البدعة تعريفها أنواعها أحكامها
ความหมายคำว่าบิดอะฮฺ ประเภทและหุก่มต่างๆ ของมัน
มวลการสรรเสริญทั้งปวงเป็นสิทธิของพระองค์อัลลอฮฺสุบบะหานะฮูวะตะอาลา ผู้ซึ่งสั่งใช้ให้พวกเราปฏิบัติตามและสั่งห้ามจากการอุตริกรรม ขอคำสดุดีและความสันติจากพระองค์อัลลอฮฺจงมีแด่ศาสนทูตของพวกเรา มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ผู้ซึ่งที่พระองค์ได้ส่งมา ให้เป็นทางนำและให้ปฏิบัติตาม และความสันติจงมีแด่วงศาคณาญาติของท่าน ตลอดจนสาวกของท่านและผู้ที่ปฏิบัติตามทั้งหลาย
ต่อไปนี้เป็นบทต่างๆ ที่อธิบายถึงประเภทของบิดอะฮฺและคำสั่งห้ามจากมัน ผลงานเขียนชิ้นนี้ถือเป็นสิ่งที่ใช้ในการตักเตือน ชี้แนะกัน เพื่อพระองค์อัลลอฮฺ เพื่อคำภีร์ของพระองค์ และเพื่อศาสนทูตของพระองค์รวมถึงบรรดาผู้นำและมุสลิมทั้งหลาย
ภาคที่หนึ่ง
ความหมายคำว่าบิดอะฮฺ ประเภทและหุกุมต่างๆของมัน
ความหมายของคำว่าบิดอะฮฺ
บิดอะฮฺในด้านภาษาอาหรับ : คือ การประดิษฐ์สึ่งหนึ่ง โดยที่ไม่มีแบบอย่างมาก่อน ดังในคำดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺที่ว่า :
﴿بَدِيعُ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِِۖ ﴾ [البقرة: 117]
ความว่า "พระองค์อัลลอฮฺ คือผู้ที่ประดิษฐ์บรรดาชั้นฟ้าและพื้นแผ่นดิน” (อัล-บากอเราะฮฺ 117 )
หมายถึง พระองค์อัลลอฮฺได้สร้างมันขึ้นมา โดยที่ไม่มีตัวอย่างมาก่อน(คือไม่มีการสร้างมาก่อน พระองค์คือผู้ที่แรกเริ่ม)
และจากดำรัสของพระองค์อีกว่า
﴿قُلْ مَا كُنتُ بِدْعًا مِّنَ الرُّسُلِ﴾ [الأحقاف: 9]
ความว่า : จงกล่าวเถิดมุหัมมัด ฉันไม่ใช่บุคคลแรกจากบรรดาศาสนทูต" (อัล-อะหฺกอฟ 9)
หมายถึง : ฉันไม่ใช่ผู้แรกที่นำสารจากพระผู้เป็นเจ้าสู่มวลมนุษย์ แต่มีบรรดาศาสนทูตมากมายก่อนหน้าฉันเหมือนกัน
ในภาษาอาหรับ อาจจะมีการพูดว่า บุคคลหนึ่งได้กระทำบิดอะฮฺใดๆ นั่นหมายถึง : เขาได้ริเริ่มแนวทางหนึ่งขึ้นมาโดยที่ไม่เคยมีปรากฏแบบอย่างนั้นมาก่อน
การประดิษฐ์ใหม่หรืออุตรินั้นมีสองแบบ คือ
1. การประดิษฐ์ใหม่ในด้านอาดะฮฺ (สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา) ได้แก่การริเริ่มคิดค้นเครื่องมือสมัยใหม่ต่างๆ มากมาย ซึ่งสิ่งดังกล่าวนี้ล้วนแล้วเป็นที่อนุญาตให้กระทำได้ เนื่องจากกฎเดิม(ทางศาสนา)ในเรื่องราวทางโลก เป็นสิ่งที่อนุญาต เว้นแต่จะมีตัวบทหลักฐานมากำกับห้ามสิ่งดังกล่าวไว้
2. การประดิษฐ์ใหม่ในด้านศาสนาคือ การอุตริกรรมในเรื่องราวของศาสนา ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ต้องห้าม เพราะว่ากฎในเรื่องราวต่างๆ ของศาสนา ขึ้นอยู่กับตัวบทหลักฐาน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า :
«من أحدث في أمرنا هذا ما ليس منه فهو رد» [ رواه البخاري:167]
ความว่า : บุคคลใดก็ตามที่ กระทำสิ่งใหม่ขึ้นในกิจการงานของเรา(ศาสนา) ซึ่งไม่มีในกิจการงานของเรา มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกตอบรับ (ณ ที่อัลลอฮฺ) (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ : 167 )
และอีกรายงานหนึ่ง มีสำนวนว่า
«من عمل عملا ليس عليه أمرنا فهو رد» [ رواه مسلم : 1718 ]
ความว่า :บุคคลใดก็ตามที่ กระทำการงานหนึ่งการงานใด ขึ้นในการงานของเรา (ศาสนา)ซึ่งมันไม่มีในคำสั่งของเรา มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกตอบรับ(ณ ที่อัลลอฮฺ) (รายงานโดย มุสลิม :1718)
ประเภทของบิดอะฮฺ
บิดอะฮฺในศาสนามีอยู่ สองประเภทด้วยกัน ได้แก่:
ประเภทที่หนึ่ง : บิดอะฮฺในด้านคำพูดหรือความเห็นที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ เช่น ความเชื่อต่างๆ ของพวกญะฮฺมียะฮฺและพวกมุอฺตะซิละฮฺ รวมถึงพวกชีอะฮฺรอฟิเฎาะฮฺ และกลุ่มหลงผิดต่างๆ
ประเภทที่สอง : คือ บิดอะฮฺด้านอิบาดะฮฺ เช่น การประกอบอิบาดะฮฺต่อพระองค์อัลลอฮฺ ด้วยกับอิบาดะฮฺที่พระองค์ไม่ได้บัญญัติไว้
ซึ่งบิดอะฮฺในประเภทที่สองนี้ มีอยู่หลายชนิดด้วยกันคือ :
1. การริเริ่มอิบาดะฮฺหนึ่ง ที่มันไม่มีหลักฐานในศาสนาโดยสิ้นเชิง เช่นการอุตริการละหมาด การถือศีลอด หรือกำหนดวันรื่นเริง อาทิ การฉลองวันเกิดต่างๆ ขึ้นมาโดยที่สิ่งดังกล่าวนี้ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในศาสนา
2. สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาในอิบาดะฮฺที่ถูกบัญญัติไว้ เช่น การเพิ่มร็อกอะฮฺที่ห้าในละหมาด ซุฮรฺ หรือ อัศรฺ เป็นต้น
3. การประกอบอิบาดะฮฺที่ไม่ตรงตามหลักลักษณะที่ถูกบัญญัติไว้ เช่น การกล่าวซิกรุลลอฮฺและขอดุอาอ์ในวาระต่างๆเป็นแบบกลุ่มหรือหมู่คณะพร้อมเพียงกันเหมือนเป็นท่วงทำนองขับร้อง หรือจะเป็นการเลยขอบเขตในการประกอบอิบาดะฮฺจนถึงขั้นออกนอกแบบอย่างสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม
4. การกำหนดวันเวลา เพื่อการประกอบอิบาดะฮฺที่ศาสนาไม่ได้บัญญัติไว้ อาทิ การกำหนดคืนนิศฟูชะฮฺบาน สำหรับถือศีลอดในตอนกลางวัน และ ละหมาดยามค่ำคืนในวันดังกล่าว เพราะการละหมาดและการถือศีลอดแน่นอนมันเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติในศาสนาอยู่เดิมแล้ว เพียงแต่การกำหนดวันเวลาเฉพาะเจาะจงในการปฏิบัติมัน จะต้องมีตัวบทหลักฐานมากำกับด้วย
ข้อตัดสินของบิดอะฮฺในศาสนาทุกประเภท
บิดอะฮฺทุกประเภทในศาสนาล้วนเป็นสิ่งต้องห้าม และหลงผิดทั้งสิ้น ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า :
«وإياكم ومحدثات الأمور، فإن كل محدثة بدعة، وكل بدعة ضلالة» [رواه أبوداود : 3607 والترمذي : 2676]
ความว่า : “และพวกเจ้าจงระวังสิ่งใหม่ในศาสนา เพราะว่าทุกๆ บิดอะฮฺนั้นคือความหลงผิด” (รายงานโดย อะบู ดาวูด : 4607 และอัต-ติรมิซีย์ : 2676)
และอีกคำกล่าวหนึ่งของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ว่า :
«من أحدث في أمرنا هذا ما ليس منه فهو رد » [ رواه البخاري:167 ]
ความว่า : บุคคลใดก็ตามที่ กระทำสิ่งใหม่ขึ้นในการงานของเรา(ศาสนา) ซึ่งไม่มีหลักฐานจากศาสนานั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกตอบรับ (ณ ที่อัลลอฮฺ) (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ : 167 )
และอีกรายงานหนึ่ง มีสำนวนว่า :
«من عمل عملا ليس عليه أمرنا فهو رد» [ رواه مسلم : 1718 ]
ความว่า :บุคคลใดก็ตามที่ กระทำการงานหนึ่งการงานใด ขึ้นในการงานของเรา(ศาสนา) ซึ่งมันไม่มีในคำสั่งของเรา มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกตอบรับ(ณที่อัลลอฮฺ) (รายงานโดย มุสลิม :1718 )
หะดีษข้างต้นได้บ่งถึงว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ในศาสนามันคือบิดอะฮฺ และทุกๆ บิดอะฮฺมันคือความหลงผิด ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกปฏิเสธทั้งสิ้น ซึ่งความหมายว่า บิดอะฮฺต่างๆ ไม่ว่าจะในเรื่องอิบาดะฮฺหรือเรื่องหลักความเชื่อก็ตาม ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในหลักการศาสนาทั้งสิ้น ซึ่งระดับความรุนแรงของความผิดนั้นจะขึ้นอยู่กับสภาพของบิดอะฮฺนั้นๆ เป็นรายกรณีไป เช่น
- บิดอะฮฺที่เป็นกุฟรฺ(การปฏิเสธศรัทธา)อย่างชัดเจน เช่น การเฏาะวาฟ(หมุนเวียน)รอบหลุมศพเพื่อเป็นการใกล้ชิดต่อผู้ที่อยู่ในหลุมศพนั้น การเชือดสัตว์ การบนบาน การขอดุอาอ์และการขอความช่วยเหลือจากหลุมศพดังกล่าว ถือเป็นกุฟรฺทั้งสิ้น และจากสิ่งที่เป็นบิดอะฮฺกุฟรฺเช่นกันคือแนวคิดหรือคำกล่าวต่างๆ ของพวกที่สุดโต่งทั้งหลายจากพวกญะฮฺมียะฮฺ และพวกมุอฺตะซิละฮฺ
- บิดอะฮฺที่เป็นสื่อนำไปสู่การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ได้แก่ การสร้างสิ่งก่อสร้างบนหลุมศพ การขอดุอาอ์ ณ สถานที่ดังกล่าว เป็นต้น
- บิดอะฮฺที่เป็นบาปในด้านความเชื่อ ได้แก่บิดอะฮฺของพวกเคาะวาริจญ์ พวกเกาะดะรียะฮฺ พวกมุรญิอะฮฺ เป็นต้น ซึ่งที่ปรากฏอยู่ในตำราและความเชื่อของพวกเขาที่ขัดแย้งกับตัวบทหลักฐานทางศาสนา
- บิดอะฮฺที่เป็นการฝ่าฝืนที่เป็นบาป ได้แก่การไม่แต่งงานเพื่อใช้เวลาอยู่กับการประกอบอิบาดะฮฺต่อพระองค์อัลลอฮฺ การยืนกลางแสงแดดขณะถือศีลอด และการทำหมันเพื่อไม่ให้มีความใคร่ในสตรี
ข้อสังเกต: บุคคลที่แบ่งบิดอะฮฺออกเป็น บิดอะฮฺหะสะนะฮฺ (บิดอะฮฺที่ดี) และบิดอะฮฺสัยยิอะฮฺ(บิดอะฮฺที่เลว) สำหรับเขาแน่นอนเขาได้กระทำสิ่งที่ผิดพลาดอย่างมหันต์และเป็นสิ่งที่ฝ่าฝืนคำกล่าวของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ว่า :
«فإن كل بدعة ضلالة» [ رواه أبوداود : 3607 والترمذي : 2676]
ความว่า : “เพราะว่าทุกๆ บิดอะฮฺนั้นคือความหลงผิด” (รายงานโดย อะบู ดาวูด: 4607 และอัต-ติรมิซีย์ : 2676)
เนื่องจากท่านรอสูลศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้วางหุก่มบิดอะฮฺว่าเป็นสิ่งที่หลงผิดทั้งหมด แต่บุคคลผู้นี้กลับกล่าวว่า บิดอะฮฺไม่ได้เป็นสิ่งที่หลงผิดทั้งหมด แต่มีบิดอะฮฺหะสะนะฮฺปรากฏเช่นกันในศาสนา !
ท่านหาฟิซ อุบนุ เราะญับ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ชัรหฺ อัล-อัรบะอีน ว่า "คำกล่าวของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ว่า : “ทุกๆบิดอะฮฺนั้นหลงผิด” เป็นคำกล่าวที่ครอบคลุมความหมายไว้ทั้งหมด(หมายถึงทุกบิดอะฮฺในด้านศาสนา) โดยที่ไม่ได้ละเว้นสิ่งใดหลงเหลืออยู่เลย มันเป็นพื้นฐานสำคัญหนึ่งจากพื้นฐานต่างๆ ของศาสนา ซึ่งมันใกล้เคียงกับกล่าวของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ว่า :
«من أحدث في أمرنا هذا ما ليس منه فهو رد» [ رواه البخاري:167 ]
ความว่า : บุคคลใดก็ตามที่ กระทำสิ่งใหม่ขึ้นในการงานของเรา (ศาสนา)ซึ่งไม่มีหลักฐานจากศาสนานั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกตอบรับ (ณ ที่อัลลอฮฺ) (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ : 167 )
บุคคลที่อุตริสิ่งใหม่ขึ้น และได้พาดพิงมันให้เป็นส่วนหนึ่งของศาสนา โดยที่ไม่เคยมีปรากฏตัวอย่างการปฏิบัติมันมาก่อน แน่นอนสิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่หลงผิด ไม่ว่าจะในประเด็นเรื่องความเชื่อ การกระทำ หรือคำพูด ทั้งในสภาพที่เปิดเผยและลับตา (ดู ญามิอุลอุลูม วัลหิกัม)
สำหรับบุคคลที่กล่าวอ้างว่ามีบิดอะฮฺหะสะนะฮฺ ในศาสนา พวกเขาได้กล่าวอ้างคำกล่าวของ ท่านอุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ ในประเด็นที่เกี่ยวกับละหมาดตะรอวีหฺ ที่ว่า :
«نعمت البدعة هذه»
ความว่า " นี่แหละ คือบิดอะฮฺที่ดี"
และยังได้อ้างว่า ยังมีสิ่งใหม่หลายประการที่เกิดขึ้นในศาสนาแต่บรรดาชาวสะลัฟไม่ได้ทำการตอบโต้ หรือปฏิเสธมันแต่อย่างใด เช่น การรวบรวมอัลกุรอานเป็นรูปเล่ม การบันทึกรวบรวมวจนะของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นต้น
คำตอบสำหรับประเด็นดังกล่าว ก็คือ ทั้งหมดที่ยกอ้างมานั้นล้วนเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในสมัยของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม แน่นอน มันย่อมไม่ใช่ บิดอะฮฺ และส่วนคำกล่าวของท่านอุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ ที่ว่า "นี่แหละ คือบิดอะฮฺที่ดี" คำกล่าวนี้ท่านอุมัรต้องการสื่อถึงความหมายทางด้านภาษา ของคำว่าบิดอะฮฺ ไม่ใช่ทางด้านศาสนา เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เคยปรากฏมาก่อน หากถูกกล่าวว่ามันเป็นบิดอะฮฺ ใช่ มันก็คือบิดอะฮฺ แต่หมายถึงบิดอะฮฺทางด้านภาษาไม่ใช่ด้านศาสนา เพราะบิดอะฮฺในด้านศาสนาคือสิ่งที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในบทบัญญัติ ส่วนประเด็นการรวบรวมอัลกุรอานเข้าเป็นรูปเล่ม ก็เป็นสิ่งที่เคยมีการริเริ่มมาก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะท่าน นบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านเคยสั่งใช้ให้บันทึกอัลกุรอาน แต่ทว่าการบันทึกอัลกุรอานในยุคของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นการบันทึกที่ยังไม่เป็นรูปเล่ม กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งต่อมาบรรดาเศาะหาบะฮฺได้ทำการรวบรวมอัลกุรอานให้เป็นรูปเล่ม เพื่อเป็นการรักษาอัลกุรอานไว้ไม่ให้สูญหาย ในประเด็นการละหมาดตะรอวียหฺก็เช่นกัน ซึ่งท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เคยปฏิบัติไว้ โดยที่ท่านได้นำบรรดาเศาะหาบะฮฺทำการละหมาดอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง หลายคืนร่วมด้วยกัน ซึ่งต่อมาท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ละทิ้งการละหมาดเป็นญะมาอะฮฺกับบรรดาเศาะหาบะฮฺในช่วงที่เหลือของค่ำคืนเราะมะฎอน เพราะเกรงว่า พระองค์อัลลอฮฺจะบัญญัติการละหมาดตะรอวีหฺให้เป็นฟัรฎูแก่พวกเขา ซึ่งบรรดาเศาะหาบะฮฺก็ยังคงดำเนินการละหมาดต่อไป หลายกลุ่มหลายญะมาอะฮฺ ทั้งในสมัยที่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ยังมีชีวิตอยู่ และจากไปแล้ว เหตุการณ์ยังคงดำเนินในสภาพดังกล่าวต่อไป จนกระทั่งถึงสมัยของท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบเข้ารับตำแหน่งเป็นคอลีฟะฮฺ ท่านได้ทำการรวบรวมเหล่าบรรดาเศาะหาบะฮฺให้ทำการละหมาดตามอิหม่ามเพียงคนเดียว เพื่อให้มีเพียงญะมาอะฮฺเดียวเท่านั้น ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในสมัยของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งสิ่งดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นชัดว่าสิ่งข้างต้นไม่ใช่ บิดอะฮฺ ในศาสนา
ส่วนประเด็นเรื่องการบันทึกวจนะของท่านบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็ไม่ใช่บิดอะฮฺในศาสนาแต่อย่างใด เนื่องจากมีรายงานคำสั่งใช้จากท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม แก่เศาะหาบะฮฺบางท่านให้ทำการจดบันทึกเมื่อมีผู้ร้องขอดังกล่าว ซึ่งการบันทึกหะดีษเคยเป็นสิ่งที่ถูกห้ามในสมัยของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เพราะเกรงว่าจะเกิดการปะปนกับอัลกุรอาน แต่เมื่อท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้เสียชีวิตลงข้อห้ามดังกล่าวก็ยุติลงด้วย เนื่องด้วยว่าอัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาอย่างสมบูรณ์แล้วและยังได้ถูกจดจำ ณ ที่บรรดาเศาะหาบะฮฺอย่างถี่ถ้วนอีกด้วย
ดังนั้น บรรดามุสลิมจึงริเริ่มบันทึกและรวบรวมหะดีษ เพื่อเป็นการป้องกันจากการสูญหายไป
ขอพระองค์อัลลอฮฺทรงตอบแทนความดีงามอย่างล้นเหลือแก่บรรดามุสลิมทั้งหลาย ที่พวกเขาได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจอย่างมากมายในการรับใช้ศาสนา ในการท่องจำและรักษาคำภีร์ของพระองค์อัลลอฮฺ และสุนนะฮฺของเราะสูลของพระองค์จากการสูญหายและการทำลายของผู้ไม่หวังดีทั้งหลาย
ภาคที่สอง :
ในวิถีชีวิตของมุสลิม
การปรากฏขึ้นของบิดอะฮฺในวิถีชีวิตของมุสลิม
มีอยู่สองประเด็นด้วยกัน :
ประเด็นที่หนึ่ง เวลาการปรากฏขึ้นของบิดอะฮฺ
ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า : พึงทราบเถิดว่า บิดอะฮฺทั่วไป ที่เกี่ยวข้องกับวิชาความรู้และอิบาดะฮฺ มันเริ่มเกิดขึ้นในท้ายการปกครองระบบเคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรม ดังเช่นหะดีษ ที่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า :
«من يعش منكم بعدي فسيري اختلافا كثيرا ، فعليكم بسنتي وسنة الخلفاء الراشدين من بعدي»
ความว่า : "ผู้ที่มีชีวิตอยู่หลังจากฉัน แน่นอนเขาจะเห็นการขัดแย้งอย่างมากมาย ดังนั้นพวกเจ้าทั้งหลายจงยึดในสุนนะฮฺของฉัน และ และสุนนะฮฺของบรรดาเคาะลีฟะฮฺที่ปราดเปรื่อง หลังจากฉัน (หนังสือ มัจมูอุลฟะตาวา หน้า : 354 เล่ม:10)
บิดอะฮฺแรกที่เกิดขึ้นบนหน้าแผ่นดิน คือ บิดอะฮฺของพวกเกาะดะรียะฮฺ พวกมุรญิอะฮฺ บิดอะฮฺพวกชีอะฮฺรอฟิเฎาะฮฺ และพวกเคาะวาริจญ์ ซึ่งบิดอะฮฺดังกล่าวเกิดขึ้นในศตวรรษที่สองในขณะที่บรรดาเศาะหาบะฮฺมีชีวิตอยู่ ซึ่งบรรดาเศาะหาบะฮฺได้ทำการปฏิเสธพวกบิดอะฮฺเหล่านี้ หลังจากนั้น ก็เกิดบิดอะฮฺของพวกมุอฺตะซิละฮฺขึ้นมา ทำให้เกิดฟิตนะฮฺความปั่นป่วนระหว่างมุสลิม เกิดการขัดแย้งในเรื่องทัศนะต่างๆ มากมาย นำไปสู่การเอนเอียงสู่บิดอะฮฺ และฝักใฝ่ในอารมณ์ ต่อมามีการเกิดขึ้นของบิดอะฮฺพวกศูฟีย์ และบิดอะฮฺการสร้างสิ่งก่อสร้างบนหลุมศพ ซึ่งมันเกิดขึ้นหลังจากยุคสามศตวรรษที่ประเสริฐไปแล้ว สิ่งดังกล่าวบ่งบอกถึงว่า ทุกๆ กาลเวลาที่ผ่านนานไป ก็จะเกิดบิดอะฮฺนานาประเภทเพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน
ประเด็นที่สอง แหล่งสถานที่การปรากฏขึ้นของบิดอะฮฺ
บิดอะฮฺที่เกิดขึ้นจะมีความแตกต่างกัน ในแต่ละประเทศและเมืองต่างๆ ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ ได้กล่าวว่า : เมืองหลักที่สำคัญ ที่บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบีอาศัยอยู่ และเป็นแหล่งของวิชาความรู้ ความศรัทธา มีอยู่ห้าเมืองด้วยกัน ได้แก่ มักกะฮฺ มะดีนะฮฺ กูฟะฮฺ บัศเราะฮฺ และเมืองชาม ได้มีการเรียนรู้และการถ่ายทอดวิชาการจากเมืองดังกล่าว ได้แก่ อัลกุรอาน หะดีษ ฟิกฮฺ อิบาดะฮฺ และสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอิสลาม และเช่นเดียวกัน ได้เกิดบิดอะฮฺในด้านหลักความเชื่อจากเมืองดังกล่าวนี้ยกเว้นแต่ที่เมืองมะดีนะฮฺเท่านั้น ซึ่งที่เมืองกูฟะฮฺเกิดบิดอะฮฺพวกชีอะฮฺและพวกมุรญิอะฮฺ และกระจายไปยังสถานที่ต่างๆ
เมืองบัศเราะฮฺ เกิดบิดอะฮฺพวกเกาะดะรียะฮฺและพวกมุอฺตะซิละฮฺ และเผยแพร่ไปยังเมืองต่างๆ
เมืองชามเกิดบิดอะฮฺพวกเกาะดะรียะฮฺ และพวกนะวาศิบ
ส่วนบิดอะฮฺญะฮฺมียะฮฺเกิดจากทางด้านคุรอซาน มันเป็นบิดอะฮฺที่รุนแรงที่สุด ซึ่งการปรากฏขึ้นของบิดอะฮฺต่างๆ เกิดจากการห่างไกลจากเมืองของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม หลังจากเกิดการแตกแยกภายหลังการฆาตกรรมท่านอุษมาน
ต่อมาก็มีการปรากฏขึ้นของบิดอะฮฺหะรูรียะฮฺขึ้น ส่วนเมืองมะดีนะฮฺปลอดภัยจากการปรากฏของบิดอะฮฺดังกล่าว ถ้าหากเกิดขึ้นก็จะเป็นแบบหลบซ่อน ลับตาผู้คน และถูกประนามอย่างต่ำต้อย ไม่เหมือนกับบิดอะฮฺต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองกูฟะฮฺ เมืองบัศเราะฮฺ เมืองชาม เพราะกลุ่มบิดอะฮฺต่างๆ ในเมืองเหล่านั้นจะเห็นได้อย่างเปิดเผยชัดเจน ทั้งนี้มีหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ได้กล่าวว่า เมืองมะดีนะฮฺนั้นจะถูกรักษาให้ปลอดภัยจากดัจญาลและมันไม่สามารถเข้ามะดีนะฮฺได้ ... ความรู้และอีมานที่ถูกต้องจึงคงโดดเด่นตลอดมาในมะดีนะฮฺจนถึงยุคของลูกศิษย์ลูกหาอิมามมาลิกในช่วงศตวรรษที่สี่ (ดู มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา 20/300-303)
สาเหตุต่างๆที่ส่งผลให้เกิดการปรากฏขึ้นของบิดอะฮฺ
เป็นที่ทราบกันดีว่าการยึดมั่นต่ออัลกุรอานและสุนนะฮฺของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม คือทางรอดพ้นจากบิดอะฮฺและความหลงผิดทั้งหลาย พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า:
﴿وَأَنَّ هَـذَا صِرَاطِي مُسْتَقِيماً فَاتَّبِعُوهُ وَلاَ تَتَّبِعُواْ السُّبُلَ فَتَفَرَّقَ بِكُمْ عَن سَبِيلِهِ﴾ [الأنعام: 153]
ความว่า : และแท้จริงนี่คือแนวทางของข้าอันเที่ยงตรง ดังนั้นพวกเจ้าทั้งหลายจงปฏิบัติตามมันเถิด และจงอย่าได้ปฏิบัติตามแนวทางอื่นๆ เพราะมันจะทำให้พวกเจ้าแยกออกจากแนวทางของพระองค์ (อัล-อันอาม : 153)
และท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านได้อธิบายความหมายนี้ไว้อย่างชัดเจน ดังเช่นรายงานหนึ่งที่ว่า:
«عن ابن مسعود قال: خط لنا رسول الله صلى الله عليه وسلم خطا ثم قال: «هذا سبيل الله» ثم خطّ خطوطا عن يمينه وعن شماله ثم قال: «هذه سبل، على كل سبيل منها شيطان يدعو إليه» ثم قرأ ﴿وَأَنَّ هَـذَا صِرَاطِي مُسْتَقِيماً فَاتَّبِعُوهُ وَلاَ تَتَّبِعُواْ السُّبُلَ فَتَفَرَّقَ بِكُمْ عَن سَبِيلِهِ﴾ [رواه أحمد:435]
ความว่า : จากท่านอิบนิมัสอูด เราะฎิยัลลอฮฮุอันฮุ เล่าว่า: ท่านนบี มุหัมมัดศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ขีดเส้นหนึ่งเส้นให้พวกเรา หลังจากนั้นท่านกล่าวว่า “นี่คือทางของพระองค์อัลลอฮฺ” หลังจากนั้นท่านได้ขีดอีกหลายๆ เส้นจากทางขวาของท่าน และทางซ้ายของท่าน หลังจากนั้นท่านก็กล่าวว่า “นี่คือแนวทางที่หลากหลาย บนทุกๆ เส้นทางที่หลากหลายนั้นมีชัยฏอนที่คอยเชิญชวนให้เข้าหามัน” หลังจากนั้นท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็ได้อ่านอายะฮฺอัลกุรอานความว่า “และแท้จริงนี้คือแนวทางของข้าอันเที่ยงตรงดังนั้นพวกเจ้าจงปฏิบัติตามมันเถิด และจงอย่าปฏิบัติตามแนวทางต่างๆ เพราะมันจะทำให้พวกเจ้าแยกออกจากแนวทางของพระองค์” (รายงานโดย อะหฺมัด : 435 )
บุคคลใดก็ตามแต่เมื่อเขาหันเหออกจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺ เขาก็จะพบกับแนวทางที่หลงผิด และที่เป็นบิดอะฮฺมากมาย ซึ่งสาเหตุต่างๆ ที่นำพาเขาพบเจอกับบิดอะฮฺและสิ่งที่ลุ่มหลง ได้แก่ ขาดความรู้ความเข้าใจในบทบัญญัติศาสนา การตามอารมณ์ การคลั่งไคล้ในตัวบุคคลและแนวความคิด อุดมการณ์ของเขา การเลียนแบบต่างศาสนิก ซึ่งเราจะสนทนากันถึงสาเหตุดังกล่าวนี้อย่างละเอียด ดังต่อไปนี้
1. ขาดความรู้ความเข้าใจในบทบัญญัติศาสนา : แน่นอนว่าทุกกาลเวลาที่ผ่านนานไป การที่มนุษย์ห่างไกลจากหลักการศาสนาทำให้วิชาความรู้ลดน้อยลงและความเขลาก็จะเพิ่มขึ้นตามกัน ดังเช่นสิ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เคยกล่าวไว้ว่า :
«من يعش منكم بعدي فسيري اختلافا كثيرا» [رواه البخاري: 3433، مسلم : 2673]
ความว่า : ผู้ที่มีชีวิตอยู่หลังจากฉัน แน่นอนเขาจะเห็นการขัดแย้งอย่างมากมาย (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ : 3433 และมุสลิม : 2673)
และหะดีษ ที่ว่า :
«إن الله لا يقبض العلم انتزاعاً ينتزعه من العباد، ولكن يقبض العلم بقبض العلماء، حتى إذا لم يبق عالماً اتخذ الناس رؤوساً جهالاً فسُئلوا فأفتوا بغير علم، فضلّوا وأضلّوا» [ رواه البخاري : 3433]
ความหมาย: แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺ จะไม่นำความรู้กลับไปโดยถอดมันออกจากบ่าว แต่พระองค์จะนำความรู้กลับไปด้วยการเสียชีวิตของบรรดาผู้รู้ จนกระทั่งแทบจะไม่เหลือผู้รู้เลย ผู้คนจึงยึดผู้ที่ไม่มีความรู้เป็นผู้นำ เมื่อเขาถูกถาม เขาก็จะเฉลยปัญหา(ฟัตวา) โดยที่ไม่มีความรู้ ดังนั้นพวกเขาหลงผิดและยังนำพาผู้อื่นหลงผิดอีกด้วย (รายงานโดยอัล-บุคคอรีย์ :3433)
ดังนั้นจึงไม่มีสิ่งใดที่จะต่อสู้กับสิ่งที่เป็นบิดอะฮฺ นอกจากวิชาความรู้และผู้รู้เท่านั้น เมื่อวิชาความรู้และผู้รู้ลดน้อยลง จึงเปิดโอกาสให้บิดอะฮฺต่างๆ ปรากฏขึ้นและแพร่หลายอย่างง่ายดาย
2. ปฏิบัติตามอารมณ์ความรู้สึก : การที่คนหนึ่งหันเหออกห่างจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺ แน่นอนเขาก็จะปฏิบัติตามอารมณ์ความรู้สึก ดังเช่นคำดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺที่ว่า
﴿فَإِنْ لَمْ يَسْتَجِيبُوا لَكَ فَاعْلَمْ أَنَّمَا يَتَّبِعُونَ أَهْوَاءَهُمْ وَمَنْ أَضَلُّ مِمَّنِ اتَّبَعَ هَوَاهُ بِغَيْرِ هُدًى مِنَ اللَّهِ﴾ [القصص : 50]
ความว่า: หากพวกเขาไม่ตอบรับ(คำประกาศของ)เจ้า ก็พึงทราบเถิดว่า พวกเขาเพียงแค่ปฏิบัติตามอารมณ์ของพวกเขาเอง และใครเล่าที่จะหลงผิดยิ่งไปกว่าผู้ปฏิบัติตามอารมณ์ของเขา โดยปราศจากทางนำจากอัลลอฮฺ” (อัล-เกาะศ็อศ :50)
และคำดำรัสที่ว่า :
﴿أَفَرَأَيْتَ مَنِ اتَّخَذَ إِلَـٰهَهُ هَوَاهُ وَأَضَلَّهُ اللَّهُ عَلَى عِلْمٍ وَخَتَمَ عَلَى سَمْعِهِ وَقَلْبِهِ وَجَعَلَ عَلَى بَصَرِهِ غِشَاوَةً فَمَنْ يَهْدِيهِ مِنْ بَعْدِ اللَّهِ٢٣﴾ [الجاثية : 23]
ความว่า : เจ้าเคยเห็นผู้ที่ยึดเอาอารมณ์ของเขาเป็นพระเจ้าของเขาหรือไม่? และพระองค์อัลลอฮฺทำให้เขาหลงทางด้วยความรอบรู้ของพระองค์ และได้ผนึกการได้ยินและหัวใจของเขา และได้ปิดกั้นสายตาของเขา ดังนั้น ยังมีใครที่จะนำทางเขาได้อีกนอกเหนือจากพระองค์อัลลอฮฺ (อัล-ญาษิยะฮฺ 23)
สิ่งที่เป็นบิดอะฮฺมันก็คือความต้องการทางอารมณ์ที่ถูกปฏิบัติตามนั่นเอง
3. คลั่งไคล้ในตัวบุคคลและอุดมการณ์ความคิดของเขา:
พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
﴿وَإِذَا قِيلَ لَهُمُ اتَّبِعُوا مَا أَنْزَلَ اللَّهُ قَالُوا بَلْ نَتَّبِعُ مَا أَلْفَيْنَا عَلَيْهِ ءَابَاءَنَا أَوَلَوْ كَانَ ءَابَاؤُهُمْ لاَ يَعْقِلُونَ شَيْئًا وَلاَ يَهْتَدُونَ﴾ [البقرة : 170]
ความหมาย : และเมื่อได้ถูกกล่าวแก่พวกเขาว่า จงปฏิบัติตามสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานมา พวกเขาตอบว่า เราจะปฏิบัติตามเฉพาะที่เราพบว่าบรรพบุรุษของเราได้ปฏิบัติไว้ ทั้งๆ ที่บรรพบุรุษของพวกเขาไม่ได้เข้าใจโดยสติปัญญาและไม่ได้รับทางนำที่ถูกต้องกระนั้นหรือ” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ :170)
และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนี้กับบรรดาผู้คลั่งไคล้ ต่อสำนักคิดต่างๆ ในศาสนา พวกศูฟีย์ พวกบูชาหลุมศพทั้งหลาย ที่เมื่อมีคนเรียกร้องพวกเขาให้ปฏิบัติตามอัลกุรอานและสุนนะฮฺ ตักเตือนสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติที่ขัดกับตัวบทหลักฐานจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺ พวกเขาก็จะอ้างสำนักคิดหรือบรรดาผู้รู้ และจากบรรพบุรุษของพวกเขา เป็นหลักฐานในสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติกันอยู่
4. เลียนแบบต่างศาสนิก : แน่นอนสิ่งนี้คือสิ่งที่อันตรายที่สุดของบิดอะฮฺ ซึ่งมันเคยปรากฏในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ดังรายงานหนึ่งที่ว่า:
عن أبي واقد الليثي قال: خرجنا مع رسول الله صلى الله عليه وسلم إلى حنين ونحن حدثاء عهد بالكفر، وللمشركين سدرة يعكفون عندها وينوطون بها أسلحتهم يقال لها: ذات أنواط، فمررنا بسدرة فقلنا: يا رسول الله اجعل لنا ذات أنواط كما لهم ذات أنواط، فقال رسول الله صلى الله عليه وسلم: «الله أكبر، إنها السنن، قلتم ـ والذي نفسي بيده ـ كما قالت بنو إسرائيل لموسى ﴿ٱجۡعَل لَّنَآ إِلَٰهٗا كَمَا لَهُمۡ ءَالِهَةٞۚ قَالَ إِنَّكُمۡ قَوۡمٞ تَجۡهَلُونَ ١٣٨ ﴾ [الأعراف: ١٣٨]، لتركبن سنن من كان قبلكم» [ رواه الترمذي : 1280]
ความหมาย: รายงานจากท่านอบู วากิด อัล-ลัยษีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า พวกเราเคยร่วมเดินทางกับท่านเราะสูลจนกระทั่งถึง หุนัยนฺ (ชื่อสถานที่) และพวกเราก็เป็นมุสลิมใหม่ และสำหรับพวกตั้งภาคีแล้วพวกเขาจะมีต้นไม้หนึ่ง ซึ่งพวกเขาจะทำการอิอฺติกาฟ ณ ที่ต้นไม้นั้น และแขวนอาวุธต่างๆ ไว้ที่มัน (ก่อนการออกทำสงครามเพื่อเป็นการขอความมงคล และให้ทำศึกอย่างมีชัย) ซึ่งต้นไม้นั้นมันถูกเรียกว่า ซาตุ อันวาฎ พวกเราได้เดินผ่านต้นไม้นั้น และกล่าวว่า : โอ้ท่านเราะสูล ได้โปรดทำให้พวกเรามีต้นไม้ดังกล่าวนั้นเหมือนกับพวกตั้งภาคีด้วยเถิด! ท่านเราะสูลจึงกล่าวว่า : “อัลลอฮุ อักบัรฺ ! แท้จริงมันคือแบบอย่าง(ที่ถูกปฏิบัติมาอย่างผิดๆ) ขอสาบานด้วยกับผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในอุ้งพระหัตของพระองค์ พวกเจ้าพูดออกมาเหมือนกับที่บรรดาบนีอิสรออีลเคยพูดกับนบีมูซาว่า “ได้โปรดทำให้สำหรับพวกเราด้วยเถิดสิ่งที่ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะสักองค์หนึ่ง เช่นเดียวกับที่พวกเขามีสิ่งที่เป็นที่เคารพสักการะหลายองค์ เขา(มูซา)กล่าวว่า : แท้จริงพวกท่านเป็นพวกที่โฉดเขลายิ่ง”(ความหมายอายะฮที่ 38 สูเราะฮฺ อัล-อะอฺรอฟ) แน่นอน (ในยุคต่อๆ ไป หลังจากยุคของท่านนบี)พวกเจ้าจะปฏิบัติตามแนวทางต่างๆ ของกลุ่มชนก่อนหน้าพวกเจ้า” (รายงานโดย อัต-ติรมิซีย์ : 2180)
ในหะดีษข้างต้นบ่งบอกถึงว่า การกระทำเลียนแบบต่างศาสนิกคือสิ่งที่นำพาให้พวกบีอิสรออีลและกลุ่มหนึ่งจากเศาะหาบะฮฺของท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ร้องขอสิ่งที่น่ารังเกียจนี้จากนบีของพวกเขา คือการที่ให้นบีของพวกเขาทำให้พวกเขามีพระเจ้าหลายองค์เพื่อบูชาและขอความจำเริญจากบรรดาพระเจ้าเหล่านั้น นอกเหนือจากพระองค์อัลลอฮฺ และนี่เป็นสิ่งที่ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน กล่าวคือมุสลิมไม่น้อยในขณะนี้ที่พวกเขากระทำสิ่งที่เลียนแบบศาสนิกในสิ่งที่เป็นเรื่องบิดอะฮฺและชิริก เช่น การจัดวันเฉลิมฉลองงานวันเกิด(เมาลิด)ต่างๆ การกำหนดวัน สัปดาห์ หรือเดือนหนึ่งๆ เพื่อจัดกิจการเฉพาะ หรือ การจัดงานเนื่องในโอกาสสำคัญของศาสนาเพื่อเป็นการรำลึกถึงมัน หรือเป็นการจัดตั้งรูปปั้นของบุคคลเพื่อรำลึกเกียรติคุณ และสิ่งที่เป็นบิดอะฮฺที่เกี่ยวข้องกับศพผู้ตาย เช่นการสร้างสิ่งก่อสร้างบนหลุมศพ เป็นต้น
ภาคที่สาม :
และแนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ
ในการตอบโต้พวกบิดอะฮฺ
จุดยืนของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺที่มีต่อพวกบิดอะฮฺ
อะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺได้ดำเนินการตอบโต้ และปฏิเสธต่อพวกอุตริในสิ่งที่เป็นบิดอะฮฺทั้งหลายตลอดเรื่อยมา ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้:
1. รายงานจากอุมมุ อัด-ดัรดาอ์ เล่าว่า: อบู อัด-ดัรดาอ์ เข้ามาหาฉันในสภาพที่กำลังโกรธ(จากที่ได้เห็นพวกที่ทำอุตริกรรมบางกลุ่ม) ฉันก็กล่าวขึ้นว่า ท่านเป็นอะไรล่ะ? เขากล่าวว่า: ขอสาบานกับพระองค์อัลลอฮฺ ฉันไม่เห็นว่าพวกเขามีอะไรที่เป็นแบบอย่างจากท่านนบีมุหัมมัดเลย เว้นแต่อย่างเดียวคือพวกเขานั้นละหมาดกันทุกคน (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ : 159)
2. รายงานจากท่านอัมรฺ บิน ยะหฺยา กล่าวว่า ฉันได้ยิน บิดาของฉันเล่าจากปู่ของฉัน ซึ่งปู่ของฉันกล่าวว่า "ปกติ พวกเราจะนั่งอยู่ที่ประตูบ้านของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอูด ในช่วงก่อนเวลาละหมาดศุบหฺ พอท่านอิบนุ มัสอูดออกมาเราก็จะเดินไปยังมัสยิดพร้อมกับเขา วันหนึ่งท่านอบู มูซา อัล-อัชอะรีย์ได้เข้ามาหาเราและกล่าวว่า อบู อับดุรเราะหฺมาน(อิบนุ มัสอูด)ออกมาหาพวกท่านหรือยัง? พวกเรากล่าวว่า ไม่ แล้วท่านอบู มูซา อัล-อัชอะรีย์ก็นั่งพร้อมกับพวกเราจนกระทั่งอิบนุ มัสอูด ออกมา ดังนั้น เมื่อท่านออกมา เราทั้งหมดก็ลุกขึ้นไปหาท่าน อบู มูซาจึงกล่าวแก่ว่า เมื่อครู่นี้ ฉันได้เห็นสิ่งหนึ่งในมัสยิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันตำหนิมัน และ - อัลหัมดุลิลลาฮฺ – ก่อนหน้านี้ฉันไม่เคยเห็นอะไรนอกจากความดีงามเท่านั้น อิบนุ มัสอูด กล่าวว่า มันคืออะไรหรือ? อบู มูซากล่าวว่า ในมัสยิดนั้น ฉันเห็นกลุ่มหนึ่ง ได้นั่งล้อมกันเป็นวงเพื่อรอการละหมาด ในทุกๆ วงนั้น จะมีชายคนหนึ่งซึ่งในมือของพวกเขาจะมีลูกหินอยู่ด้วย แล้วเขาก็กล่าวว่า พวกท่านจงกล่าวตักบีรหนึ่งร้อยครั้ง แล้วพวกเขาก็ทำการตักบีรหนึ่งร้อยครั้ง และเขาก็กล่าวอีกว่า พวกท่านจงกล่าวลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺหนึ่งร้อยครั้ง แล้วพวกเขาก็กล่าวลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺหนึ่งร้อยครั้ง และเขาก็กล่าวว่า พวกท่านจงกล่าวตัสบีหฺหนึ่งร้อยครั้ง แล้วพวกเขาก็ทำการกล่าวตัสบีหฺหนึ่งร้อยครั้ง อิบนุ มัสอูดกล่าวกับอบู มูซาว่า แล้วท่านว่าอย่างไรกับพวกเขาล่ะ? อบู มูซากล่าวว่า ฉันไม่ได้กล่าวว่าอะไรกับพวกเขาเลย เพราะว่าเพื่อจะรอความเห็นของท่านหรือรอคำสั่งของท่าน อิบนุ มัสอูด กล่าวว่า ท่านน่าจะใช้ให้พวกเขานับความผิดของพวกเขาและท่านก็รับประกันแก่พวกเขาว่าอัลลอฮฺจะไม่ทำให้บรรดาความดีของพวกเขาสูญเปล่าไปแม้แต่น้อย(ซึ่งมันน่าจะดีกว่าปล่อยให้พวกเขาทำอย่างนั้น) หลังจากนั้น อิบนุ มัสอูด ก็เดินไปพร้อมๆ กับพวกเรา จนกระทั่งท่านเดินไปถึงวงหนึ่งจากบรรดาวงต่างๆ เหล่านั้น แล้วท่านก็หยุดอยู่ที่พวกเขา แล้วกล่าวว่า ฉันกำลังเห็นพวกท่านกำลังทำอะไรกันอยู่หรือนี่? พวกเขากล่าวว่า โอ้อบู อับดุรเราะหฺมาน มันเป็นลูกหินที่พวกเราใช้นับตักบีรฺ ตะฮฺลีล และตัสบีหฺ ท่านกล่าวตอบว่า พวกท่านนับบรรดาความผิดของพวกท่านเถิด แล้วฉันจะเป็นผู้ประกันว่า จะไม่มีสิ่งใดจากบรรดาความดีของพวกท่านสูญเปล่าเลย อนิจจา พวกท่านเอ๋ย โอ้ประชาชาติของมุหัมมัด ทำไมความวิบัติถึงได้มายังพวกท่านได้เร็วจริงๆ ทั้งๆ ที่ยุคนี้ก็ยังมีพวกเขาเหล่านั้นอยู่ นั่นคือบรรดาเศาะหาบะฮฺของเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ยังมีชีวิตอยู่หลายคนทีเดียว และนี่ก็คืออาภรณ์ของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ยังไม่ทันเก่าเลย และภาชนะของท่านที่ยังไม่ทันแตกเลย และขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่อุ้งพระหัตถ์ของพระองค์ พวกท่านอยู่บนแนวทางที่มีทางนำมากกว่าแนวทางของนบีมุหัมมัดกระนั้นหรือ? หรือว่าพวกท่านได้เปิดประตูแห่งความลุ่มหลงไปแล้ว? พวกเขากล่าวว่า โอ้ ท่านอบู อับดุรเราะหฺมาน เราไม่ได้ต้องการอะไรนอกจากความดีเท่านั้น ท่านอิบนุ มัสอูดกล่าวว่า มีมากเท่าไหร่แล้วในบรรดาผู้ที่ปราถนาความดี โดยที่เขาทำไม่ถูกต้องกับมันเลยแท้จริงท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้เล่ากับเราว่า แท้จริงจะมีกลุ่มหนึ่งที่อ่านอัลกุรอานโดยที่อัลกุรอานนั้นไม่ผ่านถึงกระเดือกพวกเขาเลย และขอสาบานว่า ฉันไม่รู้หรอกว่าบางทีส่วนมากจากพวกเขานั้นอาจจะมาจากพวกท่านนี่เอง หลังจากนั้น ท่านอิบนุ มัสอูดได้ผินหลังจากพวกเขาไป ดังนั้น ท่าน อัมรฺ บิน สะละมะฮฺ กล่าวว่า เราได้เห็นสมาชิกส่วนใหญ่ในวงเหล่านั้น คือพวกที่ทิ่มแทงต่อสู้กับพวกเราในเหตุการณ์สงครามอัน-นะฮฺเราะวาน ระหว่างพวกเรากับพวกเคาะวาริจญ์ (รายงานโดย อัต-ติรมิซีย์)
3. มีชายคนหนึ่งมาหาท่านอิหม่ามมาลิก บิน อะนัส เราะหิมะฮุลลอฮฺ และกล่าวกับท่านว่า : ฉันจะครองอิหฺรอมจากที่ไหน? ท่านตอบว่า: จากมีกอต(สถานที่ต่างๆในการครองอิหฺรอมหัจญ์และอุมเราะฮฺ)ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กำหนดไว้ ชายคนนั้นก็กล่าวว่า:ถ้าหากฉันจะครองอิหฺรอมจากสถานที่ที่ไกลกว่ามีกอตล่ะ? ท่านตอบว่า :ฉันไม่เห็นด้วยกับสิ่งดังกล่าว! ชายคนนั้นก็กล่าวว่า: ท่านรังเกียจสิ่งดังกล่าวนั้นหรือ? ท่านตอบว่า: ฉันรังเกียจฟิตนะฮฺที่จะเกิดขึ้นกับท่านต่างหาก เขาก็กล่าวว่า : ฟิตนะฮฺอะไรเล่าที่จะเกิดขึ้นจากการเพิ่มพูนความดี? ท่านอิหม่ามมาลิกจึงกล่าวว่า : แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿فَلْيَحْذَرِ الَّذِينَ يُخَالِفُونَ عَنْ أَمْرِهِ أَنْ تُصِيبَهُمْ فِتْنَةٌ أَوْ يُصِيبَهُمْ عَذَابٌ أَلِيمٌ٦٣ ﴾ [النور : 63]
ความว่า: ดังนั้น บรรดาผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเขา(มุหัมมัด)ก็จงระวังตัวเถิดว่าฟิตนะฮฺจะเกิดขึ้นแก่พวกเขา หรือว่าการลงโทษอันเจ็บปวดจะเกิดขึ้นแก่พวกเขาเช่นกัน (อัน-นูรฺ 63)
และฟิตนะฮฺอะไรเล่าที่ร้ายแรงไปกว่าการที่คนหนึ่งกำหนดเจาะจงความดีงามหรือคุณค่าอันหนึ่งอันใดขึ้นมาโดยที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่เคยเจาะจงมันไว้ !
นี่คือตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งบรรดาผู้รู้ยังคงทำการปฏิเสธพวกบิดอะฮฺในทุกยุคทุกสมัย อัลหัมดุลิลลาฮฺ
แนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺในการตอบโต้พวกบิดอะฮฺ
แนวทางนี้ตั้งอยู่บนตัวบทจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺ มันคือแนวทางที่ดึงดูดจิตใจและมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น โดยที่พวกเขาจะวางประเด็นปันหาที่คลุมเครือของพวกบิดอะฮฺ และทำการวิพากษ์วิจารณ์มันด้วยกับหลักฐานจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺ พร้อมกับตัวบทมากมายที่บ่งถึงความจำเป็นในการยึดมั่นต่อแนวทางของท่านนบี และออกห่างจากบิดอะฮฺ พวกเขาทุ่มเทอย่างหนักในการประพันธ์ตำราแหล่งความรู้ไว้อย่างมากมายเพื่อตอบโต้ความเชื่อที่หลงผิดของพวกชีอะฮฺ พวกเคาะวาริจญ์ ญะฮฺมียะฮฺ และอะชาอิเราะฮฺ ในประเด็นหลักศรัทธาและความเชื่อในตำราของพวกเขา
ซึ่งตำราที่ถูกประพันธ์ขึ้นเพื่อตอบโต้พวกบิดอะฮฺเหล่านี้โดยเฉพาะ เช่น كتاب الرد على الجهمية หนังสือตอบโต้พวกญะฮฺมียะฮฺ โดยอิหม่ามอะหฺมัด และตำราของผู้รู้อีกมากมายที่ได้ประพันธ์ขึ้น เช่น ตำราของเชคอุษมาน บิน สะอัด อัด-ดาริมีย์ ตำราต่างๆ ของชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ และ อิบนุล ก็อยยิม ลูกศิษย์ของท่าน ตำราของเชคมุหัมมัด บิน อับดุลวะฮฺฮาบ เป็นต้น ใช้ในการตอบโต้กลุ่มต่างๆ ดังกล่าว รวมถึงพวกซูฟีย์ และ พวกบูชาหลุมศพเช่นกัน
ตำราเฉพาะที่ใช้ตอบโต้พวกบิดอะฮฺมีมากมาย อาทิ เช่น
รายชื่อตัวอย่างตำราในอดีต :
1. كتاب الإعتصام لإمام الشاطبي หนังสือ อัล-อิอฺติศอม ของ อิหม่าม อัชชาติบีย์
2. كتاب اقتضاء الصراط المستقيم لشيخ الإسلام ابن تيمية หนังสือ อิกติฎออ์ อัศ-ศิรอฏ อัล-มุสตะกีม ของชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ
3. كتاب إنكار الحوادث والبدع لإبن وضاح หนังสือ อินการ อัล-หะวาดิษ วัลบิดะอฺ ของ อิบนุ วัฎฎอหฺ
4. كتاب الحوادث والبدع للطرطوشي หนังสือ อัล-หะวาดิษ วัลบิดะอฺ ของ อัฏ-ฏ็อรฏูชีย์
5. كتاب الباعث على إنكار البدع والحوادث لأبي شامة หนังสือ อัล-บาอิษ อะลา อินการฺ อัล-บิดะอฺ วัล-หะวาดิษฺ ของ อบู ชามะฮฺ
6. منهاج السنة النبوية في الرد على الرافضة والقدرية لشيخ الإسلام ابن تيمية
หนังสือ มินฮาจญ์ อัส-สุนนะฮฺ อัล-นะบะวียะฮฺ ฟี อัร-ร็อด อะลา อัร-รอฟิเฏาะฮฺ วัล-เกาะดะรียะฮฺ ของชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ
รายชื่อตัวอย่างตำราในปัจจุบัน :
1. كتاب الإبداع في مضار الإبتداع لعلي محفوظ หนังสือ อัล-อิบดาอฺ ฟี มะฎอรฺ อัล-อิบติดาอฺ ของเชค อะลี มะหฺฟูซ
2. كتاب السنن والمبتدعات المتعلقة بالأذكاز والصلوات للشيخ محمد بن أحمد الشقيري الحوامي
หนังสือ อัส-สุนัน วัล-มุบตะดะอาต อัล-มุตะอัลลิเกาะฮฺ บิล อัซการฺ วะ อัศ-เศาะละวาต ของเชค มุหัมมัด บิน อะหฺมัด อัช-ชุก็อยรีย์ อัล-หะวามีย์
3. رسالة التحذير من البدع للشيخ ابن باز หนังสือ ริสาละฮฺ อัต-ตะหฺซีร มินัล บิดะอฺ ของเชค บิน บาซ
และก็ยังมีผู้รู้อีกมากมายที่ออกมาตอบโต้พวกบิดอะฮฺผ่านทางสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ ช่องโทรทัศน์ คุฏบะฮฺ และบรรยายศาสนธรรม สิ่งดังกล่าวทำให้เกิดผลที่ยิ่งใหญ่ในการชี้แนะบรรดามุสลิม และหักห้ามพวกบิดอะฮฺทั้งหลายในสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติอยู่
ภาคที่สี่ :
ตัวอย่างที่จะกล่าวถึง คือ
1. การจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในวันคล้ายวันประสูติของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม
2. การขอความจำเริญ(บะเราะกะฮฺ) จากสถานที่ ร่องรอยที่สำคัญต่างๆ และจากผู้ที่เสียชีวิตแล้ว เป็นต้น
3. บิดอะฮฺที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา
บิดอะฮฺในปัจจุบันนี้เกิดขึ้นอย่างมากมายและแพร่หลาย อันเนื่องมาจากวันเวลาที่ผ่านเนิ่นนาน และการศึกษาที่ลดน้อยลง เกิดการเพิ่มขึ้นของผู้ที่เรียกร้องไปสู่บิดอะฮฺและสู่สิ่งที่ขัดกับหลักการต่างๆ ของศาสนา การเลียนแบบค่านิยม และตามประเพณีวัฒนธรรมของต่างศาสนิก สิ่งดังกล่าวนี้เป็นเครื่องยืนยันถึงคำกล่าวที่สัจจริงของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ว่า
«لتتبعن سنن من كان قبلكم» [رواه البخاري : 151]
ความว่า : แน่นอนว่าพวกเจ้าทั้งหลายจะเดินตามแนวทางที่หลากหลายของกลุ่มชนที่มาก่อนพวกเจ้า (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ : 151)
1. การจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในวันคล้ายวันประสูติของท่านนบีมุหัมมัด(เมาลิดนบี)ในเดือนเราะบีอุลเอาวัล
เป็นการเลียนแบบจากศาสนาคริสต์ ซึ่งงานนี้ถูกเรียกว่า “เมาลิดนบี” จัดขึ้นโดยมุสลิม หรือผู้รู้ที่หลงผิดกลุ่มหนึ่งในเดือนเราะบีอุลเอาวัลของทุกๆปี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติของท่านนบี มุหัมมัดศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ผู้คนบ่างส่วนจะจัดขึ้นในมัสญิด บ้างก็ในที่พัก หรือสถานที่ชุมนุม โดยมีกลุ่มชนทั้งในระดับแนวหน้าและบุคคลทั่วไปมารวมตัวกันจัดงานดังกล่าว ซึ่งงานเมาลิดนี้ แน่นอนมันเป็นการเลียนแบบจากศาสนาคริสต์ซึ่งพวกเขาจะจัดงาน คริสต์มาสให้แก่พระเยซูคริสต์ในทุกๆ ปีเช่นกัน โดยบางส่วนของงานเมาลิดนบีอาจจะมีสิ่งที่เป็นชิริกหรือที่เป็นบาปปะปนอยู่ด้วย เช่นการกล่าวสรรเสริญท่านนบีเป็นบทกลอนที่เลยเถิดและสุดโต่งจนกระทั่งถึงขั้นขอดุอาอ์และขอความช่วยเหลือจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นอกเหนือจากอัลลอฮฺ ด้วยเหตุนี้เองท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ห้ามอุมมะฮฺของท่านไม่ให้เทิดทูนและยกยอท่านเกินสิทธิการเป็นศาสนทูต ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า:
«لا تطروني كما أطرت النصارى ابن مريم إنما أنا عبد فقولوا عبد الله ورسوله» [رواه البخاري : 142]
ความว่า: พวกเจ้าจงอย่ากล่าวยกย่องฉัน (จนเกินเลย) อย่างที่ชาวคริสต์ได้ยกย่อง(อีซา)บุตรของนางมัรยัม เพราะแท้จริง ฉันนี้คือบ่าวของพระองค์ ดังนั้น พวกท่านจงกล่าวว่า (มุหัมมัด)คือบ่าวของอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์’” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 142)
อัล-อิฏรออ์ : الإطراء คือ การยกยอจนเลยเถิด ซึ่งบางครั้งผู้ที่จัดงานเมาลิดนบี อาจจะมีความเชื่อว่าท่านนบีได้มาอยู่ในงานนั้นกับพวกเขาด้วย และในงานยังมีการร้องอะนาชีดเป็นกลุ่ม มีการตีกลองร่วมด้วย การกระทำดังกล่าวมันเป็นส่วนหนึ่งของพวกศูฟีย์ พวกบิดอะฮฺ ซึ่งในงานอาจจะมีการปะปนกันระหว่างชายและหญิง ก่อให้เกิดสาเหตุของฟิตนะฮฺที่จะนำพาไปสู่สิ่งเลวร้ายทั้งหลายที่จะตามมาได้ ถึงแม้ว่างานดังกล่าวจะมีแค่การร่วมกันรับประทานอาหารและแสดงความดีใจ อย่างที่พวกเขากล่าวอ้างกัน อย่างไรก็ตามมันก็คือบิดอะฮฺ อุตริกรรมใหม่ๆ ในศาสนา และทุกๆ บิดอะฮฺนั้นหลงผิด และมันยังเป็นสื่อที่ทำให้มีสิ่งที่เป็นบาปต่างๆ เกิดขึ้นได้ในเวลาต่อไป
ที่เรากล่าวว่ามันคือบิดอะฮฺ เพราะว่ามันไม่มีหลักฐานจากอัลกุรอาน จากสุนนะฮฺและจากการกระทำของชาวสะลัฟุศศอลิหฺในสามศตวรรษแรก แต่มันเริ่มเกิดขึ้นหลังจากศตวรรษที่สี่ไปแล้ว ผู้ให้กำเนิดมันคือชีอะฮฺราชวงค์ฟาฏิมียะฮฺ(เคยปกครองอียิปต์)
ท่านอิหม่าม ตาญุดดีน อัล-ฟากิฮานีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า : มีคำถามมาบ่อยครั้ง(จากผู้ที่แสวงหาความถูกต้องใน)ประเด็นการรวมตัวกันของผู้คนกลุ่มหนึ่งในเดือนเราะบีอุลเอาวัล ซึ่งพวกเขาเรียกมันว่า เมาลิด มันมีหลักฐานให้กระทำจากศาสนาไหม?
ฉันตอบว่า: วะบิลลาฮิตเตาฟีก (ความสำเร็จขึ้นอยู่กับอัลลอฮฺ) ฉันไม่รู้ว่า สำหรับการจัดเมาลิดนี้ มันมีหลักฐานในอัลกุรอานและสุนนะฮฺ และไม่มีแบบอย่างถ่ายทอดมาจากบรรดาอิหม่ามที่มีเกียรติที่เคร่งครัดในการปฏิบัติตามร่องรอยชนกลุ่มแรกที่เป็นแบบอย่างในศาสนา แต่ทว่ามันเป็นบิดอะฮฺ ซึ่งอุตริขึ้นโดยพวกบิดเบือนและเป็นการตามอารมณ์ของพวกที่ชอบกินใช้บริโภคอย่างสุขสำราญ (หนังสือ อัล-เมาริด ฟี อะมาลิลเมาลิด)
ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺกล่าวว่า : สิ่งดังกล่าวนี้คือสิ่งที่มนุษย์บางกลุ่มอุตริขึ้น บ้างอาจจะเป็นการเลียนแบบพวกคริสต์เตียนในการจัดเมาลิดให้กับนบีอีซา หรือการจัดงานเมาลิดเพื่อเป็นการแสดงความรัก และเทิดทูนท่านนบี โดยการยึดงานเมาลิดเป็นวันฉลองทางศาสนา ทั้งๆ ที่นักวิชาการมีความขัดแย้งกันในวันดังกล่าว(หมายถึงวันที่ ที่ท่านนบีประสูติ) แต่สิ่งนี้ชาวสะลัฟไม่ได้ปฏิบัติมัน ถ้าหากว่ามันเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง แน่นอนว่าพวกเขาย่อมมีสิทธิในการปฏิบัติมากกว่าพวกเรา เพราะว่าพวกเขามีความรักต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และให้การเทิดทูนท่านมากกว่าพวกเรา ซึ่งพวกเขาเป็นผู้ที่ปราถนายิ่งในความดีงาม หากแต่ว่าความรักและการเทิดทูนท่านนบีคือการปฏิบัติตาม คือการเชื่อฟัง และการฟื้นฟูแบบฉบับของท่านทั้งต่อหน้าและลับหลัง นี่คือแนวทางของชนกลุ่มแรกจากชาวมุฮาญิรีน(ผู้อพยพ)และชาวอันศอรฺ(ชาวมะดีนะฮฺที่ให้การช่วยเหลือท่านนบีและผู้อพยพ)และเป็นแนวทางของผู้ที่ปฏิบัติตามชนเหล่านี้ด้วยความดีงาม (ดูหนังสือ อิกติฎออ์ อัศ-ศิรอด อัล-มุสตะกีม)
ได้มีการประพันธ์ตำราเพื่อชี้แจงตอบโต้การจัดงานเมาลิดอย่างมากมาย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพราะมันคือบิดอะฮฺและการเลียนแบบกลุ่มชนอื่น ซึ่งจะนำพาไปสู่การจัดเมาลิดในวาระอื่นๆ อีกมากมายเช่นจัดเมาลิดให้โต๊ะวะลี หรือให้แก่ผู้นำ และผู้ที่มีเกียติในศาสนา เป็นต้น มันเป็นการจุดประกายต้นตอสู่ความชั่วทั้งหลายแหล่
2. การขอความจำเริญ(บะเราะกะฮฺ) จากสถานที่และร่องรอยที่สำคัญต่างๆ และจากตัวบุคคลที่ยังมีชีวิต และเสียชีวิตไปแล้ว
อัต-ตะบัรรุก التبرك คือการขอความจำเริญ (บะเราะกะฮฺ) มันคือความดีงามที่ยั่งยืนในสิ่งหนึ่ง และการเพิ่มพูนมัน
การขอให้มีความดีงามที่มั่นคงและเพิ่มพูนขึ้นนั้น สามารถขอได้จากผู้ที่มีความสามารถและครอบครองมันเท่านั้น คือ พระองค์อัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์คือผู้ที่ประทานความจำเริญและคงมันไว้ ให้แก่สิ่งต่างๆ ส่วนสิ่งที่ถูกสร้างมันย่อมไม่มีความสามารถใดๆ ที่จะมอบความจำเริญ หรือสร้างมันขึ้นมาและคงมันไว้ ให้กับสิ่งต่างๆได้เลย
การขอความจำเริญ จากสถานที่และร่องรอยที่สำคัญหรือจากตัวบุคคลที่ยังมีชีวิตและเสียชีวิตไปแล้วนั้น ไม่เป็นการอนุญาต เพราะมันอาจจะเป็นการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺได้ คือ ถ้าบุคคลหนึ่งเชื่อว่าสิ่งที่เขาขอเป็นผู้ที่ให้ความจำเริญ หรือ มันอาจจะเป็นสื่อที่จะนำพาไปสู่การตั้งภาคี ถ้าเขาเชื่อว่าการไปเยี่ยมเยียน ได้ลูบสัมผัสสิ่งดังกล่าวจะทำให้ได้รับความจำเริญจากอัลลอฮฺ
ส่วนในรายงานที่เราพบว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺเคยขอความจำเริญด้วยกับส้นผมและน้ำลาย หรือส่วนต่างๆ จากร่างกายของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม สิ่งดังกล่าวนั้นเป็นการเฉพาะสำหรับท่านนบีในขณะที่ท่านมีชีวิตเท่านั้น ด้วยกับหลักฐานที่บ่งชี้ว่าหลังจากท่านนบีเสียชีวิตลง บรรดาเศาะหาบะฮฺ ไม่เคยที่จะขอความจำเริญจากหลุมศพของท่าน และพวกเขาไม่เคยมุ่งหน้าไปหาสถานที่ใดๆ ที่ท่านนบีเคยอาศัย หรือเคยนั่งพักอยู่เลยเพื่อทำการขอความจำเริญจากสิ่งดังกล่าว และเช่นเดียวกันพวกเขาไม่เคยขอความจำเริญจากหลุมศพโต๊ะวะลี ไม่เคยขอมันจากบุคคลที่ศอลิหฺทั้งหลาย เช่น ท่านอบูบักรฺ อุมัรฺ และเศาะหาบะฮฺท่านอื่นๆ ที่มีเกียติยิ่งทั้งในขณะมีชีวิต และเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม พวกเขาไม่เคยไปเยี่ยมเยียนภูเขาหิรออฺ(ที่รับวะห์ยู)หรือภูเขาฏูรฺ(สถานที่ที่พระองค์อัลลอฮฺตรัสกับมูซา)เพื่อทำการละหมาดและขอดุอาอ์จากสถานที่นั้นๆ หรือจากสถานที่ต่างๆ ที่มีความสำคัญที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหลุมศพหรือร่องรอยต่างๆ ของบรรดานบี และเช่นเดียวกันสถานที่ต่างๆ ที่ท่านนบีเคยละหมาดบ่อยครั้งในเมืองมะดีนะฮฺ ก็ไม่มีปรากฏจากผู้ใดในบรรดาชาวสะลัฟว่าเขาพวกเขาไปสัมผัสหรือจูบมัน รวมถึงสถานที่ต่างๆ ในมักกะฮฺหรือที่อื่นๆ ก็ไม่มีปรากฏมาเช่นกัน
ถ้าหากว่าจุดที่เท้าทั้งสองที่มีเกียรติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยเหยียบและยืนละหมาดบนมัน ยังไม่มีบัญญัติให้เราไปสัมผัสหรือจูบมันแล้วไซร้ แล้วนับประสาอะไรกับที่ที่เป็นรอยของคนอื่นนอกจากท่านนบี ที่อ้างกันว่าวะลีหรือคนสำคัญคนนั้นเคยละหมาดหรือเคยนอนตรงนี้ เพราะการจูบและสัมผัสสิ่งดังกล่าวนั้น บรรดาผู้รู้ต่างก็รู้กันโดยดุษฎีทั่วกันแล้วว่า ไม่มีอยู่ในบทบัญญัติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แต่อย่างใดเลย
3. บิดอะฮฺต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา
บิดอะฮฺที่ถูกอุตริขึ้นในพิธีกรรมทางด้านศาสนาในยุคปัจจุบัน ถูกพบอย่างมากมาย ซึ่งหลักการทำอิบาดะฮฺต้องขึ้นอยู่กับหลักฐานทางศาสนา สิ่งใดก็ตามแต่ที่ไม่มีตัวบทหลักฐานทางศาสนา มันก็คือบิดอะฮฺ ดังเช่นหะดีษที่ว่า : ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า:
«من عمل عملا ليس عليه أمرنا فهو رد» [ رواه مسلم : 1718 ]
ความว่า :บุคคลใดก็ตามที่ กระทำการงานหนึ่งการงานใด ขึ้นในการงานของเรา(ศาสนา)ซึ่งไม่มีในคำสั่งของเรา มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกตอบรับ(ณ ที่อัลลอฮฺ) (รายงานโดย มุสลิม :1718 )
อิบาดะฮฺที่ถูกปฏิบัติขึ้นแต่ไม่มีหลักฐานรับรองมีอยู่มากมายเช่น : การกล่าวคำเนียตก่อนละหมาด โดยผู้ที่จะทำการละหมาด กล่าวว่า : “ฉันเจตนาที่จะละหมาด ดังกล่าวนี้ ....เพื่ออัลลอฮฺ” สิ่งนี้คือบิดอะฮฺ เพราะไม่มีหลักฐานมายืนยันจาก สุนนะฮฺของท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม พระองค์อัลลอฮฺทรงกล่าวว่า :
﴿قُلْ أَتُعَلِّمُونَ اللَّهَ بِدِينِكُمْ وَاللَّهُ يَعْلَمُ مَا فِي السَّمَاوَاتِ وَمَا فِي الْأَرْضِ وَاللَّهُ بِكُلِّ شَيْءٍ عَلِيمٌ١٦﴾ [الحجرات :16]
ความว่า :จงกล่าวเถิดมุหัมมัดว่า พวกเจ้าจะบอกอัลลอฮฺเกี่ยวกับศาสนาของพวกเจ้ากระนั้นหรือ? อัลลอฮฺนั้นทรงรอบรู้สิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลาย และแผ่นดิน และอัลลอฮฺนั้นทรงรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง (อัล-หุญุรอต 16)
การเจตนา สถานที่ของมันคือ หัวใจ มันคือการงานของหัวใจ ไม่ใช่การกระทำที่เกิดจากปลายลิ้น
และจากบิดอะฮฺที่เกิดขึ้นคือ การขอดุอาอ์เป็นกลุ่ม เป็นหมู่คณะหลังจากการละหมาด แน่นอนว่าการดุอาอ์หลังละหมาดเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติขึ้น ให้แต่ละบุคคลรำลึกขอดุอาอ์เป็นการส่วนตัวไม่ใช่ในรูปแบบเป็นกลุ่ม หมู่คณะ
และสิ่งที่เป็นบิดอะฮฺอีกอย่างก็คือ การขอให้มีการอ่านสูเราะฮฺ อัล-ฟาติหะฮฺ เนื่องในโอกาสต่างๆ หรือหลังจากการดุอาอ์ หรืออ่านให้คนตาย เป็นต้น
การจัดงานศพให้แก่ผู้ตายและมีการจัดเลี้ยงอาหารพร้อมด้วยกับการอุทิศผลบุญในการอ่านอัลกุรอานให้แก่ผู้ตาย สิ่งนี้ก็เป็นบิดอะฮฺ โดยที่พวกเขาอ้างว่ามันเป็นการปลอบขวัญ ให้กำลังใจแต่ครอบครัวผู้ตาย หรืออ้างว่าการกระทำดังกล่าวจะเกิดประโยชน์กับผู้ที่ตายไปแล้ว สิ่งดังกล่าวนี้แหละคืออุตริกรรม ไม่มีรูปแบบและหลักฐานจากศาสนาอิสลาม
ส่วนการจัดงานเนื่องในโอกาสต่างๆ ในศาสนาเช่น การจัดงานอิสรออ์มิอฺรอจญ์ งานรำลึกการอพยพของท่านนบี ทั้งหมดเหล่านี้ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันจากศาสนาทั้งสิ้น
ส่วนสิ่งที่ถูกกระทำขึ้นในเดือนเราะญับ เช่นการเจาะจงทำอุมเราะฮฺในเดือนนี้ หรืออิบาดะฮฺต่างๆ ที่ถูกระทำขึ้นในเดือนนี้โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการละหมาดสุนนะฮฺเป็นการเฉพาะ หรือ การถือศีลอดเป็นการเฉพาะ ในเดือนนี้ ซึ่งเดือนเราะญับก็ไม่มีสิทธิพิเศษมากกว่าเดือนอื่นๆ เลยในการทำอุมเราะฮฺ การถือศีลอด การละหมาด หรือการเชือดสัตว์พลี เป็นต้น
และจากบิดอะฮฺที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา คือ บทรำลึกทุกประเภทของพวกศูฟีย์ มันเป็นสิ่งที่ขัดกับบทรำลึกที่ถูกบัญญัติ ทั้งในรูปแบบสำนวน รูปแบบการกระทำ และช่วงกาลเวลาของมัน
บิดอะฮฺในการเจาะจงค่ำคืนกลางเดือนชะอฺบาน (นิศฟูชะอฺบาน)เพื่อทำการละหมาดและถือศีลอดในเวลากลางวันของมัน เพราะเนื่องจากไม่มีการยืนยันจากท่านนบี ในสิ่งดังกล่าว
บิดอะฮฺการสร้างสิ่งก่อสร้างบนหลุมศพ การยึดเอาหลุมศพเป็นมัสญิด การเยี่ยมหลุมศพเพื่อขอความจำเริญและเป็นสื่อกลางในการประกอบอิบาดะฮฺ และอื่นๆ ที่จุดประสงค์มันคือการตั้งภาคี
และการเยี่ยมสุสานของสตรี ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้มีคำสาปแช่งจากท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ต่อบรรดาสตรีที่เยี่ยมเยียนสุสานและผู้ที่ยึดเอาสุสานเป็นมัสญิดและผู้ที่ประดับประดาสุสานด้วยตะเกียง หรือสิ่งอื่นๆ เพื่อเป็นการเทิดทูนและให้เกียรติแก่มัน
เราขอกล่าวว่า แน่นอนบิดอะฮฺต่างๆ คือสื่อนำไปสู่การตั้งภาคี มันคือ การเพิ่มเติมด้วยสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ ไม่ได้บัญญัติไว้
บิดอะฮฺเป็นสิ่งที่เลวร้ายกว่าการกระทำบาปใหญ่ เป็นสิ่งที่ชัยฏอนชอบใจมากกว่าบุคคลที่กระทำบาปใหญ่เสียอีก! เพราะบุคคลที่กระทำบาปใหญ่เขาตระหนักใจรู้ว่าสิ่งที่เขากำลังกระทำอยู่ คือ ความผิด ซึ่งเขาสามารถที่จะเตาบะฮฺ กลับตัวต่อพระองค์อัลลอฮฺได้ แต่ในทางกลับกัน บุคคลที่ทำบิดอะฮฺเขาเชื่อว่าสิ่งที่เขากระทำอยู่คือศาสนา กระทำมันเพื่อเป็นการใกล้ชิดต่อพระองค์อัลลอฮฺตะอาลา ซึ่งเขาไม่มีทางที่จะเตาบะฮฺ กลับตัวต่อพระองค์อัลลอฮฺได้ !
บิดอะฮฺเป็นสิ่งที่มาแทนที่สุนนะฮฺ และทำให้ผู้ที่ทำบิดอะฮฺรังเกียจต่อการกระทำที่เป็นสุนนะฮฺและต่ออะฮฺลุสสุนนะฮฺ
บิดอะฮฺทำให้ห่างไกลจากพระองค์อัลลอฮฺ และทำให้ได้รับความโกรธกริ้วจากพระองค์ ทำให้ได้รับโทษ และเป็นสาเหตุให้หัวใจเบี่ยงเบนจากสัจธรรมและมืดบอด
การปฏิบัติตนต่อกลุ่มพวกบิดอะฮฺ
ห้ามเยี่ยมเยียนไปมาหาสู่และร่วมวงกับพวกบิดอะฮฺเว้นแต่เพื่อตักเตือนและปฏิเสธสิ่งที่เป็นบิดอะฮฺของพวกเขา เพราะว่าการปะปนกับบุคคลเหล่านี้ ส่งผลเสียกับตัวผู้ที่คลุกคลีเอง และอาจจะทำบิดอะฮฺดังกล่าวนั้นติดต่อแพร่กระจายไปยังคนอื่นต่ออีกด้วย
จำเป็นที่จะต้องเตือนให้ระวังจากพวกเขาและจากสิ่งเลวร้ายของพวกเขา หากว่าไม่สามารถในการห้ามปรามด้วยกับสองมือ และยับยั้งสิ่งที่เป็นบิดอะฮฺได้ มันเป็นสิ่งจำเป็นต่อผู้รู้ ผู้นำในการยุติสิ่งที่เป็นบิดอะฮฺและยับยั้งพวกเขา เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นอันตรายต่อศาสนาอิสลามอย่างรุนแรง พึงทราบว่า บรรดาประเทศกาฟิรฺพยายามสนับสนุนและหนุนหลังพวกบิดอะฮฺ ในการเผยแพร่บิดอะฮฺของพวกเขาในทุกๆ วิถีทาง เพราะพวกเขารู้ว่ามันคือหนทางในการที่จะทำลายอิสลามและสร้างภาพลักษณ์ที่บิดเบือนให้กับอิสลามนั่นเอง
เราวิงวอนขอจากพระองค์อัลลอฮฺโปรดช่วยเหลือศาสนาของพระองค์ และยกเกียรติพระดำรัสของพระองค์ และ ลดเกียรติศัตรูของพระองค์ ขอการสดุดีจากอัลลอฮฺประสบแก่ท่านนบีของพวกเรา มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ตลอดจนคณาญาติของท่านและสาวกของท่านโดยถ้วนหน้า
*****