلَّذِينَ ءَاوَواْ وَّنَصَرُوٓاْ أُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُؤۡمِنُونَ حَقّٗاۚ لَّهُم مَّغۡفِرَةٞ وَرِزۡقٞ كَرِيمٞ ٧٤﴾ (الأنفال : 74)
ความว่า “และบรรดาผู้ที่ศรัทธา และอพยพ และต่อสู้ในทางของอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ที่ให้ที่พักอาศัย และช่วยเหลือนั้น ชนเหล่านี้แหละพวกเขาคือผู้ศรัทธาโดยแท้จริง ซึ่งพวกเขาจะได้รับการอภัยโทษ และเครื่องยังชีพอันมากมาย ” (สูเราะฮฺอัล-อันฟาล : 74)
พระองค์ได้ดำรัสอีกว่า
﴿وَإِن يُرِيدُوٓاْ أَن يَخۡدَعُوكَ فَإِنَّ حَسۡبَكَ ٱللَّهُۚ هُوَ ٱلَّذِيٓ أَيَّدَكَ بِنَصۡرِهِۦ وَبِٱلۡمُؤۡمِنِينَ ٦٢﴾ (الأنفال : 62)
ความว่า “และถ้าหากพวกเขาต้องการที่จะหลอกลวงเจ้า ก็แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นที่พอเพียงแก่เจ้าแล้ว พระองค์คือผู้ทีได้ทรงสนับสนุนเจ้าด้วยการช่วยเหลือของพระองค์ และด้วยผู้ศรัทธาทั้งหลาย” (สูเราะฮฺอัล-อันฟาล : 62)
6. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ทรงพรรณนาถึงพวกท่านว่าเป็นผู้เมตตาสงสารระหว่างพวกท่านกันเอง เป็นผู้เข้มแข็งกล้าหาญต่อพวกปฏิเสธศรัทธา พระองค์ยังทรงพรรณนาถึงพวกท่านว่าเป็นหมู่ชนที่ได้รุกูอ์และสุญูดอย่างมากมาย พวกท่านมีหัวใจที่บริสุทธิ์ซึ่งใบหน้าของพวกท่านนั้นมีร่องรอยแห่งการเคารพภักดีและการมีศรัทธาปรากฏอยู่ และพระองค์ทรงคัดเลือกพวกท่านให้เป็นสาวกของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ทั้งนี้เพื่อก่อความโกรธแค้นแก่พวกปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย [24] ดังที่พระองค์ได้ดำรัสว่า
﴿مُّحَمَّدٞ رَّسُولُ ٱللَّهِۚ وَٱلَّذِينَ مَعَهُۥٓ أَشِدَّآءُ عَلَى ٱلۡكُفَّارِ رُحَمَآءُ بَيۡنَهُمۡۖ تَرَىٰهُمۡ رُكَّعٗا سُجَّدٗا يَبۡتَغُونَ فَضۡلٗا مِّنَ ٱللَّهِ وَرِضۡوَٰنٗاۖ سِيمَاهُمۡ فِي وُجُوهِهِم مِّنۡ أَثَرِ ٱلسُّجُودِۚ ذَٰلِكَ مَثَلُهُمۡ فِي ٱلتَّوۡرَىٰةِۚ وَمَثَلُهُمۡ فِي ٱلۡإِنجِيلِ كَزَرۡعٍ أَخۡرَجَ شَطَۡٔهُۥ فََٔازَرَهُۥ فَٱسۡتَغۡلَظَ فَٱسۡتَوَىٰ عَلَىٰ سُوقِهِۦ يُعۡجِبُ ٱلزُّرَّاعَ لِيَغِيظَ بِهِمُ ٱلۡكُفَّارَۗ وَعَدَ ٱللَّهُ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ مِنۡهُم مَّغۡفِرَةٗ وَأَجۡرًا عَظِيمَۢا ٢٩﴾ (الفتح : 29)
ความว่า “มุหัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ที่อยู่ร่วมกับเขา เป็นผู้เข้มแข็งกล้าหาญต่อพวกปฏิเสธศรัทธา เป็นผู้เมตตาสงสารระหว่างพวกเขาเอง เจ้าจะเห็นพวกเขาเป็นผู้รุกูอฺ ผู้สุญูด โดยแสวงหาคุณความดีจากอัลลอฮฺและความโปรดปราน (ของพระองค์) เครื่องหมายของพวกเขาอยู่บนใบหน้าของพวกเขาเนื่องจากร่องรอยแห่งการสุญูด นั่นคืออุปมาของพวกเขาที่มีอยู่ในอัต-เตารอต และอุปมาของพวกเขาที่มีอยู่ในอัล-อินญีล ประหนึ่งเมล็ดพืชที่งอกหน่อหรือกิ่งก้านของมันออกมาแล้วทำให้มันงอกงาม แล้วมันก็เติบโตแข็งแรงและทรงตัวอยู่ได้บนลำต้นของมัน นำความปลื้มปิติมาให้แก่ผู้หว่าน เพื่อที่พระองค์จะก่อความโกรธแค้นแก่พวกปฏิเสธศรัทธาเพราะพวกเขา (มุสลิมีน) และอัลลอฮฺทรงสัญญาแก่บรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลายในหมู่พวกเขาว่าจะได้รับการอภัยโทษและรางวัลอันใหญ่หลวง” (สูเราะฮฺอัล-ฟัตหฺ : 29)
7. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ทรงพรรณนาถึงพวกท่านที่เป็นชาวมุฮาญิรีนว่าเป็นกลุ่มชนที่ยอมอุทิศและเสียสละบ้านเกิดเมืองนอนและทรัพย์สินเงินทองของตนเอง ช่วยเหลือเชิดชูศาสนาของพระองค์ ทั้งนี้ก็เพื่อแสวงหาความโปรดปรานและผลตอบแทนจากอัลลอฮฺ และพระองค์ยังทรงพรรณนาถึงชาวอันศอรซี่งพวกเขาเป็นกลุ่มชนที่คอยช่วยเหลือและรักใคร่ชาวมุฮาญิรีนซึ่งเป็นพี่น้องร่วมศาสนาของพวกเขา [25] ดังที่พระองค์ได้ดำรัสว่า
﴿لِلۡفُقَرَآءِ ٱلۡمُهَٰجِرِينَ ٱلَّذِينَ أُخۡرِجُواْ مِن دِيَٰرِهِمۡ وَأَمۡوَٰلِهِمۡ يَبۡتَغُونَ فَضۡلٗا مِّنَ ٱللَّهِ وَرِضۡوَٰنٗا وَيَنصُرُونَ ٱللَّهَ وَرَسُولَهُۥٓۚ أُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلصَّٰدِقُونَ ٨ وَٱلَّذِينَ تَبَوَّءُو ٱلدَّارَ وَٱلۡإِيمَٰنَ مِن قَبۡلِهِمۡ يُحِبُّونَ مَنۡ هَاجَرَ إِلَيۡهِمۡ وَلَا يَجِدُونَ فِي صُدُورِهِمۡ حَاجَةٗ مِّمَّآ أُوتُواْ وَيُؤۡثِرُونَ عَلَىٰٓ أَنفُسِهِمۡ وَلَوۡ كَانَ بِهِمۡ خَصَاصَةٞۚ وَمَن يُوقَ شُحَّ نَفۡسِهِۦ فَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُفۡلِحُونَ ٩﴾ (الحشر : 8-9)
ความว่า “(สิ่งที่ยึดมาได้จากพวกยิวหรือสัมภาระ) เป็นของบรรดาผู้อพยพที่ขัดสนซึ่งถูกขับไล่ออกบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา และทอดทิ้งทรัพย์สินของพวกเขาเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ และความยินดีของพระองค์และช่วยเหลืออัลลอฮฺ และเราะสูลของพระองค์ ชนเหล่านั้นพวกเขาคือผู้สัตย์จริง และบรรดาผู้ที่ได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นครมะดีนะฮ.(ชาวอันศอร)และพวกเขาศรัทธาก่อนหน้าการอพยพของพวกเขา(ชาวมุฮาญิรีน)พวกเขารักใคร่ผู้ที่อพยพมายังพวกเขาและจะไม่พบความต้องการหรือความอิจฉาอยู่ในทรวงอกของพวกเขาในสิ่งที่ได้ถูกประทานให้และให้สิทธิผู้อื่นก่อนตัวของพวกเขาเองถึงแม้ว่าพวกเขายังมีความต้องการอยู่มากก็ตามและผู้ใดปกป้องการตระหนี่ที่อยู่ในตัวของเขาชนเหล่านั้นพวกเขาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ” (สูเราะฮฺอัล-หัชรฺ : 8-9)
พระองค์ได้ดำรัสอีกว่า
﴿إِنَّ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَهَاجَرُواْ وَجَٰهَدُواْ بِأَمۡوَٰلِهِمۡ وَأَنفُسِهِمۡ فِي سَبِيلِ ٱللَّهِ وَٱلَّذِينَ ءَاوَواْ وَّنَصَرُوٓاْ أُوْلَٰٓئِكَ بَعۡضُهُمۡ أَوۡلِيَآءُ بَعۡضٖۚ وَٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَلَمۡ يُهَاجِرُواْ مَا لَكُم مِّن وَلَٰيَتِهِم مِّن شَيۡءٍ حَتَّىٰ يُهَاجِرُواْۚ وَإِنِ ٱسۡتَنصَرُوكُمۡ فِي ٱلدِّينِ فَعَلَيۡكُمُ ٱلنَّصۡرُ إِلَّا عَلَىٰ قَوۡمِۢ بَيۡنَكُمۡ وَبَيۡنَهُم مِّيثَٰقٞۗ وَٱللَّهُ بِمَا تَعۡمَلُونَ بَصِيرٞ ٧٢ وَٱلَّذِينَ كَفَرُواْ بَعۡضُهُمۡ أَوۡلِيَآءُ بَعۡضٍۚ إِلَّا تَفۡعَلُوهُ تَكُن فِتۡنَةٞ فِي ٱلۡأَرۡضِ وَفَسَادٞ كَبِيرٞ ٧٣ وَٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَهَاجَرُواْ وَجَٰهَدُواْ فِي سَبِيلِ ٱللَّهِ وَٱلَّذِينَ ءَاوَواْ وَّنَصَرُوٓاْ أُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُؤۡمِنُونَ حَقّٗاۚ لَّهُم مَّغۡفِرَةٞ وَرِزۡقٞ كَرِيمٞ ٧٤﴾ (الأنفال : 72-74)
ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธา และอพยพและต่อสู้ทั้งด้วยทรัพย์สมบัติของพวกเขา และชีวิตของพวกเขาในทางของอัลลอฮฺ และบรรดา ผู้ที่ให้พักอาศัย และช่วยเหลือนั้น ชนเหล่านี้แหละคือบางส่วนของพวกเขาย่อมเป็นผู้ช่วยเหลืออีกบางส่วน และบรรดาผู้ที่ศรัทธา และมิได้อพยพนั้นก็ไม่เป็นหน้าที่แก่พวกเจ้าแต่อย่างใดในการช่วยเหลือพวกเขา จนกว่าพวกเขาจะอพยพ และถ้าหากเขาขอให้พวกเจ้าช่วยเหลือในเรื่องศาสนา ก็จำเป็นแก่พวกเจ้าซึ่งการช่วยเหลือนั้น นอกจากในการต่อต้าน พวกที่ระหว่างพวกเจ้ากับพวกเขามีสัญญากันอยู่ และอัลลอฮฺนั้นทรงเห็นในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน และบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้น บางส่วนของพวกเขาย่อมเป็นผู้ช่วยเหลืออีกบางส่วน หากพวกเจ้าไม่ปฏิบัติในสิ่งนั้น แล้ว ความวุ้นวายและความเสียหายอันใหญ่หลวง ก็จะเกิดขึ้นในแผ่นดิน และบรรดาผู้ที่ศรัทธา และอพยพ และต่อสู้ในทางของอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ที่ให้ที่พักอาศัย และช่วยเหลือนั้น ชนเหล่านี้แหละพวกเขาคือผู้ศรัทธาโดยแท้จริง ซึ่งพวกเขาจะได้รับการอภัยโทษ และเครื่องยังชีพอันมากมาย” (สูเราะฮฺอัล-อันฟาล : 72-74)
8. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ทรงอภัยโทษและเมตตาให้แก่พวกท่านทั้งหลายแล้ว [26] ดังที่พระองค์ได้ดำรัสว่า
﴿لَّقَد تَّابَ ٱللَّهُ عَلَى ٱلنَّبِيِّ وَٱلۡمُهَٰجِرِينَ وَٱلۡأَنصَارِ ٱلَّذِينَ ٱتَّبَعُوهُ فِي سَاعَةِ ٱلۡعُسۡرَةِ مِنۢ بَعۡدِ مَا كَادَ يَزِيغُ قُلُوبُ فَرِيقٖ مِّنۡهُمۡ ثُمَّ تَابَ عَلَيۡهِمۡۚ إِنَّهُۥ بِهِمۡ رَءُوفٞ رَّحِيمٞ ١١٧﴾ (التوبة : 117)
ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺทรงอภัยโทษให้แก่ท่านนบี ชาวมุฮาญิรีน และชาวอันศอรแล้ว ซึ่งเขาเหล่านั้นได้ปฏิบัติตามเขา (นบี)ในยามคับขันหลังจากที่จิตใจของชนกลุ่มหนึ่งในพวกเขา เกือบจะหันเหออกจากความจริง แล้วพระองค์ก็ทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขา แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงกรุณาอยู่เสมอ” (สูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺ : 117)
9. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ทรงสัญญาต่อพวกท่านว่า พระองค์จะทรงให้พวกท่านเป็นตัวแทนสืบช่วในแผ่นดิน ดังที่พระองค์ทรงให้บรรดาชนรุ่นก่อนๆ และทรงให้ศาสนาที่พวกเขาศรัทธานั้นเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ ทั้งยังเป็นที่มั่นคงและเป็นเกียรติแก่พวกเขา [27] ดังที่พระองค์ได้ดำรัสว่า
﴿وَعَدَ ٱللَّهُ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ مِنكُمۡ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ لَيَسۡتَخۡلِفَنَّهُمۡ فِي ٱلۡأَرۡضِ كَمَا ٱسۡتَخۡلَفَ ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِهِمۡ وَلَيُمَكِّنَنَّ لَهُمۡ دِينَهُمُ ٱلَّذِي ٱرۡتَضَىٰ لَهُمۡ وَلَيُبَدِّلَنَّهُم مِّنۢ بَعۡدِ خَوۡفِهِمۡ أَمۡنٗاۚ يَعۡبُدُونَنِي لَا يُشۡرِكُونَ بِي شَيۡٔٗاۚ وَمَن كَفَرَ بَعۡدَ ذَٰلِكَ فَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡفَٰسِقُونَ ٥٥﴾ (النور : 55)
ความว่า “อัลลอฮฺทรงสัญญากับบรรดาผู้ศรัทธาในหมู่พวกเจ้า และบรรดาผู้กระทำความดีทั้งหลายว่า แน่นอนพระองค์จะทรงให้พวกเขาเป็นตัวแทนสืบช่วงในแผ่นดิน เสมือนดังที่พระองค์ทรงให้บรรดาชนก่อนพวกเขา เป็นตัวแทนสืบช่วงมาก่อนแล้ว และพระองค์จะทรงทำให้ศาสนาของพวกเขาซึ่งพระองค์ทรงโปรดปราน เป็นที่มั่นคงเป็นเกียรติแก่พวกเขา และแน่นอนพระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงให้พวกเขาได้รับความปลอดภัย หลังจากความกลัวของพวกเขา โดยที่พวกเขาจะต้องเคารพภักดีข้าไม่ตั้งภาคีอื่นใดต่อข้า และผู้ใดปฏิเสธศรัทธาหลังจากนั้น ชนเหล่านั้นพวกเขาคือผู้ฝ่าฝืน” (สูเราะฮฺอัน-นูร : 55)
10. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ทรงให้พวกท่านเป็นผู้แทนและผู้ช่วยเหลือของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในการสืบทอดคำสอนของศาสนาอิสลาม และพระองค์ได้ทรงพรรณนาถึงพวกท่านอีกว่าเป็นผู้ที่รุดหน้าในการทำความดี พร้อมทั้งได้สัญญาต่อพวกท่านถึงรางวัลที่ได้จะได้รับ นั่นคือสวนสวรรค์ซึ่งเป็นสถานที่พำนักอันสถาพร เนื่องด้วยความโปรดปรานของพระองค์ที่มีต่อพวกท่านทั้งหลาย [28] ดังที่พระองค์ได้ดำรัสว่า
﴿قُلِ ٱلۡحَمۡدُ لِلَّهِ وَسَلَٰمٌ عَلَىٰ عِبَادِهِ ٱلَّذِينَ ٱصۡطَفَىٰٓۗ ءَآللَّهُ خَيۡرٌ أَمَّا يُشۡرِكُونَ ٥٩﴾ (النمل : 59)
ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) บรรดาการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ และความศานติจงมีแด่ปวงบ่าวของพระองค์ ผู้ซึ่งพระองค์ทรงคัดเลือกแล้ว” (สูเราะฮฺอัน-นัมลฺ : 59)
พระองค์ได้ดำรัสอีกว่า
﴿ثُمَّ أَوۡرَثۡنَا ٱلۡكِتَٰبَ ٱلَّذِينَ ٱصۡطَفَيۡنَا مِنۡ عِبَادِنَاۖ فَمِنۡهُمۡ ظَالِمٞ لِّنَفۡسِهِۦ وَمِنۡهُم مُّقۡتَصِدٞ وَمِنۡهُمۡ سَابِقُۢ بِٱلۡخَيۡرَٰتِ بِإِذۡنِ ٱللَّهِۚ ذَٰلِكَ هُوَ ٱلۡفَضۡلُ ٱلۡكَبِيرُ ٣٢ جَنَّٰتُ عَدۡنٖ يَدۡخُلُونَهَا يُحَلَّوۡنَ فِيهَا مِنۡ أَسَاوِرَ مِن ذَهَبٖ وَلُؤۡلُؤٗاۖ وَلِبَاسُهُمۡ فِيهَا حَرِيرٞ ٣٣ وَقَالُواْ ٱلۡحَمۡدُ لِلَّهِ ٱلَّذِيٓ أَذۡهَبَ عَنَّا ٱلۡحَزَنَۖ إِنَّ رَبَّنَا لَغَفُورٞ شَكُورٌ ٣٤ ٱلَّذِيٓ أَحَلَّنَا دَارَ ٱلۡمُقَامَةِ مِن فَضۡلِهِۦ لَا يَمَسُّنَا فِيهَا نَصَبٞ وَلَا يَمَسُّنَا فِيهَا لُغُوبٞ ٣٥﴾ (فاطر : 32-35)
ความว่า “และเราได้ให้คัมภีร์ เป็นมรดกสืบทอดมา แก่บรรดาผู้ที่เราคัดเลือกแล้วจากปวงบ่าวของเรา บางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้อธรรมแก่ตัวเอง และบางคนในหมู่พวกเป็นผู้เดินสายกลางและบางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้รุดหน้าในการทำความดีทั้งหลาย ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ นั่นคือความโปรดปรานอันใหญ่หลวง สวนสวรรค์หลากหลายเป็นที่พำนักอันสถาพร พวกเขาจะเข้าไปอยู่ในนั้น ในสวนสวรรค์พวกเขาจะได้ประดับด้วยกำไลทองและไข่มุก และอาภรณ์ของพวกเขาในนั้นคือผ้าไหม และพวกเขากล่าวว่า "บรรดาการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์ทรงขจัดความระทมทุกข์ออกจากเรา แท้จริงพระเจ้าของเราเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงชื่นชม (ต่อผู้จงรักภักดีต่อพระองค์) ซึ่งพระองค์ทรงให้เราได้พำนักในสถานที่พำนักอันสถาพร ด้วยความโปรดปรานของพระองค์ ความเหน็ดเหนื่อยจะไม่ประสบแก่เราในนั้น และความเบื่อหน่าย ก็จะไม่ประสบแก่เราในนั้น” (สูเราะฮฺฟาฏิร : 32-35)
11. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ทรงพรรณนาถึงพวกท่านว่าเป็นผู้ที่พร้อมที่จะน้อมรับในสัจธรรมที่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้นำมา [29] ดังที่พระองค์ได้ดำรัสว่า
﴿وَٱلَّذِي جَآءَ بِٱلصِّدۡقِ وَصَدَّقَ بِهِۦٓ أُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُتَّقُونَ ٣٣ لَهُم مَّا يَشَآءُونَ عِندَ رَبِّهِمۡۚ ذَٰلِكَ جَزَآءُ ٱلۡمُحۡسِنِينَ ٣٤ لِيُكَفِّرَ ٱللَّهُ عَنۡهُمۡ أَسۡوَأَ ٱلَّذِي عَمِلُواْ وَيَجۡزِيَهُمۡ أَجۡرَهُم بِأَحۡسَنِ ٱلَّذِي كَانُواْ يَعۡمَلُونَ ٣٥﴾ (الزمر : 33-35)
ความว่า “ส่วนผู้ที่นำความจริงมา และเขาได้เชื่อมั่นความจริงนั้น ชนเหล่านี้ พวกเขาคือบรรดาผู้ยำเกรง นั่นคือการตอบแทนของบรรดาผู้กระทำความดี เพื่อที่อัลลอฮฺจะทรงลบล้างความชั่วที่พวกเขากระทำไว้ออกจากพวกเขา และจะทรงตอบแทนรางวัลของพวกเขาแก่พวกเขาด้วยสิ่งที่ดียิ่งตามที่พวกเขาได้กระทำไว้” (สูเราะฮฺอัซ-ซุมัร : 33-35)
12. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ทรงให้การศรัทธานั้นเป็นที่รักแก่พวกท่าน และทรงให้การปฏิเสธศรัทธาและความชั่วช้าและการฝ่าฝืนนั้นเป็นที่น่าเกลียดชังแก่พวกท่าน [30] ดังที่พระองค์ได้ดำรัสว่า
﴿وَٱعۡلَمُوٓاْ أَنَّ فِيكُمۡ رَسُولَ ٱللَّهِۚ لَوۡ يُطِيعُكُمۡ فِي كَثِيرٖ مِّنَ ٱلۡأَمۡرِ لَعَنِتُّمۡ وَلَٰكِنَّ ٱللَّهَ حَبَّبَ إِلَيۡكُمُ ٱلۡإِيمَٰنَ وَزَيَّنَهُۥ فِي قُلُوبِكُمۡ وَكَرَّهَ إِلَيۡكُمُ ٱلۡكُفۡرَ وَٱلۡفُسُوقَ وَٱلۡعِصۡيَانَۚ أُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلرَّٰشِدُونَ ٧﴾ (الحجرات : 7)
ความว่า “และพวกเจ้าพึงรู้เถิดว่า ในหมู่พวกเจ้านั้นมีเราะสูลของอัลลอฮฺอยู่ หากเขา(มุหัมมัด) เชื่อฟังพวกเจ้าในส่วนใหญ่ของกิจการแล้ว แน่นอนพวกเจ้าก็จะลำบากกัน แต่อัลลอฮฺทรงให้การศรัทธาเป็นที่รักแก่พวกเจ้า และทรงให้การปฏิเสธศรัทธา และความชั่วช้าและการฝ่าฝืนเป็นที่น่าเกลียดชังแก่พวกเจ้า ชนเหล่านั้นคือพวกที่ดำเนินอยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง” (สูเราะฮฺอัล-หุญุรอต : 7)
13. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ให้การรักพวกท่านนั้นเป็นเครื่องหมายของการศรัทธา และการเกลียดชังพวกท่านนั้นเป็นเครื่องหมายของการกลับกลอก ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«آيَةُ الإيْـمَانِ حُبُّ الأَنْصَارِ وآيَةُ النِّفَاقِ بُـغْضُ الأَنْصَارِ» (البخاري برقم 17، ومسلم برقم 74)
ความว่า “เครื่องหมายของการศรัทธาคือการรักชาวอันศอร และเครื่องหมายของการกลับกลอกคือการเกลียดชังชาวอันศอร” [31]
ท่านได้กล่าวอีกว่า
«الأَنْصَارُ لاَ يُحِبُّهُمْ إِلَّا مُؤْمِنٌ وَلاَ يُبْغِضُهُمْ إِلاَّ مُنَافِقٌ» (البخاري برقم 3784، ومسلم برقم 75)
ความว่า “ชาวอันศอรไม่มีผู้ใดรักพวกเขานอกจากเป็นผู้ศรัทธา และไม่มีผู้ใดเกลียดชังพวกเขานอกจากเป็นผู้กลับกลอก” [32]
14. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ยืนยันว่าพวกท่านเป็นประชาชาติที่ดีและประเสริฐยิ่ง ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«خَيْرُ النَّاسِ قَرْنِي ثُمَّ الَّذِينَ يَلُونَهُمْ ثُمَّ الَّذِينَ يَلُونَهُمْ... » (البخاري برقم 3651، ومسلم برقم 2533)
ความว่า “มนุษย์ชาติที่ดียิ่งคือผู้ที่อยู่ในสมัยของฉัน แล้วบรรดาที่ตามถัดจากพวกเขา แล้วบรรดาที่ตามถัดจากพวกเขา...” [33]
15. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ห้ามการด่าทอพวกท่าน ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«لَا تَسُبُّوا أَصْحَابِي لَا تَسُبُّوا أَصْحَابِي فَوَالَّذِي نَفْسِي بِيَدِهِ لَوْ أَنَّ أَحَدَكُمْ أَنْفَقَ مِثْلَ أُحُدٍ ذَهَبًا مَا أَدْرَكَ مُدَّ أَحَدِهِمْ وَلَا نَصِيفَهُ» (البخاري برقم 3673، ومسلم برقم 2540)
ความว่า “พวกท่านอย่าด่าทอบรรดาสาวกของฉัน , พวกท่านอย่าด่าทอบรรดาสาวกของฉัน, ขอสาบานด้วยผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ หากคนใดในหมู่พวกท่านบริจาคทองคำเท่ากับภูเขาอุหุด ก็ไม่เท่ากับหนึ่งมุด(การตวงโดยใช้สองมือตัก)ของคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเขา และแม้แต่เพียงครึ่งมุด(ก็ไม่เท่า)” [34]
16. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้แจ้งข่าวว่า ชัยชนะและการพิชิตดินแดนต่างๆนั้นจะเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของพวกท่านและบรรดาผู้ที่เจริญรอยตามท่าน ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«يَأْتِي عَلَى النَّاسِ زَمَانٌ فَيَغْزُو فِئَامٌ مِنْ النَّاسِ فَيَقُولُونَ فِيكُمْ مَنْ صَاحَبَ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَيَقُولُونَ نَعَمْ فَيُفْتَحُ لَهُمْ ثُمَّ يَأْتِي عَلَى النَّاسِ زَمَانٌ فَيَغْزُو فِئَامٌ مِنْ النَّاسِ فَيُقَالُ هَلْ فِيكُمْ مَنْ صَاحَبَ أَصْحَابَ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَيَقُولُونَ نَعَمْ فَيُفْتَحُ لَهُمْ ثُمَّ يَأْتِي عَلَى النَّاسِ زَمَانٌ فَيَغْزُو فِئَامٌ مِنْ النَّاسِ فَيُقَالُ هَلْ فِيكُمْ مَنْ صَاحَبَ مَنْ صَاحَبَ أَصْحَابَ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَيَقُولُونَ نَعَمْ فَيُفْتَحُ لَهُمْ» (البخاري برقم 3649، ومسلم برقم 2533)
ความว่า “จะมีสมัยหนึ่งเกิดขึ้น ที่ชนหมู่หนึ่งแห่งผู้คนทั้งหลายจะออกศึก แล้วจะถูกถามว่า : ในหมู่พวกท่านนั้นมีเศาะหาบะฮฺของเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม อยู่ด้วยหรือเปล่า? พวกเขาจะตอบว่า : มี แล้วเมืองนั้นก็จะถูกพิชิตโดยพวกเขาเหล่านั้น หลังจากนั้น ก็จะมาถึงสมัยหนึ่งซึ่งมีคนกลุ่มหนึ่งออกทำศึกสงคราม จะมีเสียงถามว่า : ในพวกท่านนั้นมีสหายของบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม อยู่ด้วยหรือเปล่า? พวกเขาตอบว่า : มี แล้วเมืองนั้นก็จะถูกพิชิตโดยพวกเขาเหล่านั้น หลังจากนั้น ก็จะมาถึงสมัยหนึ่งซึ่งคนกลุ่มหนึ่งออกทำศึกสงคราม ก็มีเสียงถามว่า : ในพวกท่านนั้นมีสหายของสหายของเศาะหาบะฮฺของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมอยู่บ้างไหม? พวกเขากล่าวว่า : มี แล้วเมืองนั้นก็ถูกพิชิตโดยพวกเขาเหล่านั้น” [35]
17. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะท่านนบีได้กล่าวถึงพวกท่านว่า
«لَوْلا الهِجْرَةُ لَكُنْتُ امْرَءاً مِنَ الأْنصَارِ وَلَوْ سَلَكَ النَّاسُ وَادِياً وَسَلَكَتِ الأَنْصَارُ وَادِياً أَوْ شِعْباً لَسَلَكْتُ وَادِي الأَنْصَارِ أَوْ شِعْبَ الأَنْصَارِ » (البخاري برقم 7244، ومسلم برقم 1059)
ความว่า “หากไม่มีการอพยพ แน่นอนฉันอาจจะเป็นคนหนึ่งในหมู่ชาวอันศอรฺ หากว่าผู้คนมุ่งที่จะไปที่หุบเขาหนึ่ง แต่ชาวอันศอรฺมุ่งไปที่อีกหุบเขาหนึ่ง แน่นอนฉันก็จะมุ่งตรงไปที่หุบเขาของชาวอันศอรฺ” [36]
18. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะพวกท่านอับดุลลอฮฺ บินอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวถึงพวกท่านว่า “ผู้ใดที่ต้องการทำตามแบบอย่างที่ดี เขาก็จงทำตามแบบอย่างที่ดีของผู้ที่ได้ตายไปแล้วเถิด พวกเขาเหล่านั้นคือเศาะหาบะฮฺของท่านนบีมุหัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม พวกเขาเป็นประชาชาติที่ดีที่สุด เป็นผู้ที่หัวใจที่บริสุทธิ์ที่สุด มีความรู้อย่างลึกซึ้งที่สุด และเป็นผู้มีความลำบากน้อยที่สุดในการนับถือหรือปฏิบัติคำสั่งใช้ของศาสนา เป็นกลุ่มชนที่อัลลอฮฺได้ทรงเลือกให้เป็นสาวกของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และทำการสืบทอดศาสนาของพระองค์ ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงเจริญรอยตามความประพฤติอันดีงามของพวกเขาเถิด พวกเขาคือบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบีมุหัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งเขาเหล่านั้นดำรงอยู่บนทางนำที่เที่ยงธรรม” [37]
19. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะท่านอับดุลอฮฺ บินมัสอูดได้กล่าวถึงพวกท่านว่า “แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงมองดูหัวใจของปวงบ่าว ซึ่งพบว่าหัวใจของมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นหัวใจที่ดีเลิศที่สุดจากปวงบ่าวทั้งหลาย แล้วพระองค์ทรงเลือกท่านด้วยพระองค์เอง แล้วทรงแต่งตั้งให้ท่านประกาศศาสนา หลังจากนั้นก็ทรงมองดูหัวใจของมนุษย์คนอื่นๆ นอกจากหัวใจของมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมแล้ว ก็พบว่าหัวใจของบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี เป็นหัวใจที่ดีเลิศที่สุดจากปวงบ่างทั้งหลาย แล้วพระองค์ก็ทรงให้พวกเขาเป็นผู้ช่วยเหลือนบีของพระองค์ เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ต่อสู้ดิ้นร้นในกิจการต่างๆของศาสนาพระองค์ ดังนั้นสิ่งที่บรรดาผู้ศรัทธาเห็นว่าดี มันก็เป็นสิ่งดี ณ ที่อัลลอฮฺ และสิ่งที่บรรดาผู้ศรัทธาเห็นว่าน่าเกลียด มันก็เป็นความน่าเกลียด ณ ที่อัลลอฮฺ” [38]
20. เรารักเศาะหาบะฮฺ ก็เพราะพวกท่านอิบนุกะษีร เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวถึงพวกท่านว่า “เศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม เป็นกลุ่มชนที่มีเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ มีการงานที่ดีเยี่ยม ซึ่งทุกคนที่มองไปยังพวกท่านก็จะมีความแปลกใจในหนทางแห่งการย่างก้าวและทางนำของพวกท่าน” [39]
ระดับความประเสริฐของบรรดาเศาะหาบะฮฺ
แท้จริงแล้วบรรดาเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม มิได้มีระดับความประเสริฐที่เท่าเทียมกัน ทว่า ในแต่ละท่านนั้นจะมีระดับความประเสริฐเนื่องด้วยการเข้ารับอิสลามก่อนอีกคน หรือเพราะการอพยพของท่านไปยังอีกดินแดนหนึ่งเพื่อรักษาความศรัทธาที่มีต่ออิสลาม และเป็นเพราะการเข้าร่วมในสงครามหรือเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆเช่นการให้สัตยาบันต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งบรรดานักวิชาการได้จัดระดับความประเสริฐของบรรดาเศาะหาบะฮฺมากถึง 12 ระดับ [40] ดังนี้
1. กลุ่มคนที่เข้ารับอิสลามที่เมืองมักกะฮฺ เช่นท่านอบีบักร์ ท่านอุมัร ท่านอุษมาน ท่านอะลี และท่านอื่นๆ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม
2. ชาวดารุน-นัดวะฮฺ
3. ผู้ที่อพยพไปยังอัล-หะบะชะฮฺหรือเอธิโอเปียในปัจจุบัน
4. กลุ่มคนที่ให้สัตยาบันอัล-อะเกาะบะฮฺครั้งที่ 1 กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม
5. กลุ่มคนที่ให้สัตยาบันอัล-อะเกาะบะฮฺครั้งที่ 2 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอันศอร
6. กลุ่มคนแรกจากชาวมุฮาญิรีนที่ได้ไปยังท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ณ กุบาอ์ ซึ่งพวกท่านได้สร้างมัสญิดขึ้นที่นั่น
7. กลุ่มคนที่เข้าร่วมสงครามบะดัร
8. ผู้ที่อพยพในช่วงระหว่างสงครามบะดัรและสงครามอัล-หุดัยบียะฮฺ
9. กลุ่มคนที่ให้สัตยาบันอัร-ริฎวาน(บัยอะตุรริฎวาน)
10. ผู้ที่อพยพในช่วงระหว่างสงครามอัล-หุดัยบียะฮฺและการพิชิตเมืองมักกะฮฺ เช่นท่านคอลิด บินอัล-วะลีด ท่านอัมรฺ บินอัล-อาศ ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ และท่านอื่นๆ
11. กลุ่มคนที่เข้ารับอิสลามในวันแห่งการพิชิตเมืองมักกะฮฺ ซึ่งพวกเขาเป็นกลุ่มคนจากชาวกุรอยชฺ
12. บรรดาเด็กๆที่พบเห็นท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในวันแห่งการพิชิตเมืองมักกะฮฺ ในช่วงประกอบพิธีหัจญ์อำลา(หัจญะตุลวิดาอ์) และในช่วงอื่นๆ ที่ถูกถือว่าเป็นเศาะหาบะฮฺ เช่นท่านอัส-สาอิบ บินยะซีด ท่านอับดุลลอฮฺ บินษะอฺละบะฮฺ บินอบีเศาะอีรฺ ซึ่งท่านทั้งสองได้เดินไปหาท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และท่านนบีก็ได้ขอดุอาอ์ให้แก่ท่านทั้งสอง เช่นเดียวกันท่านอบูอัฏ-ฏุฟัยลฺ อามิร บินวาษิละฮฺ ท่านอบูญะฮีฟะฮฺ วะฮับ บินอับดุลลอฮฺ ก็เป็นผู้ที่เห็นท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ช่วงที่ท่านเฏาะวาฟและตอนที่ท่านอยู่ที่บ่อน้ำซัมซัม
ข้างต้นนี้คือ ระดับความประเสริฐของบรรดาเศาะหาบะฮฺที่นักวิชาการด้านหะดีษและนักวิชาการท่านอื่นๆได้ระบุไว้ แต่ท่านอัล-อัลลามะฮฺ มุหัมมัด บินสะอัด ได้จัดระดับความประเสริฐของบรรดาเศาะหาบะฮฺไว้ 5 ระดับ [41] ด้วยกันดังนี้
1. กลุ่มชนที่เข้าร่วมสงครามบะดัร
2. กลุ่มชนที่เข้ารับอิสลามในช่วงแรกๆของการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ซึ่งบางส่วนจากพวกเขาได้อพยพไปยังอัล-หะบะชะฮฺหรือเอธิโอเปียในปัจจุบัน และผู้ที่รับอิสลามหลังจากนั้น
3. ผู้ที่เข้าร่วมสงครามอัล-ค็อนดัก(สงครามสนามเพลาะ) และผู้ที่รับอิสลามหลังจากนั้น
4. ผู้ที่เข้ารับอิสลามในช่วงของการพิชิตเมืองมักกะฮฺ และผู้ที่รับอิสลามหลังจากนั้น
5. บรรดาเด็กๆที่ไม่ได้เข้าร่วมในสงคราม
“ห้าม” ด่าทอและใส่ไคล้บรรดาเศาะหาบะฮฺ
อัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ทรงคัดเลือกท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ให้เป็นศาสนทูตของพระองค์ และทรงคัดเลือกให้แก่ท่านซึ่งสาวกที่ดีเลิศที่สุด โดยที่พระองค์ทรงยกย่อง เทิดเกียรติต่อพวกท่านในคัมภีร์อันทรงเกียรติอย่างมากมาย ใช่แต่เท่านั้นพระองค์ยังทรงเชิดชูและพรรณนาถึงความประเสริฐของพวกท่านว่าเป็นประชาชาติที่ดีเลิศยิ่งเหนือประชาชาติทั้งหลาย –เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม-
เช่นเดียวกัน ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็ได้ยกย่อง เชิดชูพวกท่าน พร้อมทั้งแจ้งข่าวแก่พวกท่านถึงความประเสริฐที่พวกท่านได้รับอย่างมากมาย ท่านนบียังได้ยืนยันอีกว่าพวกท่านนั้นเป็นกลุ่มชนที่เลิศที่สุดของประชาชาตินี้ พร้อมทั้งสั่งใช้ให้ผู้ศรัทธาทั้งหลายรักใคร่พวกท่าน และได้ห้ามการเกลียดชังพวกท่าน ด่าทอพวกท่าน หรือเหยียดหยามพวกท่านไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«لَا تَسُبُّوا أَصْحَابِي لَا تَسُبُّوا أَصْحَابِي فَوَالَّذِي نَفْسِي بِيَدِهِ لَوْ أَنَّ أَحَدَكُمْ أَنْفَقَ مِثْلَ أُحُدٍ ذَهَبًا مَا أَدْرَكَ مُدَّ أَحَدِهِمْ وَلَا نَصِيفَهُ» (البخاري برقم 3673، ومسلم 2540)
ความว่า “พวกท่านอย่าด่าว่า บรรดาสาวกของฉัน , พวกท่านอย่าด่าว่า บรรดาสาวกของฉัน, ขอสาบานด้วยผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ หากคนใดในหมู่พวกท่านบริจาคทองคำเท่ากับภูเขาอุหุด ก็ไม่เท่ากับหนึ่งมุดด์(การตวงโดยใช้สองมือตัก)ของคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเขา และแม้แต่เพียงครึ่งมุดด์(ก็ไม่เท่า)” [42]
ท่านนบีได้กล่าวอีกว่า
«لاَ يَرْمِي رَجُلٌ رَجُلاً بِالفُسُوْقِ وَلاَ يَرْمِيْهِ بِالكُفْرِ اِلاَّ ارْتَدَّتْ عَليْهِ اِنْ لَمْ يَكُنْ صَاحِبُهُ كَذَلِكَ» (البخاري برقم 5585)
ความว่า “ผู้ใดก็ตามจะไม่ใส่ร้ายผู้อื่นด้วยข้อหาว่าชั่ว และจะไม่ใส่ร้ายผู้อื่นด้วยข้อหากาฟิรนอกจากผู้กล่าวหาจะตกศาสนาเอง หากผู้ถูกกล่าวหามิได้เป็นเช่นนั้น” [43]
ท่านได้กล่าวอีกว่า
«مَنْ سَبَّ أَصْحَابِيْ فَعَلَيْهِ لَعْنَةُ الله وَالمَلاَئِكَةِ وَالنَّاسِ أَجْمَعِيْن» (صحيح الجامع للألباني برقم 299)
ความว่า “ผู้ใดที่ด่าทอสาวกของฉัน ดังนั้นการสาปแช่งของอัลลอฮฺ บรรดามลาอิกะฮฺ และผู้คนทั้งหลายจะตกอยู่บนผู้นั้น” [44]
ด้วยเหตุนี้ ไม่มีข้อสงสัยใดๆอีกว่า มันคือความหลงผิดอันใหญ่หลวงเลยทีเดียว กับการที่บุคคลหนึ่งหมกมุ่นอยู่กับการใส่ร้ายป้ายสี ใส่ไคล้ ด่าทอ บรรดาผู้ที่ดีเลิศกว่าเขานั้นคือ “เศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม” ซึ่งพวกท่านนับว่าเป็นกลุ่มชนและมนุษย์ที่ดีเลิศที่สุด ดังนั้นการใส่ร้ายป้ายสี การสร้างความเกลียดชังหรือมีความเคียดแค้นกับเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม นั้นย่อมเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าการศรัทธาของเขาที่มีต่อคำสอนของศาสนาอิสลามนั้นต้องกลับไปทบทวนใหม่อีกครั้ง ดังที่ท่านอบูซุรอะฮฺ อัร-รอซีย์ ได้กล่าวว่า “ถ้าพวกท่านเห็นชายคนหนึ่งกำลังวิพากษ์วิจารณ์เศาะหาบะฮฺคนหนึ่งของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ฉะนั้นจงรู้ไว้เถิดว่าเขาคือผู้ปฏิเสธศรัทธา…” [45]
“เศาะหาบะฮฺ” พวกท่านมีคุณงามความดีอย่างมากมาย พวกท่านเป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือ เชิดชู และดำรงให้อิสลามสูงส่งพร้อมทั้งเผยแพร่ความศรัทธาให้แก่ประชาคมโลก พวกท่านคือผู้ที่ได้ปฏิบัติภารกิจในการนำอัลกุรอาน อัส-สุนนะฮฺ และคำสอนต่างๆ พวกท่านยอมเสียสละและทุ่มเทตัวของท่าน เลือดเนื้อและทรัพย์สินของพวกท่านเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา เพราะฉะนั้นการด่าทอ ใส่ไคล้หรือเกลียดชังพวกท่าน ถือเป็นความผิดที่ใหญ่หลวงและถือได้ว่าคนที่กระทำเช่นนั้นเป็นคนกลับกลอกที่ไม่ได้รักใคร่หรือเลื่อมใส่ศรัทธาในอิสลามแม้แต่อย่างใด ดังที่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า
«الأَنْصَارُ لاَ يُحِبُّهُمْ إِلَّا مُؤْمِنٌ وَلاَ يُبْغِضُهُمْ إِلاَّ مُنَافِقٌ» (البخاري برقم 3784، ومسلم برقم 75)
ความว่า “ชาวอันศอรไม่มีผู้ใดรักพวกเขานอกจากเป็นผู้ศรัทธา และไม่มีผู้ใดเกลียดชังพวกเขานอกจากเป็นผู้กลับกลอก” [46]
ท่านได้กล่าวอีกว่า
«لاَ يُبْغِضُ الأَنْصَار رَجُلٌ يُؤْمِنُ بِاللهِ وَاليَوْمِ الآخِر» (مسلم 1/86)
ความว่า “ไม่มีการเกลียดชังชาวอันศอรของชายคนหนึ่งที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและต่อวันอาคีเราะฮฺอย่างแน่นอน” [47]
สุดท้ายนี้...พึงทราบเถิด ผู้ใดก็ตามที่พยายามใส่ไคล้ หรือเกลียดชังบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม โดยที่จริงแล้วผู้นั้นได้ทำการโจมตีและใส่ไคล้ อัลกุรอานและอัส-สุนนะฮฺของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เสียมากกว่า ซึ่งอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลาได้กล่าวว่า
﴿إِنَّ ٱلَّذِينَ يُؤۡذُونَ ٱللَّهَ وَرَسُولَهُۥ لَعَنَهُمُ ٱللَّهُ فِي ٱلدُّنۡيَا وَٱلۡأٓخِرَةِ وَأَعَدَّ لَهُمۡ عَذَابٗا مُّهِينٗا ٥٧﴾ (الأحزاب : 57)
ความว่า “แท้จริง บรรดาผู้กล่าวร้ายแก่อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ อัลลอฮฺทรงสาปแช่งพวกเขาทั้งในโลกนี้และปรโลก และทรงเตรียมการลงโทษอันอัปยศไว้สำหรับพวกเขา” (สูเราะฮฺอัล-อัหฺซาบ : 57)
จุดยืนของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ต่อเหตุการณ์ความขัดแย้งและสงครามระหว่างบรรดาเศาะหาบะฮฺ
แม้นว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งและสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม จะมีความรุนแรงและเกิดความสูญเสียมากเพียงใด แต่สำหรับชาวอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺนั้นพวกเขามีความเชื่อมั่นว่าผู้ใดที่ได้สร้างความเป็นศัตรู ความเกลียดชัง และโกรธแค้นต่อผู้หนึ่งผู้ใดจากทั้งสองฝ่ายแล้วไซร้ เขาผู้นั้นต้องแบกรับบาปที่ใหญ่หลวงอย่างแน่นอน ใช่แต่เท่านั้น เป็นข้อบังคับสำหรับชาวอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺด้วยซ้ำ ที่ให้ผู้ศรัทธาทั้งหลายนั้นรักใคร่ต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งหลาย พึงพอใจต่อพวกท่าน ให้ความเมตตาสารต่อพวกท่าน และปกป้องความประเสริฐของพวกท่าน โดยทำการเผยแพร่คุณงามความดี แบบอย่างที่ดีงาม และความประเสริฐของพวกท่านให้แก่ประชาคมโลกได้รับรู้โดยทั่วกัน
ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงใคร่นำเสนอหลักฐานบางตัวบทที่บ่งชี้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ทั้งนี้ก็เพื่อให้ข้อกระจ่างต่อจุดยืนของชาวอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺที่มีต่อเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
อัลลอฮฺ อัซซะวะญัลล ได้ดำรัสว่า
﴿وَإِن طَآئِفَتَانِ مِنَ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ ٱقۡتَتَلُواْ فَأَصۡلِحُواْ بَيۡنَهُمَاۖ فَإِنۢ بَغَتۡ إِحۡدَىٰهُمَا عَلَى ٱلۡأُخۡرَىٰ فَقَٰتِلُواْ ٱلَّتِي تَبۡغِي حَتَّىٰ تَفِيٓءَ إِلَىٰٓ أَمۡرِ ٱللَّهِۚ فَإِن فَآءَتۡ فَأَصۡلِحُواْ بَيۡنَهُمَا بِٱلۡعَدۡلِ وَأَقۡسِطُوٓاْۖ إِنَّ ٱللَّهَ يُحِبُّ ٱلۡمُقۡسِطِينَ ٩﴾ (الحجرات : 9)
ความว่า “และหากมีสองฝ่ายจากบรรดาผู้ศรัทธาทะเลาะวิวาทกัน พวกเจ้าก็จงไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งในสองฝ่ายนั้นละเมิดอีกฝ่ายหนึ่ง พวกเจ้าก็จงปรามฝ่ายที่ละเมิดจนกว่าฝ่ายนั้นจะกลับสู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ ฉะนั้นหากฝ่ายนั้นกลับ (สู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ) แล้ว พวกเจ้าก็จงประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วยความยุติธรรม และพวกเจ้าจงให้ความเที่ยงธรรม(แก่ทั้งสองฝ่าย) เถิด แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักใคร่บรรดาผู้ให้ความเที่ยงธรรม” (สูเราะฮฺ อัล-หุญุรอต : 9)
ในอายะฮฺข้างต้น อัลลอฮฺทรงสั่งใช้ให้บรรดาผู้ศรัทธาได้ไกล่เกลี่ย หากมีข้อพิพาทระหว่างพวกเขาด้วยกันเองเพราะพวกเขานั้นเป็นพี่น้องกัน ซึ่งการทะเลาะวิวาทหรือประเด็นที่มีข้อพิพาทกันนั้นย่อมไม่ทำให้คุณลักษณะของการเป็นผู้ที่มีความศรัทธา ซึ่งอัลลอฮฺทรงขนานนามว่า “มุอฺมินีน” นั้นได้จากหายไป ด้วยเหตุนี้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างเศาะหาบะฮฺในสงครามอูฐ(อัล-ญะมัล) ซึ่งเกิดจากการวินิจฉัยหรือการอิจญฺติฮาดก็ไม่ได้ทำให้คุณลักษณะของการเป็นผู้ศรัทธาของพวกท่านนั้นได้จากหายไปเช่นเดียวกัน [48]
ท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลลอฮุอันฮุ ได้รายงานหะดีษบทหนึ่งเพื่อเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างเศาะหาบะฮฺนั้น โดยเฉพาะสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มคนที่สนับสนุนท่านอะลีกับกลุ่มคนที่สนับสนุนท่านมุอาวียะฮฺ ประหนึ่งเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้แล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นบทเรียนให้แก่ผู้ศรัทธาในรุ่นหลัง ซึ่งท่านได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«لاَ تَقُوْمُ السَّاعَةِ حَتَّىْ تَقْتَتَلُ فِئَتَان عَظِيْمَتَان وَتَكُوْنُ بَيْنَهُمَا مَقْتَلَةً عَظِيْمَةً وَدَعْوَاهُماَ وَاحِدَة» (البخاري 4/321، ومسلم 4/221)
ความว่า “วันกิยามะฮฺจะไม่เกิดขึ้น จนกว่ากลุ่มชนใหญ่สองกลุ่มจะทำสงครามกัน ซึ่งทำให้มีการตายเกิดขึ้นอย่างมากมายระหว่างสองกลุ่มนั้น ทั้งๆที่การเรียกร้องของกลุ่มชนทั้งสองนั้นก็เป็นสิ่งเดียวกัน(เรียกร้องสู่สัจธรรม)” [49]
ท่านอัมรฺ บินอัล-อาศ ได้รายงานหะดีษอีกบทหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมากในการให้ข้อกระจ่างเกี่ยวกับจุดยืนของผู้ศรัทธาต่อเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างเศาะหาบะฮฺ ซึ่งท่านได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«إِذَا حَكَمَ الْحَاكِمُ فَاجْتَهَدَ ثُمَّ أَصَابَ فَلَهُ أَجْرَانِ وَإِذَا حَكَمَ فَاجْتَهَدَ ثُمَّ أَخْطَأَ فَلَهُ أَجْرٌ» (مسلم برقم 1716)
ความว่า “เมื่อผู้พิพากษาได้ทำการวินิจฉัยอย่างเต็มความสามารถแล้วถูกต้อง เขาได้รับการตอบแทนสองเท่าและเมื่อเขาทำการวินิจฉัยแล้วผิดพลาด เขาได้รับการตอบแทนหนึ่งเท่า” [50]
ท่านอบีบักเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้รายงานหะดีษอีกบทหนึ่งเพื่อเป็นการยืนยันว่ากลุ่มชนทั้งสองกลุ่มนั้นก็ยังคงเป็นผู้ศรัทธาแม้นว่าพวกเขาจะมีความขัดแย้งกันก็ตาม ท่านได้เล่าว่า ในระหว่างที่เราสดับฟังการเทศนาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านอัล-หะสันก็ได้มายังเรา ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงกล่าวว่า
«اِبْنِيْ هَذَا سَيِّدٌ وَلَعَلَّ الله أَنْ يُصْلِحَ بِهِ بَيْنَ فِئَتَيْن مِنَ المُسْلِمِين» (رواه البخاري ، انظر فتح الباري 13/61)
ความว่า “หลานของฉันคนนี้เป็นผู้นำ ซึ่งหวังว่าอัลลอฮฺจะทรงให้เขาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มชนสองกลุ่มจากบรรดาผู้ศรัทธาด้วยกัน” [51]
จากหลักฐานที่ได้นำเสนอข้างต้นนี้ เป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้อย่างแน่ชัดว่าชาวอีรักที่สนับสนุนท่านอะลีและชาวเมืองชามที่สนับสนุนท่านมุอาวิยะฮฺ บินอบีสุฟยานนั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็ยังได้พรรณนาถึงพวกท่านว่ายังคงเป็นอุมมะฮฺหรือประชาชาติของท่านอยู่ เช่นเดียวกันท่านนบียังได้พรรณนาถึงคุณลักษณะของพวกท่านทั้งหลายว่าเป็นผู้ที่ผูกมัดกับสัจธรรมและเป็นผู้ที่มีความศรัทธา ซึ่งความขัดแย้งหรือการทำสงครามระหว่างทั้งสองกลุ่มนั้นก็ไม่ได้ทำให้สิ่งเหล่านั้นหลุดพ้นจากพวกท่านใดๆไม่ [52]
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ศรัทธาทั้งหลายที่ต้องมีความเชื่อมั่นและมีจุดยืนว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมนั้น พวกเขาคือกลุ่มชนที่เราต้องเชิดชูและเทิดเกียรติ โดยไม่สร้างความเกลียดชัง การใส่ไคล้ และด่าทอพวกท่านทั้งหลาย และประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ เหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างเศาะหาบะฮฺนั้น แม้นว่ามันจะมีผลอย่างไรแต่ก็มิได้เป็นสิ่งที่ผู้ศรัทธาชนรุ่นหลังจากนั้นต้องแบกรับหรือถูกสอบสวนใดๆไม่ เพราะอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลาได้ดำรัสว่า
﴿تِلۡكَ أُمَّةٞ قَدۡ خَلَتۡۖ لَهَا مَا كَسَبَتۡ وَلَكُم مَّا كَسَبۡتُمۡۖ وَلَا تُسَۡٔلُونَ عَمَّا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ ١٤١﴾ (البقرة: 141)
ความว่า “นั่นคือ กลุ่มชนที่ล่วงลับไปแล้ว สิ่งที่พวกเขาได้ขวนขวายไว้ ก็ย่อมเป็นของพวกเขา และสิ่งที่พวกเจ้าขวนขวายไว้ก็ย่อมเป็นของพวกเจ้าและพวกเจ้าจะไม่ถูกไต่สวน ถึงสิ่งที่เขาเหล่านั้นปฏิบัติกัน” (สูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ : 141)
ในทางกลับกันสิ่งที่ผู้ศรัทธาต้องเอาใจใส่มากที่สุดนั้นก็คือ การวิงวอนของต่ออัลลอฮฺให้พระองค์อย่าได้ให้ความเคียดแค้นต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺเกิดขึ้นในหัวใจของเขา รวมทั้งพวกเขาต้องมอบความรักต่อพวกท่าน วิงวอนขอดุอาอ์แก่พวกท่าน ขอให้อัลลอฮฺทรงอภัยโทษแก่พวกท่าน และยืนยันถึงความประเสริฐและรางวัลที่พวกท่านจะได้รับนั้นคือ สวนสวรรค์ที่เป็นสถานที่พำนักอันสถาพร
ดังที่อัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ได้ดำรัสว่า
﴿وَٱلَّذِينَ جَآءُو مِنۢ بَعۡدِهِمۡ يَقُولُونَ رَبَّنَا ٱغۡفِرۡ لَنَا وَلِإِخۡوَٰنِنَا ٱلَّذِينَ سَبَقُونَا بِٱلۡإِيمَٰنِ وَلَا تَجۡعَلۡ فِي قُلُوبِنَا غِلّٗا لِّلَّذِينَ ءَامَنُواْ رَبَّنَآ إِنَّكَ رَءُوفٞ رَّحِيمٌ ١٠﴾ (الحشر : 10)
ความว่า “และบรรดาผู้ที่มาหลังจากพวกเขาโดยพวกเขากล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของเราทรงโปรดอภัยให้แก่เราและพี่น้องของเราผู้ซึ่งได้ศรัทธาก่อนหน้าเรา และขอพระองค์อย่าได้มีการเคียดแค้นเกิดขึ้นในหัวใจของเราต่อบรรดาผู้ศรัทธา ข้าแต่พระเจ้าของเราแท้จริงพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงเอ็นดู ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (สูเราะฮฺอัล-หัชรฺ : 10)
บทสรุป
เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า “เศาะหาบะฮฺ” คือกลุ่มชนหนึ่งเดียวที่มีไม่เหมือนเช่นบรรดากลุ่มชนอื่นๆ บนพื้นแผ่นดินนี้ พวกเขาคือบรรดาบรรพชนที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นที่ไม่เหมือนเช่นบรรดาผู้คนทั้งหลาย พวกเขาคือ บรรดาประชาชาติที่เป็นผู้นำ ไม่เหมือนเช่นประชาชาติอื่นๆทั้งหมด ซึ่งผู้ใดก็ตามที่ได้ศึกษาชีวประวัติของพวกท่านด้วยความเข้าใจและพินิจใคร่ครวญ และล่วงรู้ถึงรางวัลตอบแทนที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ได้ทรงประทานให้แก่พวกท่านแล้ว ผู้นั้นจะตระหนักเป็นอย่างดีว่าพวกท่านเหล่านั้นคือผู้ที่ดีที่สุดในหมู่มนุษย์รองลงมาจากบรรดานบีทั้งหลาย ไม่เคยมีใครเสมอเหมือนพวกเขาและจะไม่มีวันเป็นเช่นนั้นด้วย ดังนั้น เราขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ให้เราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตของบรรดาเศาะหาบะฮฺ ปกป้อง เชิดชู เทิดเกียรติพวกท่าน และทำให้การดำเนินชีวิตของพวกเรานั้นเป็นเหมือนอย่างพวกท่านทั้งหลาย ภายใต้ความโปรดปรานและได้รับความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮฺ
อัลหัมดุลิลลาฮฺ ด้วยความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ สาส์นเล่มเล็กๆนี้จึงได้สำเร็จเรียบร้อย คุณประโยชน์และความดีใดๆอันพึงมีที่ได้จากสาส์นเล่มเล็กๆนี้ ข้าพเจ้าขอมอบแด่บุพการี ครอบครัว และครูบาอาจารย์ทุกท่านที่ได้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ และขอให้ผลแห่งความดีนั้น นำความดี ความสงบสุขสู่สังคม และประชาชาติโดยรวม โดยแน่แท้พระองค์เป็นผู้ที่ดียิ่งที่เราจะวอนขอ และพระองค์นั้นเป็นผู้ที่พอเพียงแก่เราแล้ว และเป็นผู้รับมอบหมายที่ดียิ่ง
มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ การสถาพรและความจำเริญจงมีแด่บ่าวและศาสนทูตของพระองค์ ผู้เป็นนบีของเรา ผู้นำของเรา มุหัมมัด บินอับดุลลอฮฺ และบรรดาเครือญาติ ตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่าน และแด่ผู้ที่เจริญรอยตามพวกท่านด้วยกับความดีงามจนถึงวันกิยามะฮฺ อามีน
[1] อบูนุอัยม์ อัล-อัศฟะฮานีย์, อัล-หุลยะฮฺ, เล่ม : 1 หน้า : 305-306.
[2] อิมามอะหฺมัด บินหัมบัล, อัล-มุสนัด, เล่ม : 1 หน้า : 379, อบีนะอีม อัล-อัศบะฮานีย์, มัอฺริฟะฮฺ อัศ-เศาะหาบะฮฺ, หน้า : 19, หัมดฺ บินอับดุลลอฮฺ บินอิบรอฮีม อัล-หุมัยดีย์, อัล-อิบานะฮฺ ลิมาลิศเศาะหาบะฮฺ มินัลมันซิละฮฺ วัล-มะกานะฮฺ, หน้า : 10
[3] อิบนุหะญัร, ฟัตหุลบารีย์, เล่ม : 7 หน้า : 3.
[4] แหล่งเดิม
[5] อบี นะอีม อัล-อัศบะฮานีย์, มัอฺริฟะฮฺ อัศ-เศาะหาบะฮฺ,เล่ม : 2 หน้า : 394.
[6] อิบนุ อัล-อะษีร, อะสะดุลฆอบะฮฺ, เล่ม : 1 หน้า : 12
[7] อิบนุหะญัร, อัล-อิศอบะฮฺ ฟีตัมยีซ อัศ-เศาะหาบะฮฺ , หน้า : 16 , อิมามอะหฺมัด บินหัมบัล, ฟะฎออิล อัศ-เศาะหาบะฮฺ, หน้า : 9, ดร.อะหฺมัด สัยยิด อะหฺมัด, มะฟาฮีม เหาละ อัล-อาลิ วัล-อัศหาบ, หน้า : 48, ดร.อะหฺมัด สัยยิด อะหฺมัด อะลี, อัล-อะชะเราะฮฺ อัล-มุบัชชิรูน บิล-ญันนะฮฺ, หน้า : 24, ดร.อับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัส-สัดหาน , วะเกาะฟาต มันฮะญียะฮฺ ตัรบะวียะฮฺ ดะอฺวียะฮฺ มินสิยัร อัศ-เศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า : 11, ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า :35, ดร.มุหัมมัด บินอะลี บินศอลิหฺ อัล-ฆอมิดีย์, มันบุชชิรอ บิลญันนะฮฺ มินฆ็อยริลอะชะเราะฮฺ, หน้า :21, ดร.อะหฺมัด สัยยิด อะหฺมัด, มะฟาฮีม เหาละ อัล-อาลิ วัล-อัศหาบ, หน้า : 50.
[8] อิบนุหะญัร, อัล-อิศอบะฮฺ ฟีตัมยีซ อัศ-เศาะหาบะฮฺ , หน้า : 16
[9] อิบนุหะญัร, อัล-อิศอบะฮฺ ฟีตัมยีซ อัศ-เศาะหาบะฮฺ , หน้า : 16-19.
[10] มุนซิร บินสุลัยมาน อัล-อัสอัด, อัศ-เศาะหาบะฮฺ วัน-นิฟาก, หน้า 19 , ดร.อับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัส-สัดหาน , วะเกาะฟาต มันฮะญียะฮฺ ตัรบะวียะฮฺ ดะอฺวียะฮฺ มินสิยัร อัศ-เศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า : 11.
[11] บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 4418 และมุสลิม : 2769.
[12] อับดุลลอฮฺ บินศอลิหฺ อัล-เกาะศีร,อัลอิศอบะฮฺ ฟีฟะฎออิล วะหุกูก อัศ-เศาะหาบะฮฺ, หน้า 7-8, ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า :41-44.
[13] ดร.สุอูด อัศ-ศออิดีย์, อัล-อะหาดีษ อัล-วาริดะฮฺ ฟีฟะฎออิล อัศ-เศาะหาบะฮฺ, หน้า : 62. อิบนุหะญัร, อัล-อิศอบะฮฺ ฟีตัมยีซ อัศ-เศาะหาบะฮฺ , หน้า : 20, ดร.อะหฺมัด สัยยิด อะหฺมัด, มะฟาฮีม เหาละ อัล-อาลิ วัล-อัศหาบ, หน้า : 53.
[14] ดร.สุอูด อัศ-ศออิดีย์, อัล-อะหาดีษ อัล-วาริดะฮฺ ฟีฟะฎออิล อัศ-เศาะหาบะฮฺ, หน้า : 62, ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า :36, ดร.อะหฺมัด สัยยิด อะหฺมัด อะลี, อัล-อะชะเราะฮฺ อัล-มุบัชชิรูน บิล-ญันนะฮฺ, หน้า : 25, อิบนุหะญัร, อัล-อิศอบะฮฺ ฟีตัมยีซ อัศ-เศาะหาบะฮฺ , หน้า : 20, ดร.อะหฺมัด สัยยิด อะหฺมัด, มะฟาฮีม เหาละ อัล-อาลิ วัล-อัศหาบ, หน้า : 54.
[15] ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า :36, ดร.อะหฺมัด สัยยิด อะหฺมัด อะลี , อัล-อะชะเราะฮฺ อัล-มุบัชชิรูน บิล-ญันนะฮฺ , หน้า : 25, อิบนุหะญัร, อัล-อิศอบะฮฺ ฟีตัมยีซ อัศ-เศาะหาบะฮฺ , หน้า : 20.
[16] ดร.สุอูด อัศ-ศออิดีย์, อัล-อะหาดีษ อัล-วาริดะฮฺ ฟีฟะฎออิล อัศ-เศาะหาบะฮฺ, หน้า : 62.
[17] อิบนุหะญัร, อัล-อิศอบะฮฺ ฟีตัมยีซ อัศ-เศาะหาบะฮฺ , หน้า : 22, ดร.สุอูด อัศ-ศออิดีย์, อัล-อะหาดีษ อัล-วาริดะฮฺ ฟีฟะฎออิล อัศ-เศาะหาบะฮฺ, หน้า : 63-64, ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า :36-37.
[18] ดร.อับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัส-สัดหาน , วะเกาะฟาต มันฮะญียะฮฺ ตัรบะวียะฮฺ ดะอฺวียะฮฺ มินสิยัร อัศ-เศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า : 12, ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า : 67, มุหัมมัด เศาะลาหฺ มุหัมมัด อัศ-ศอวีย์, มันซิละฮฺ อัศ-เศาะหาบะฮฺ ฟิลกุรอาน, หน้า : 16,เตาฟีก มุหัมมัด มุศ็อยรีย์, หะยาฮฺ อัล-มัรฎียีน, หน้า : 11.
[19] มุหัมมัด เศาะลาหฺ มุหัมมัด อัศ-ศอวีย์, มันซิละฮฺ อัศ-เศาะหาบะฮฺ ฟิลกุรอาน, หน้า : 25.
[20] ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า : 58, มุหัมมัด เศาะลาหฺ มุหัมมัด อัศ-ศอวีย์, มันซิละฮฺ อัศ-เศาะหาบะฮฺ ฟิลกุรอาน, หน้า : 10.
[21] มัรกัซ อัล-บุหูษ วัด-ดิรอสาต, อัษ-ษะนาอ์ อัล-มุตะบาดิล บัยนะ อัล-อาลี วัล-อัศหาบ , หน้า 20
[22] ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า : 62
[23] มุหัมมัด เศาะลาหฺ มุหัมมัด อัศ-ศอวีย์, มันซิละฮฺ อัศ-เศาะหาบะฮฺ ฟิลกุรอาน, หน้า : 10-11, เตาฟีก มุหัมมัด มุศ็อยรีย์, หะยาฮฺ อัล-มัรฎียีน, หน้า : 11.
[24] ดร.อับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัส-สัดหาน , วะเกาะฟาต มันฮะญียะฮฺ ตัรบะวียะฮฺ ดะอฺวียะฮฺ มินสิยัร อัศ-เศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า : 13, ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า : 74, มุหัมมัด เศาะลาหฺ มุหัมมัด อัศ-ศอวีย์, มันซิละฮฺ อัศ-เศาะหาบะฮฺ ฟิลกุรอาน, หน้า : 26, เตาฟีก มุหัมมัด มุศ็อยรีย์, หะยาฮฺ อัล-มัรฎียีน, หน้า : 6.
[25] ดร.อับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัส-สัดหาน , วะเกาะฟาต มันฮะญียะฮฺ ตัรบะวียะฮฺ ดะอฺวียะฮฺ มินสิยัร อัศ-เศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า : 13, ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า : 65, มุหัมมัด เศาะลาหฺ มุหัมมัด อัศ-ศอวีย์, มันซิละฮฺ อัศ-เศาะหาบะฮฺ ฟิลกุรอาน, หน้า : 12, เตาฟีก มุหัมมัด มุศ็อยรีย์, หะยาฮฺ อัล-มัรฎียีน, หน้า : 8.
[26] ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า : 67, เตาฟีก มุหัมมัด มุศ็อยรีย์, หะยาฮฺ อัล-มัรฎียีน, หน้า : 7.
[27] ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า : 69.
[28] ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า : 71-72
[29] ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า : 73.
[30] ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า : 76, มุหัมมัด เศาะลาหฺ มุหัมมัด อัศ-ศอวีย์, มันซิละฮฺ อัศ-เศาะหาบะฮฺ ฟิลกุรอาน, หน้า : 9.
[31] บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 17 และมุสลิม : 74
[32] บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 3784, มุสลิม : 75.
[33] บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 3651, มุสลิม : 2533.
[34] บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 3673, มุสลิม : 2540.
[35] บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 3649, มุสลิม : 2533.
[36] บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 7244 และมุสลิม : 1059.
[37] อบูนุอัยม์ อัล-อัศฟะฮานีย์, อัล-หิลยะฮฺ, เล่ม : 1 หน้า : 305-306.
[38] อิมามอะหฺมัด บินหัมบัล, อัลมุสนัด, เล่ม : 1 หน้า : 379, อบีนะอีม อัล-อัศบะฮานีย์, มัอฺริฟะฮฺ อัศ-เศาะหาบะฮฺ, หน้า : 19, หัมดฺ บินอับดุลลอฮฺ บินอิบรอฮีม อัล-หุมัยดีย์, อัล-อิบานะฮฺ ลิมาลิศเศาะหาบะฮฺ มินัลมันซิละฮฺ วัล-มะกานะฮฺ, หน้า : 10
[39] อิบนุกะษีร, ตัฟสีรอัลกุรอาน อัล-กะรีม, เล่ม : 4 หน้า : 219.
[40] อับดุลลอฮฺ บินศอลิหฺ อัล-เกาะศีร,อัลอิศอบะฮฺ ฟีฟะฎออิล วะหุกูก อัศ-เศาะหาบะฮฺ, หน้า 17 , ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า :38-39, ดร.มุหัมมัด บินอะลี บินศอลิหฺ อัล-ฆอมิดีย์, มันบุชชิรอ บิลญันนะฮฺ มินฆ็อยริลอะชะเราะฮฺ, หน้า : 22, ดร.อะหฺมัด สัยยิด อะหฺมัด, มะฟาฮีม เหาละ อัล-อาลิ วัล-อัศหาบ, หน้า : 58-59.
[41] ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า :39.
[42] บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 3673, มุสลิม : 2540.
[43] บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 5585
[44] อัล-อัลบานีย์, เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ, เล่ม : 5 หน้า : 299.
[45] อัล-เคาะฏีบ, อัล-กิฟายะฮฺ, หน้า 97
[46] บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 3784, มุสลิม : 75.
[47] บันทึกโดยมุสลิม 1/86
[48] ดูใน อิบนุ อัล-อะเราะบีย์, อัล-อะวาศิม มิน อัล-เกาะวาศิม, หน้า 169-170, ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า : 728.
[49] บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 4/231 และมุสลิม : 4/221
[50] บันทึกโดยมุสลิม : 1716.
[51] บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์พร้อมกับคำอธิบายในฟัตหุลบารีย์ : 13/61
[52] ดร.นาศิร อัช-ชัยคฺ , อะกีดะฮฺ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ฟิศเศาะหาบะฮฺ อัล-กิรอม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม, หน้า : 729.