ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
ประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับหลักความเชื่อของมุสลิม
อัลหัมดุลิลลาฮฺ มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแห่งเอกองค์อัลลอฮฺ ผู้ทรงคู่ควรด้วยการสดุดีทั้งมวล ความดีงามแห่งพระองค์นั้นมากมายไม่อาจนับคำนวนและการสรรเสริญพระองค์นั้นก็ล้นพ้นนับไม่ถ้วน บุญคุณทั้งปวงเป็นของพระองค์ตั้งแต่เริ่มต้นจนบั้นปลาย
ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ไม่มีคู่เคียง ไม่มีผู้เทียบเท่า ไม่มีภาคี และไม่มีผู้เสมอเหมือน
ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่า มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้น เป็นทั้งบ่าวและศาสนทูตของอัลลอฮฺ
และนี่ ก็คือ “หลักความเชื่ออย่างย่อ” ที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้นมาให้กับพี่น้องชาวเมืองชาม (ซีเรีย) ในขณะที่พวกเขาได้เป็นเจ้าของดินแดนนี้อีกครั้งหลังจากที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศคริสเตียนนักล่าอาณานิคมมานาน แล้วก็ตกอยู่ใต้อาณัติของพวกบาฏินียะฮฺมาเป็นเวลาร่วมศตวรรษ ซึ่งผลก็คือ ทำให้หลักการอิสลามหลายๆ ประการทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องปลีกย่อยถูกเปลี่ยนแปลงและแก้ไขไปมาก
แท้จริงแล้ว มีหลายท่านจากพี่น้องในประเทศนั้นและจากที่อื่นๆ ได้ขอให้ข้าพเจ้าเขียนคำตอบต่างๆ ต่อคำถามที่บ่าวจะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ ว่าด้วยสิทธิของอัลลอฮฺเหนือปวงบ่าว ที่ทรงสั่งบัญชานบีนูหฺและบรรดานบีทั้งหลาย จนถึงยุคแห่งสารอิสลามของนบีคนสุดท้ายท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
﴿۞شَرَعَ لَكُم مِّنَ ٱلدِّينِ مَا وَصَّىٰ بِهِۦ نُوحٗا وَٱلَّذِيٓ أَوۡحَيۡنَآ إِلَيۡكَ وَمَا وَصَّيۡنَا بِهِۦٓ إِبۡرَٰهِيمَ وَمُوسَىٰ وَعِيسَىٰٓۖ أَنۡ أَقِيمُواْ ٱلدِّينَ وَلَا تَتَفَرَّقُواْ فِيهِۚ كَبُرَ عَلَى ٱلۡمُشۡرِكِينَ مَا تَدۡعُوهُمۡ إِلَيۡهِۚ ٱللَّهُ يَجۡتَبِيٓ إِلَيۡهِ مَن يَشَآءُ وَيَهۡدِيٓ إِلَيۡهِ مَن يُنِيبُ ١٣﴾ [الشورى : ١٣]
ความว่า “พระองค์ได้ทรงกำหนดศาสนาแก่พวกเจ้า เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงบัญชาแก่นูหฺ และที่เราได้มีวะห์ยูแก่เจ้าก็เช่นเดียวกับที่เราได้บัญชาแก่อิบรอฮีม มูซา และอีซา ว่าพวกเจ้าจงดำรงศาสนาไว้ให้คงมั่น และอย่าแตกแยกกันในเรื่องศาสนา เป็นเรื่องใหญ่หลวงหนักหนาสำหรับพวกตั้งภาคีในเรื่องที่เจ้าเรียกร้องเชิญชวนพวกเขาไปสู่ศาสนานั้น อัลลอฮฺทรงเลือกสำหรับพระองค์เป็นผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และทรงชี้แนะทางสู่พระองค์ให้แก่ผู้ที่ผินหน้าสู่พระองค์” (อัช-ชูรอ 13)
เมื่อความอยาก(ชะฮฺวะฮฺ)และผลประโยชน์ในตัวคนมีมากขึ้น ก็จะเพิ่มสภาวะของจิตใฝ่ต่ำ(ฮะวา)มากขึ้นตามไปด้วย และเมื่อฮะวามีอยู่มากจนเกินไปความเห็นก็จะแตกตัวตามออกมาอีกหลายแขนง สุดท้ายเมื่อความเห็นแตกต่างกันมากมายก็จะมีจำนวนกลุ่มและพวกต่างๆ มากขึ้นมาโดยปริยาย
ในสภาพที่เสียงของชาวอาหรับอ่อนแรงและไม่ได้รับความสนใจ ก็จะยิ่งเพิ่มความง่ายดายและอิทธิพลของการบิดเบือนและการสร้างความเคลือบแคลง รวมถึงการอุปโลกน์ข้ออ้างที่พาดพิงเอามาจากหะดีษและโองการของพระเจ้าเสียเอง
ถ้ากลุ่มต่างๆ ในยุคแรกและยุคต่อมา ได้เคยกระทำการเหล่านี้มาแล้วอย่างสะดวกง่ายดาย แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าวสำหรับกลุ่มต่างๆ ในยุคนี้ย่อมต้องง่ายและสะดวกกว่าอีก ตราบใดที่ยังมี ชะฮฺวะฮฺ และ ชุบฮะฮฺ อยู่ เพราะแท้จริง การสร้างความเคลือบแคลงหรือชุบฮะฮฺนั้น เริ่มต้นมาจากความอยากหรือชะฮฺวะฮฺก่อน จากนั้นจึงค่อยพัฒนามาเป็นชุบฮะฮฺ แล้วก็กลายพันธุ์เป็นลัทธิที่มีผู้ติดสอยห้อยตาม สุดท้าย คนทั่วไปก็จะยึดถือเอาบทสรุปของมันโดยปราศจากความรอบรู้ถึงที่มาที่ไปตั้งแต่แรกเริ่ม
อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿أَفَكُلَّمَا جَآءَكُمۡ رَسُولُۢ بِمَا لَا تَهۡوَىٰٓ أَنفُسُكُمُ ٱسۡتَكۡبَرۡتُمۡ فَفَرِيقٗا كَذَّبۡتُمۡ وَفَرِيقٗا تَقۡتُلُونَ ٨٧ ﴾ [البقرة: ٨٧]
ความว่า “หรือว่าทุกครั้งที่มีเราะสูลคนใดมายังสูเจ้าพร้อมกับสิ่งที่ใจของสูเจ้าไม่ชอบ สูเจ้าก็จะแสดงความยโสโอหัง บางส่วนจากบรรดาเราะสูลเหล่านั้นพวกเจ้าก็ปฏิเสธ และอีกบางส่วนพวกเจ้าก็ฆ่า” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 87)
ในอายะฮฺนี้ อัลลอฮฺพูดถึง จิตใฝ่ต่ำ(ฮะวา)ก่อน แล้วมันก็กลายมาเป็นความยโสโอหัง จากนั้นก็กลายมาเป็นการปฏิเสธศรัทธาแล้วจบลงด้วยการอธรรมเป็นศัตรูคู่แค้น ซึ่งจะเป็นเช่นนี้กับทุกๆ ลัทธิและแนวคิดหลงทางในทุกยุคสมัยและทุกกลุ่มชน
อัลลอฮฺได้ทรงประทานสัจธรรมและทางนำมายังท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ใครก็ตามที่ประสงค์จะรับมันในสภาพที่ใสสะอาดก็จงรับมันจากแหล่งเดิมอันแรกๆ ของมัน ก่อนที่มันจะถูกเอาไปผสมปนเปกับความคิดของคน
เพราะวะห์ยู(พระดำรัสและวิวรณ์ของอัลลอฮฺ)นั้นเปรียบได้เหมือนกับน้ำ ส่วนปัญญาของมนุษย์นั้นเหมือนภาชนะ อัลลอฮฺได้ส่งวะห์ยูมาแล้ววางไว้ในภาชนะ นั่นคือหัวใจของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จากนั้นท่านนบีก็ได้ถ่ายเทวะห์ยูให้กับบรรดาเศาะหาบะฮฺ แล้วเศาะหาบะฮฺก็ถ่ายเทให้กับบรรดาตาบิอีน ยิ่งมีการถ่ายเทมากเท่าไรความใสของน้ำก็จะยิ่งจางลงและจะยิ่งขุ่นมัว เพราะฉะนั้น ภาชนะที่ถูกต้องและสะอาดที่สุดก็คือภาชนะของคนรุ่นแรกๆ นั่นคือ เริ่มตั้งแต่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จากนั้นก็เป็นเศาะหาบะฮฺ แล้วก็เป็นเหล่าตาบิอีน ซึ่งมีบันทึกในหะดีษที่รายงานโดยมุสลิมจากอบู มูซา เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า
«أَنَا أَمَنَةٌ لأَصْحَابِي، فَإِذَا ذَهَبْتُ أَتَى أَصْحَابي مَا يُوعَدُونَ، وَأَصْحَابِي أَمَنَةٌ لأُمَّتِي، فَإِذَا ذَهَبَ أَصْحَابي أَتَى أُمَّتِي مَا يُوعَدُونَ» [مسلم برقم 2531]
ความว่า “ฉันเป็นหลักประกันความปลอดภัยแก่เศาะหาบะฮฺของฉัน เมื่อฉันจากไปก็จะมีสิ่งที่ถูกสัญญามายังเศาะหาบะฮฺของฉัน และบรรดาเศาะหาบะฮฺก็จะเป็นหลักประกันความปลอดภัยแก่ประชาชาติของฉัน เมื่อเศาะหาบะฮฺของฉันจากไปก็จะมีสิ่งที่ถูกสัญญามายังประชาชาติของฉัน” (มุสลิม หมายเลข 2531)
ดังนั้น ศาสนาจะต้องไม่ถูกนำเอามายึดถือปฏิบัตินอกเสียจากต้องผ่านวะห์ยูจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺเท่านั้น
﴿هُوَ ٱلَّذِي بَعَثَ فِي ٱلۡأُمِّيِّۧنَ رَسُولٗا مِّنۡهُمۡ يَتۡلُواْ عَلَيۡهِمۡ ءَايَٰتِهِۦ وَيُزَكِّيهِمۡ وَيُعَلِّمُهُمُ ٱلۡكِتَٰبَ وَٱلۡحِكۡمَةَ﴾ [الجمعة: ٢]
ความว่า “พระองค์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งในหมู่ผู้ไม่รู้หนังสือซึ่งศาสนทูต(เราะสูล)ขึ้นมาคนหนึ่งจากพวกเขาเอง เพื่อให้เขาอ่านโองการต่างๆ ของพระองค์แก่พวกเขา และเพื่อให้เขาขัดเกลาจิตใจคนเหล่านั้นให้บริสุทธิ์ และให้เขาสอนคัมภีร์และให้ความรู้แก่พวกเขา” (อัล-ญุมุอะฮฺ 2)
ความรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับศาสนาที่เอามาจากสิ่งอื่นนอกจากอัลกุรอานแลอ ะสุนนะฮฺถือว่าเป็นความโง่เขลา
และความเข้าใจที่ถูกต้องที่สุดเกี่ยวกับวะห์ยู คือความเข้าใจของบรรดาเศาะหาบะฮฺ
ในหนังสือเล่มนี้ เราจะกล่าวถึงสิ่งที่วะห์ยูได้พูดถึง และสิ่งที่บรรดาเศาะหาบะฮฺเข้าใจ และเป็นสิ่งที่ผู้คนในยุคที่ดีที่สุดเห็นพ้องกัน ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ ...
อิสลาม คือ ศาสนาของอัลลอฮฺผู้ทรงเอกะ พระองค์จะไม่ทรงรับศาสนาอื่นจากบ่าวของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือญิน พระองค์ตรัสว่า
﴿ وَمَن يَبۡتَغِ غَيۡرَ ٱلۡإِسۡلَٰمِ دِينٗا فَلَن يُقۡبَلَ مِنۡهُ﴾ [آل عمران: ٨٥]
ความว่า “และผู้ใดแสวงหาศาสนาหนึ่งศาสนาใดอื่นจากอิสลามแล้ว ศาสนานั้นก็จะไม่ถูกรับจากเขาเป็นอันขาด” (อาล อิมรอน 85)
﴿ إِنَّ ٱلدِّينَ عِندَ ٱللَّهِ ٱلۡإِسۡلَٰمُۗ ﴾ [آل عمران: ١٩]
ความว่า “แท้จริง ศาสนา ณ อัลลอฮฺนั้นคืออิสลาม” (อาล อิมรอน 19)
และอิสลามก็คือศาสนาของเหล่าศาสนทูตทั้งหมด อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿ وَمَآ أَرۡسَلۡنَا مِن قَبۡلِكَ مِن رَّسُولٍ إِلَّا نُوحِيٓ إِلَيۡهِ أَنَّهُۥ لَآ إِلَٰهَ إِلَّآ أَنَا۠ فَٱعۡبُدُونِ ٢٥ ﴾ [الأنبياء: ٢٥]
ความว่า “และเรามิได้ส่งศาสนทูตคนใดก่อนหน้าเจ้า นอกจากเราได้มีบัญชาแก่เขาว่า แท้จริงไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากข้า ดังนั้นพวกเจ้าจงเคารพภักดีต่อข้า” (อัล-อันบิยาอ์ 25)
﴿ ۞إِنَّآ أَوۡحَيۡنَآ إِلَيۡكَ كَمَآ أَوۡحَيۡنَآ إِلَىٰ نُوحٖ وَٱلنَّبِيِّۧنَ مِنۢ بَعۡدِهِۦۚ وَأَوۡحَيۡنَآ إِلَىٰٓ إِبۡرَٰهِيمَ وَإِسۡمَٰعِيلَ وَإِسۡحَٰقَ وَيَعۡقُوبَ وَٱلۡأَسۡبَاطِ وَعِيسَىٰ وَأَيُّوبَ وَيُونُسَ وَهَٰرُونَ وَسُلَيۡمَٰنَۚ وَءَاتَيۡنَا دَاوُۥدَ زَبُورٗا ١٦٣ وَرُسُلٗا قَدۡ قَصَصۡنَٰهُمۡ عَلَيۡكَ مِن قَبۡلُ وَرُسُلٗا لَّمۡ نَقۡصُصۡهُمۡ عَلَيۡكَۚ وَكَلَّمَ ٱللَّهُ مُوسَىٰ تَكۡلِيمٗا ١٦٤ رُّسُلٗا مُّبَشِّرِينَ وَمُنذِرِينَ لِئَلَّا يَكُونَ لِلنَّاسِ عَلَى ٱللَّهِ حُجَّةُۢ بَعۡدَ ٱلرُّسُلِۚ وَكَانَ ٱللَّهُ عَزِيزًا حَكِيمٗا ١٦٥ ﴾ [النساء: ١٦٣-١٦٥]
ความว่า “แท้จริง เราได้มีโองการแก่เจ้า เช่นเดียวกับที่เราได้มีโองการแก่นูหฺและบรรดานบีหลังจากเขา และเราได้มีโองการแก่อิบรอฮีม อิสมาอีล อิสหาก ยะอฺกูบ เหล่าลูกหลานของยะอฺกูบ อีซา อัยยูบ ยูนุส ฮารูน และสุลัยมาน และเราได้ประทานคัมภีร์ซะบูรฺให้แก่ดาวูด # และมีบรรดาศาสนทูตซึ่งเราได้เล่าถึงพวกเขาแก่เจ้ามาก่อนแล้ว และมีบรรดาศาสนทูตซึ่งเรามิได้เล่าแก่เจ้าเกี่ยวกับพวกเขา และอัลลอฮฺได้ตรัสแก่มูซาจริงๆ # พวกเขาเหล่านั้นคือบรรดาศาสนทูตที่มาในฐานะผู้แจ้งข่าวดีและในฐานะผู้ตักเตือน เพื่อว่ามนุษย์จะได้ไม่มีหลักฐานใดๆ อ้างแก้ตัวแก่อัลลอฮฺได้ในเมื่อมีบรรดาศาสนทูตเหล่านั้นแล้ว และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัน-นิสาอ์ 163-165)
หลังจากที่พระองค์ทรงกล่าวถึงนบีนูหฺ, อิบรอฮีม, อิสหาก, ยะอฺกูบ, ดาวูด, สุลัยมาน, อัยยูบ, ยูซุฟ, มูซา, ฮารูน, ซะการียา, ยะห์ยา, อีซา, อิลยาส, อิสมาอีล, อิลยะสะอฺ, ยูนุส และ ลูฏ จากนั้นพระองค์ก็ตรัสว่า
﴿ أُوْلَٰٓئِكَ ٱلَّذِينَ هَدَى ٱللَّهُۖ فَبِهُدَىٰهُمُ ٱقۡتَدِهۡۗ قُل لَّآ أَسَۡٔلُكُمۡ عَلَيۡهِ أَجۡرًاۖ إِنۡ هُوَ إِلَّا ذِكۡرَىٰ لِلۡعَٰلَمِينَ ٩٠ ﴾ [الأنعام: ٩٠]
ความว่า “ชนเหล่านี้ คือผู้ที่อัลลอฮฺได้ทรงให้ทางนำแก่พวกเขา ดังนั้น ด้วยแนวทางของพวกเขานี่แหละเจ้าจงเจริญรอยตามเถิด จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่าฉันจะไม่ขอต่อพวกท่านซึ่งค่าจ้างใดๆ ในการใช้ให้ศรัทธาต่ออัลกุรอาน มันมิใช่อะไรอื่นนอกจากคำตักเตือนสำหรับประชาชาติทั้งหลายเท่านั้น” (อัล-อันอาม 90)
ศาสนาของบรรดานบีนั้นจะเหมือนตรงกันหมดในประเด็นที่เป็นหลักการพื้นฐาน อาจจะมีต่างกันบ้างในเรื่องปลีกย่อยบางส่วนแต่ก็ไม่ทั้งหมด ส่วนปลีกย่อยอาจจะมีเปลี่ยนแปลงแต่ส่วนหลักการนั้นไม่มีเปลี่ยนแปลง แท้จริงอัลลอฮฺได้ส่งนบีมูซาและอีซามายังกลุ่มชนอิสรออีล ในคัมภีร์อินญีล(ไบเบิล)ที่ถูกประทานแก่นบีอีซาก็จะมีส่วนที่ยกเลิกบทบัญญัติบางส่วนในคัมภีร์เตารอต(โตราห์)ซึ่งถูกประทานให้แก่นบีมูซาด้วย ท่านนบีอีซา อะลัยฮิสสลาม ได้กล่าวแก่หมู่ชนของท่านว่า
﴿ وَمُصَدِّقٗا لِّمَا بَيۡنَ يَدَيَّ مِنَ ٱلتَّوۡرَىٰةِ وَلِأُحِلَّ لَكُم بَعۡضَ ٱلَّذِي حُرِّمَ عَلَيۡكُمۡۚ وَجِئۡتُكُم بَِٔايَةٖ مِّن رَّبِّكُمۡ فَٱتَّقُواْ ٱللَّهَ وَأَطِيعُونِ ٥٠ ﴾ [آل عمران: ٥٠]
ความว่า “และฉันจะเป็นผู้มายืนยันสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าของฉัน อันได้แก่คัมภีร์เตารอต และเพื่อที่ฉันจะได้อนุมัติแก่พวกท่านซึ่งบางสิ่งที่ถูกห้ามแก่พวกท่าน และฉันได้นำสัญญาณหนึ่งจากพระเจ้าของท่านมายังพวกท่านแล้ว ดังนั้นจึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิดและจงเชื่อฟังฉัน” (อาล อิมรอน 50)
มูซาและอีซานั้น ทั้งสองคนเป็นนบีที่ถูกส่งมายังประชาชาติเดียวกัน กระนั้นเรื่องปลีกย่อยของแต่ละสมัยก็ยังมีที่ต่างกันบ้าง นับประสาอะไรกับนบีอื่นๆ ที่ถูกส่งมายังประชาชาติที่ต่างกันไปเลยทีเดียว !
หลังจากนั้นไม่นาน ไม่มีบทบัญญัติไหนๆ ที่ถูกประทานให้เว้นแต่ว่ามีการบิดเบือนเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿ وَإِنَّ مِنۡهُمۡ لَفَرِيقٗا يَلۡوُۥنَ أَلۡسِنَتَهُم بِٱلۡكِتَٰبِ لِتَحۡسَبُوهُ مِنَ ٱلۡكِتَٰبِ وَمَا هُوَ مِنَ ٱلۡكِتَٰبِ وَيَقُولُونَ هُوَ مِنۡ عِندِ ٱللَّهِ وَمَا هُوَ مِنۡ عِندِ ٱللَّهِ وَيَقُولُونَ عَلَى ٱللَّهِ ٱلۡكَذِبَ وَهُمۡ يَعۡلَمُونَ ٧٨ ﴾ [آل عمران: ٧٨]
ความว่า “และแท้จริง จากหมู่พวกเขานั้น มีกลุ่มหนึ่งบิดลิ้นของพวกเขาในการอ่านคัมภีร์ เพื่อพวกเจ้าจะได้หลงกลคิดว่ามันมาจากคัมภีร์ ทั้งที่มันมิได้มาจากคัมภีร์ และพวกเขากล่าวแอบอ้างว่ามันมาจากที่อัลลอฮฺ ทั้งที่มันมิใช่มาจากอัลลอฮฺ และพวกเขากล่าวอ้างเท็จแก่อัลลอฮฺ ทั้งที่พวกเขาก็รู้กันดีอยู่” (อาล อิมรอน 78)
﴿يُحَرِّفُونَ ٱلۡكَلِمَ عَن مَّوَاضِعِهِۦ﴾ [النساء: ٤٦]
ความว่า “พวกเขาบิดเบือนถ้อยคำจากที่ต่างๆ ของมัน” (อัน-นิสาอ์ 46)
การณ์ดังกล่าวนั้นก่อให้เกิดอุปสรรคสำหรับคนทั่วไปที่จะเข้าถึงสัจธรรมความถูกต้องตามความหมายที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ วิธีการแก้ไขอุปสรรคดังกล่าวนี้ก็คือการแต่งตั้งนบีคนใหม่ พระองค์อัลลอฮฺจึงทรงให้ศาสนาอันถูกต้องของพระองค์ฟื้นขึ้นมาอีกครั้งด้วยการแต่งตั้งท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดังนั้น จึงไม่มีอิสลามใดๆ ที่บริสุทธิ์ และศาสนาใดๆ ที่ถูกต้อง นอกจากศาสนาที่ถูกนำมาโดยมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เท่านั้น
﴿ وَمَن يَبۡتَغِ غَيۡرَ ٱلۡإِسۡلَٰمِ دِينٗا فَلَن يُقۡبَلَ مِنۡهُ وَهُوَ فِي ٱلۡأٓخِرَةِ مِنَ ٱلۡخَٰسِرِينَ ٨٥ ﴾ [آل عمران: ٨٥]
ความว่า “และผู้ใดแสวงหาศาสนาหนึ่งศาสนาใดอื่นจากอิสลามแล้ว ศาสนานั้นก็จะไม่ถูกรับจากเขาเป็นอันขาด และในวันอาคิเราะฮฺเขาจะอยู่ในหมู่ผู้ขาดทุน” (อาล อิมรอน 85)
พระองค์ได้กำหนดให้สารแห่งอิสลามครอบคลุมสำหรับประชาชาติทั้งหมด ไม่ว่ามนุษย์หรือญิน ไม่ว่าอาหรับหรืออะญัม(คนที่ไม่ใช่อาหรับ)
﴿ وَمَآ أَرۡسَلۡنَٰكَ إِلَّا كَآفَّةٗ لِّلنَّاسِ بَشِيرٗا وَنَذِيرٗا﴾ [سبأ: ٢٨]
ความว่า “และเราไม่ได้ส่งเจ้ามา เว้นแต่เพื่อปวงมนุษย์ทั้งมวล ให้เป็นผู้แจ้งข่าวดีและผู้ตักเตือนแก่พวกเขา” (สะบะอ์ 28)
ในเศาะฮีหฺมุสลิมมีหะดีษที่รายงานว่า
«وَالَّذِى نَفْسُ مُحَمَّدٍ بِيَدِهِ، لاَ يَسْمَعُ بِى أَحَدٌ مِنْ هَذِهِ الأُمَّةِ، يَهُودِىٌّ وَلاَ نَصْرَانِىٌّ، ثُمَّ يَمُوتُ وَلَمْ يُؤْمِنْ بِالَّذِى أُرْسِلْتُ بِهِ؛ إِلاَّ كَانَ مِنْ أَصْحَابِ النَّارِ» [مسلم برقم 153]
ความว่า “ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ ผู้ซึ่งชีวิตของมุหัมมัดอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า ไม่มีใครที่ได้ฟังเกี่ยวกับฉันในหมู่ประชาชาตินี้ ไม่ว่าจะเป็นยิวหรือคริสต์ แล้วพวกเขาก็เสียชีวิตโดยที่ไม่ศรัทธาต่อสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่ฉัน นอกเสียจากว่าเขาต้องกลายเป็นชาวนรก” (มุสลิม หมายเลข 153)
และแท้จริง พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงพิทักษ์รักษาอัลกุรอานจากการถูกบิดเบือนแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง พระองค์ตรัสว่า
﴿ إِنَّا نَحۡنُ نَزَّلۡنَا ٱلذِّكۡرَ وَإِنَّا لَهُۥ لَحَٰفِظُونَ ٩ ﴾ [الحجر: ٩]
ความว่า “แท้จริง เราได้ประทานอัลกุรอานลงมา และแท้จริง เราจะเป็นผู้พิทักษ์รักษามัน” (อัล-หิจญ์รฺ 9)
```
ไม่มีผู้ใดสามารถอธิบายความหมายของอิสลามและชี้แจงถึงจุดประสงค์ของอัลลอฮฺที่มีอยู่ในคำสอนของอิสลาม (ได้อย่างถูกต้องและครอบคลุม) นอกจากอัลลอฮฺ ตามที่พระองค์ได้อธิบายไว้ในอัลกุรอานและในสุนนะฮฺของนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ผู้เป็นศาสนทูตของพระองค์ ดังนั้น จึงไม่มีมนุษย์คนใดจะมีสถานะที่สูงส่งกว่านบีหรือศาสนทูตของอัลลอฮฺ
ถึงแม้นบีจะมีสถานะที่สูงส่ง แต่ภารกิจของท่านเป็นเพียงผู้ป่าวประกาศและเผยแพร่สารจากพระผู้อภิบาลของท่านเท่านั้น อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ ۞يَٰٓأَيُّهَا ٱلرَّسُولُ بَلِّغۡ مَآ أُنزِلَ إِلَيۡكَ مِن رَّبِّكَۖ ﴾ [المائدة: ٦٧]
ความว่า “เราะสูลเอ๋ย! จงป่าวประกาศสิ่งที่ถูกประทานมาแก่เจ้าจากพระผู้อภิบาลของเจ้าเถิด” (อัล-มาอิดะฮฺ 67)
ส่วนหน้าที่ของนบีอีกประการหนึ่งคือการให้คำอธิบายควบคู่กับการป่าวประกาศ (สารจากอัลลอฮฺ) พระองค์ตรัสว่า
﴿وَمَا عَلَى ٱلرَّسُولِ إِلَّا ٱلۡبَلَٰغُ ٱلۡمُبِينُ ٥٤ ﴾ [النور: ٥٤]
ความว่า “และเราะสูลไม่มีหน้าที่อื่นใดนอกจากการป่าวประกาศที่ชัดเจน” (อัน-นูรฺ 54)
และการอธิบายอัลกุรอานเองก็มาจากอัลลอฮฺเช่นเดียวกัน พระองค์ตรัสว่า
﴿ فَإِذَا قَرَأۡنَٰهُ فَٱتَّبِعۡ قُرۡءَانَهُۥ ١٨ ثُمَّ إِنَّ عَلَيۡنَا بَيَانَهُۥ ١٩ ﴾ [القيامة: ١٨-١٩]
ความว่า “ดังนั้น เมื่อเราอ่านอัลกุรอาน เจ้าก็จงอ่านตามนั้น แล้วจากนั้น แท้จริงมันเป็นหน้าที่ของเราที่จะอธิบายอัลกุรอาน(แก่เจ้า)” (อัล-กิยามะฮฺ 18-19)
ส่วนสุนนะฮฺนั้น ก็เป็นวะห์ยูจากอัลลอฮฺประเภทหนึ่ง ที่ได้ประทานแก่ศาสนทูตของพระองค์ อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وَمَا يَنطِقُ عَنِ ٱلۡهَوَىٰٓ ٣ إِنۡ هُوَ إِلَّا وَحۡيٞ يُوحَىٰ ٤ ﴾ [النجم: ٣-٤]
ความว่า “และมุหัมมัดไม่ได้พูดจากอารมณ์ แต่เป็นวะห์ยูที่อัลลอฮฺทรงประทานให้” (อัน-นัจญ์มุ 3-4)
ดังนั้น ยามใดที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถูกถามเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งและท่านมีคำตอบอยู่แล้วซึ่งพระผู้อภิบาลของท่านได้ประทานวะห์ยูแก่ท่านก่อนหน้านั้น ท่านก็จะให้คำตอบต่อคำถามดังกล่าว และหากท่านยังไม่มีคำตอบหรือยังไม่ได้รับการประทานวะห์ยูเกี่ยวกับคำถามดังกล่าว ท่านก็จะประวิงคำตอบจนกว่าวะห์ยูจะถูกประทานลงมา
และผู้ที่ใกล้ชิดและเข้าใจท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มากที่สุดคือบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่าน ซึ่งความเข้าใจต่ออัลกุรอาน(คำอธิบาย)ของบรรดาเศาะหาบะฮฺสามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้
ถ้าหากผู้ใดกล่าวว่า มีใครบางคนอื่นจากอัลลอฮฺที่ครอบครองบทบัญญัติเกี่ยวกับศาสนา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่อนุมัติหรือสิ่งต้องห้าม แสดงว่าเขาผู้นั้นได้ตั้งภาคีให้มีหุ้นส่วนกับอัลลอฮฺในด้านการชี้ขาดของพระองค์ ความเชื่อดังกล่าวเท่ากับเป็นการปฏิเสธศรัทธาและตั้งภาคีต่อพระองค์อย่างเป็นเอกฉันท์
อัลลอฮฺจะไม่ทรงประทานคัมภีร์ของพระองค์นอกจากว่าทุกคำพูดของพระองค์จะมีความหมายที่พระองค์ทรงประสงค์ และความหมายที่พระองค์ทรงประสงค์นั้นจะไม่มีผู้ใดสามารถอธิบายหรือขยายความได้ถูกต้องนอกจากพระองค์เท่านั้น หรือบรรดาผู้ที่พระองค์ทรงอนุมัติเท่านั้น
สำหรับผู้ที่ทำการศึกษาและวิเคราะห์อัลกุรอานต้องคำนึงถึงสองเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. ต้องไม่ออกจากสำนวนภาษาอาหรับและโครงสร้างของประโยค ทั้งพยางค์เดี่ยวและพยางค์ประสม
2. ต้องไม่ค้านกับความหมายที่มีการยืนยันในอัลกุรอานอย่างชัดเจน
ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่า ทุกๆ สิ่งที่ถูกพาดพิงยังอัลลอฮฺจะเป็นสิ่งที่มาจากพระองค์จริง เพราะชาวคัมภีร์ได้หลงทางเนื่องจากพยายามวิเคราะห์จนเลยเถิด บิดเบือนในสิ่งที่ชัดเจน และพยายามลบล้างโองการที่คลุมเครือในทัศนะพวกเขา อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وَإِنَّ مِنۡهُمۡ لَفَرِيقٗا يَلۡوُۥنَ أَلۡسِنَتَهُم بِٱلۡكِتَٰبِ لِتَحۡسَبُوهُ مِنَ ٱلۡكِتَٰبِ وَمَا هُوَ مِنَ ٱلۡكِتَٰبِ وَيَقُولُونَ هُوَ مِنۡ عِندِ ٱللَّهِ وَمَا هُوَ مِنۡ عِندِ ٱللَّهِ وَيَقُولُونَ عَلَى ٱللَّهِ ٱلۡكَذِبَ وَهُمۡ يَعۡلَمُونَ ٧٨ ﴾ [آل عمران: ٧٨]
ความว่า “และแท้จริง จากหมู่พวกเขานั้น มีกลุ่มหนึ่งบิดลิ้นของพวกเขาในการอ่านคัมภีร์ เพื่อพวกเจ้าจะได้หลงกลคิดว่ามันมาจากคัมภีร์ ทั้งที่มันมิได้มาจากคัมภีร์ และพวกเขากล่าวแอบอ้างว่ามันมาจากที่อัลลอฮฺ ทั้งที่มันมิใช่มาจากอัลลอฮฺ และพวกเขากล่าวอ้างเท็จแก่อัลลอฮฺ ทั้งที่พวกเขาก็รู้กันดีอยู่” (อาล อิมรอน 78)
พระองค์บอกว่า พวกเขาจะบิดลิ้น “ด้วยคัมภีร์” ไม่ใช่ด้วยสิ่งอื่น เพื่อให้พวกเจ้าหลงกลคิดไปว่ามันมาจากคัมภีร์จริงๆ ทั้งนี้ เพราะความคล้ายกันจนแทบจะแยกไม่ออกนั่นเอง เพื่อที่พวกเขาจะได้หลอกลวงอย่างแนบเนียนลึกซึ้ง
```
สิทธิของอัลลอฮฺ คือการภักดีต่อพระองค์เพียงพระองค์เดียวในทุกมิติของการภักดี พระองค์ตรัสว่า
﴿ وَإِلَٰهُكُمۡ إِلَٰهٞ وَٰحِدٞۖ لَّآ إِلَٰهَ إِلَّا هُوَ ٱلرَّحۡمَٰنُ ٱلرَّحِيمُ ١٦٣ ﴾ [البقرة: ١٦٣]
ความหมาย “และพระเจ้าของพวกเจ้าคืออัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ไม่มีพระเจ้าอื่นใดอีกนอกจากพระผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 163)
และต้องไม่นำสิ่งอื่นมาเป็นภาคีกับพระองค์ ไม่ว่าด้วยใจ วาจา หรือกาย อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ ۞وَٱعۡبُدُواْ ٱللَّهَ وَلَا تُشۡرِكُواْ بِهِۦ شَيۡٔٗاۖ ﴾ [النساء: ٣٦]
ความว่า “และจงเคารพสักการะอัลลอฮฺเถิด และอย่านำสิ่งใดมาเป็นภาคีกับพระองค์” (อัน-นิสาอ์ 36)
การตั้งภาคีใหญ่(ชิริก อักบัรฺ) จะ(ล้างผลาญความดีต่างๆ จน)ไม่เหลือความดีใดๆ เลยสำหรับมนุษย์ อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وَلَقَدۡ أُوحِيَ إِلَيۡكَ وَإِلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكَ لَئِنۡ أَشۡرَكۡتَ لَيَحۡبَطَنَّ عَمَلُكَ وَلَتَكُونَنَّ مِنَ ٱلۡخَٰسِرِينَ ٦٥ ﴾ [الزمر: ٦٥]
ความว่า “และแท้จริง ได้มีวะห์ยูแก่เจ้า(โอ้มุหัมมัด)และบรรดานบีก่อนหน้าเจ้าว่า หากแม้นว่าเจ้าตั้งภาคี (ต่ออัลลอฮฺ) แน่นอนว่าการภักดีของเจ้า(ที่มีต่ออัลลอฮฺ)จะมลายสิ้น แล้วเจ้าก็จะกลายเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ขาดทุนอย่างแน่นอน” (อัซ-ซุมัรฺ 65)
พระดำรัสข้างต้นนั้นพาดพิงถึงศาสนทูตของพระองค์ คือท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วนับประสาอะไรกับผู้ที่มีสถานะต่ำกว่าท่านเล่า ?
อัลลอฮฺจะไม่ทรงประทานอภัยแก่บ่าวที่ตั้งภาคีกับพระองค์ นอกจากว่าบ่าวของพระองค์จะกลับตัวและเลิกจากการกระทำที่เป็นการตั้งภาคี พระองค์ตรัสว่า
﴿ إِنَّ ٱللَّهَ لَا يَغۡفِرُ أَن يُشۡرَكَ بِهِۦ وَيَغۡفِرُ مَا دُونَ ذَٰلِكَ لِمَن يَشَآءُۚ ﴾ [النساء: ٤٨]
ความว่า “แท้จริง อัลลอฮฺจะไม่ทรงประทานอภัยต่อการตั้งภาคีกับพระองค์ และพระองค์จะทรงประทานอภัยต่อความผิดที่เบากว่านั้นสำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์” (อันนิสาอ์ 48)
พระองค์ยังตรัสอีกว่า
﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ وَصَدُّواْ عَن سَبِيلِ ٱللَّهِ ثُمَّ مَاتُواْ وَهُمۡ كُفَّارٞ فَلَن يَغۡفِرَ ٱللَّهُ لَهُمۡ ٣٤ ﴾ [محمد: ٣٤]
ความว่า “แท้จริง บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและสกัดกั้นจากหนทางของอัลลอฮ แล้วพวกเขาก็เสียชีวิตลงในขณะที่ยังเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาอยู่ ดังนั้น อัลลอฮฺจะไม่ทรงประทานอภัยให้แก่พวกเขาตลอดกาล” (มุหัมมัด 34)
และผู้ใดเสียชีวิตในสภาพที่ปฏิเสธศรัทธา เขาก็จะตกนรก อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَمَن يَرۡتَدِدۡ مِنكُمۡ عَن دِينِهِۦ فَيَمُتۡ وَهُوَ كَافِرٞ فَأُوْلَٰٓئِكَ حَبِطَتۡ أَعۡمَٰلُهُمۡ فِي ٱلدُّنۡيَا وَٱلۡأٓخِرَةِۖ وَأُوْلَٰٓئِكَ أَصۡحَٰبُ ٱلنَّارِۖ هُمۡ فِيهَا خَٰلِدُونَ ٢١٧ ﴾ [البقرة: ٢١٧]
ความว่า “และผู้ใดในหมู่พวกเจ้ากลับตัวออกจากศาสนาของเขา แล้วเขาเสียชีวิตลงในสภาพที่เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาแล้วไซร้ การงานต่างๆ ของชนเหล่านี้จะล่มสลาย ทั้งบนโลกนี้และ ในโลกอาคิเราะฮฺ และชนเหล่านี้แหละคือชาวนรก ซึ่งพวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 217)
อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ وَمَاتُواْ وَهُمۡ كُفَّارٌ أُوْلَٰٓئِكَ عَلَيۡهِمۡ لَعۡنَةُ ٱللَّهِ وَٱلۡمَلَٰٓئِكَةِ وَٱلنَّاسِ أَجۡمَعِينَ ١٦١ ﴾ [البقرة: ١٦١]
ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา แล้วเขาเสียชีวิตลงในสภาพที่เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ชนเหล่านี้จะได้รับการสาปแช่งจากอัลลอฮฺ (ด้วยการทำให้เขาห่างไกลจากความเมตตาของพระองค์) และจะได้รับการสาปแช่งจากมะลาอิกะฮฺและมนุษย์ทั้งมวล” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 161)
บางที ในชีวิตของผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น อาจจะทำประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันไว้บ้าง การกระทำที่เป็นประโยชน์ดังกล่าวนั้นเป็นเพียงการแบกรับภาระทางธรรมชาติที่อัลลอฮฺได้มอบให้แก่เขา เสมือนกับที่สรรพสิ่งอื่นๆ ได้แบกรับภาระในการสร้างคุณูปการให้แก่มนุษย์ เช่นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ลม และก้อนเมฆ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ให้ประโยชน์แก่มนุษย์มากกว่ามนุษย์ด้วยกันเสียอีก
เพราะคำว่า “ปฏิเสธศรัทธา” นั้นหมายถึงการปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ไม่ใช่ปฏิเสธต่อสรรพสิ่งตามธรรมชาติ(ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น) และการลงโทษก็จะเกิดขึ้นจากการปฏิเสธสิทธิแห่งอัลลอฮฺ ไม่ใช่การปฏิเสธสิทธิแห่งสรรพสิ่งตามธรรมชาติ
```
อีมาน และ กุฟรฺ คือ คำนามสองคำและหุก่มสองหุก่มที่พระองค์อัลลอฮฺเท่านั้นเป็นผู้ชี้ขาด ดังนั้น จึงไม่สามารถเจาะจงว่าผู้ใดเป็นกุฟรฺเว้นแต่จะมีหลักฐานอ้างอิงอย่างชัดเจน โดยมนุษย์บนโลกนี้แบ่งเป็นสองกลุ่มเท่านั้น คือ ผู้ศรัทธา และ ผู้ไม่ศรัทธา พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
﴿ هُوَ ٱلَّذِي خَلَقَكُمۡ فَمِنكُمۡ كَافِرٞ وَمِنكُم مُّؤۡمِنٞۚ ﴾ [التغابن: ٢]
ความว่า “พระองค์ คือผู้ทรงสร้างสูเจ้า แล้วในหมู่สูเจ้าก็มีคนที่เป็นกาฟิรฺ และมีคนที่เป็นมุอ์มิน” (อัต-ตะฆอบุน :2)
ทั้งนี้ หุก่มชี้ขาดต่อบุคคลสองกลุ่มนี้ต้องเป็นหุก่มที่ถูกประทานโดยพระองค์อัลลอฮฺในคัมภีร์ของอัลลอฮฺและในหะดีษนบีของพระองค์เท่านั้น
ส่วนคนมุนาฟิกนั้น พวกเขาแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้
หนึ่ง คนกาฟิรที่ปกปิดความกุฟรฺและแสร้งแสดงความอีมาน เช่น ผู้แสร้งแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าตนเป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ คัมภีร์ และ เราะสูลของพระองค์ แต่ภายในใจพวกเขากลับต่อต้าน ไม่ศรัทธา ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือเป็น การนิฟากใหญ่
สอง คนมุสลิมที่ปกปิดมะศิยะฮฺและแสร้งแสดงทำเป็นผู้ภักดี เช่น ผู้แสร้งทำเป็นผู้ทำตามสัญญาและปกปิดการฉ้อโกงและบิดพลิ้ว หรือ แสร้งทำจริงใจในคำพูดและปกปิดความหลอกลวงไว้ในใจ นี่คือ การนิฟากเล็ก
อนึ่ง กฎในการคลุกคลีกับคนมุนาฟิกนั้นให้ยึดหุก่มผิวเผินหรือให้มองจากการแสดงออก กล่าวนที่ทคือให้คลุกคลีกันในฐานะที่เขาเป็นชาวมุสลิมตามสิ่งที่เห็นจากการแสดงออกของพวกเขา
กฎเดิมของทรัพย์สมบัติและเลือดเนื้อของชาวมุสลิมคือหะรอม และของกาฟิรฺคือหะลาล แต่ก็ไม่ใช่จะคงที่เช่นนี้เสมอไป เพราะบางทีคนกาฟิรฺอาจได้รับการคุ้มครองอันเนื่องจากพันธะสัญญา การสงบศึก หรือการเป็นประชาชนของประเทศอิสลาม ในขณะที่คนมุสลิมเองอาจต้องโทษประหารชีวิตเพราะความผิดบาป เช่น การฆ่าผู้อื่น หรือการซินาหลังจากที่แต่งงานแล้ว เป็นต้น
ทั้งนี้ บุคคลหนึ่งย่อมไม่ถูกตราว่าเป็นกุฟรฺนอกจากเป็นผู้ที่พระองค์อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ชี้ขาดเท่านั้น เช่น
- เป็นผู้ปฏิเสธพระองค์อัลลอฮฺหรือนบีของพระองค์อัลลอฮฺ
- หรือ เยาะเย้ย ดูหมิ่นพระองค์อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
﴿قُلۡ أَبِٱللَّهِ وَءَايَٰتِهِۦ وَرَسُولِهِۦ كُنتُمۡ تَسۡتَهۡزِءُونَ ٦٥ لَا تَعۡتَذِرُواْ قَدۡ كَفَرۡتُم بَعۡدَ إِيمَٰنِكُمۡۚ إِن نَّعۡفُ عَن طَآئِفَةٖ مِّنكُمۡ نُعَذِّبۡ طَآئِفَةَۢ بِأَنَّهُمۡ كَانُواْ مُجۡرِمِينَ ٦٦ ﴾ [التوبة: ٦٥- ٦٦]
ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่าพวกท่านทำเล่นๆ กับพระองค์อัลลอฮฺ โองการของพระองค์และเราะสูลของพระองค์กระนั้นหรือ? พวกท่านอย่ามาแก้ตัวเลย แท้จริงพวกท่านได้ตกเป็นกาฟิรฺแล้ว หลังจากที่เคยศรัทธามา หากเราจะอภัยโทษให้แก่กลุ่มหนึ่งในหมู่พวกเจ้า เราก็จะลงโทษอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะพวกเขาเป็นผู้กระทำความผิด” (อัต-เตาบะฮฺ :65-66)
พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
﴿ إِنَّمَا يَفۡتَرِي ٱلۡكَذِبَ ٱلَّذِينَ لَا يُؤۡمِنُونَ بَِٔايَٰتِ ٱللَّهِۖ وَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡكَٰذِبُونَ ١٠٥ ﴾ [النحل: ١٠٥]
ความว่า ًมีเพียงพวกที่ไม่ศรัทธาต่อโองการต่างๆ ของพระองค์อัลลอฮฺเท่านั้นที่ปั้นเรื่องเท็จขึ้น พวกเหล่านี้แหละคือพวกโกหก” (อัล-นะห์ลฺ :105)
พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
﴿ وَمَنۡ أَظۡلَمُ مِمَّنِ ٱفۡتَرَىٰ عَلَى ٱللَّهِ كَذِبًا أَوۡ كَذَّبَ بِٱلۡحَقِّ لَمَّا جَآءَهُۥٓۚ أَلَيۡسَ فِي جَهَنَّمَ مَثۡوٗى لِّلۡكَٰفِرِينَ ٦٨ ﴾ [العنكبوت: ٦٨]
ความว่า “และใครเล่าจะอธรรมยิ่งไปกว่าผู้กุความเท็จขึ้นแอบอ้างพระองค์อัลลอฮฺ หรือปฏิเสธสัจธรรมเมื่อมาถึง ในนรกญะฮันนัมนั้นมีที่พำนักสำหรับบรรดาคนกาฟิรฺไม่ใช่ดอกหรือ ?” (อัล-อันกะบูต :68)
- หรือ ทำอิบาดะฮฺต่อผู้อื่นนอกเหนือพระองค์อัลลอฮฺ พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
﴿ وَمَن يَدۡعُ مَعَ ٱللَّهِ إِلَٰهًا ءَاخَرَ لَا بُرۡهَٰنَ لَهُۥ بِهِۦ فَإِنَّمَا حِسَابُهُۥ عِندَ رَبِّهِۦٓۚ إِنَّهُۥ لَا يُفۡلِحُ ٱلۡكَٰفِرُونَ ١١٧ ﴾ [المؤمنون: ١١٧]
ความว่า “และผู้ใดวิงวอนขอจากพระเจ้าอื่นคู่เคียงกับอัลลอฮฺ โดยไม่มีหลักฐานพิสูจน์แก่เขาในการนี้ แท้จริงบัญชีของเขาอยู่ที่พระเจ้า แท้จริงบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาจะไม่ประสบความสำเร็จ” (อัล-มุอ์มินูน :117)
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นอิบาดะฮฺที่ทำเพื่อผู้อื่นนอกเหนือจากพระองค์อัลลอฮฺ หรือ ยึดเอาพระเจ้าจอมปลอมต่างๆ เป็นสื่อกลาง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นกุฟรฺ พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
﴿ وَيَعۡبُدُونَ مِن دُونِ ٱللَّهِ مَا لَا يَضُرُّهُمۡ وَلَا يَنفَعُهُمۡ وَيَقُولُونَ هَٰٓؤُلَآءِ شُفَعَٰٓؤُنَا عِندَ ٱللَّهِۚ قُلۡ أَتُنَبُِّٔونَ ٱللَّهَ بِمَا لَا يَعۡلَمُ فِي ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَلَا فِي ٱلۡأَرۡضِۚ سُبۡحَٰنَهُۥ وَتَعَٰلَىٰ عَمَّا يُشۡرِكُونَ ١٨ ﴾ [يونس: ١٨]
ความว่า “และพวกเขาจะเคารพภักดีสิ่งอื่นนอกเหนือจากพระองค์อัลลอฮฺ ที่มิให้คุณให้โทษแก่พวกเขา และพวกเขาจะกล่าวว่า เหล่านี้คือผู้ช่วยเหลือเรา ณ พระองค์อัลลอฮฺ จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) พวกท่านจะมาบอกอัลลอฮฺเกี่ยวกับสิ่งในชั้นฟ้าต่างๆ และในแผ่นดินที่พระองค์ไม่ทรงรู้กระนั้นหรือ ? พระองค์ทรงมหาบริสุทธิ์และทรงสูงส่งเหนือสิ่งที่พวกเขาตั้งภาคีขึ้น” (ยูนุส :18)
- หรือ ทำอิบาดะฮฺต่อผู้อื่นในสิ่งที่สมควรกระทำต่อพระองค์อัลลอฮฺเพียงผู้เดียวเท่านั้น เช่น ละเมิดสิทธิในการตราบทกฎหมายและออกหุก่ม โดยทำเรื่องหะรอมให้เป็นเรื่องหะลาล เพราะการตราบทกฎหมายและออกหุก่มเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺเรียกว่าอิบาดะฮฺ ดังที่พระองค์อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า :
﴿ إِنِ ٱلۡحُكۡمُ إِلَّا لِلَّهِ أَمَرَ أَلَّا تَعۡبُدُوٓاْ إِلَّآ إِيَّاهُۚ ذَٰلِكَ ٱلدِّينُ ٱلۡقَيِّمُ وَلَٰكِنَّ أَكۡثَرَ ٱلنَّاسِ لَا يَعۡلَمُونَ ٤٠ ﴾ [يوسف: ٤٠]
ความว่า “การบัญญัติกฎเป็นสิทธิสงวนไว้สำหรับพระองค์อัลลอฮฺเท่านั้น พระองค์ทรงใช้มิให้พวกท่านเคารพอิบาดะฮฺสิ่งใดนอกจากต่อพระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้น นั่นคือศาสนาที่เที่ยงธรรมแต่มนุษย์ส่วนใหญ่มักไม่รู้” (ยูซุฟ :40)
- หรือ ยอมรับว่ามีผู้อื่นนอกเหนือพระองค์อัลลอฮฺล่วงรู้สิ่งเร้นลับ เช่น ทำไสยศาสตร์ หรือ ดูหมอ พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
﴿ قُل لَّا يَعۡلَمُ مَن فِي ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضِ ٱلۡغَيۡبَ إِلَّا ٱللَّهُۚ﴾ [النمل: ٦٥]
ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ไม่มีผู้ใดในชั้นฟ้าต่างๆ และแผ่นดินจะรู้ในสิ่งพ้นญาณวิสัย นอกจากพระองค์อัลลอฮฺ และพวกเขาจะไม่รู้ว่า เมื่อไหร่พวกเขาจะถูกฟื้นคืนชีพ” (อัน-นัมลฺ :65)
- หรือ อ้างความสามารถในการสร้างและบริหารจักรวาล ชีวิต และความตาย พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
﴿أَمۡ جَعَلُواْ لِلَّهِ شُرَكَآءَ خَلَقُواْ كَخَلۡقِهِۦ فَتَشَٰبَهَ ٱلۡخَلۡقُ عَلَيۡهِمۡۚ قُلِ ٱللَّهُ خَٰلِقُ كُلِّ شَيۡءٖ وَهُوَ ٱلۡوَٰحِدُ ٱلۡقَهَّٰرُ ١٦ ﴾ [الرعد: ١٦]
ความว่า “หรือพวกเขานั้นได้ยึดเอาเหล่าภาคีที่สามารถบันดาลสร้างเหมือนกับการสร้างของพระองค์ จนพวกเขาสับสนแยกแยะงานสร้างไม่ถูกกระนั้นหรือ? จงกล่าวเถิด พระองค์อัลลอฮฺคือผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง และพระองค์คือผู้ทรงเอกะ ผู้ทรงพิชิต” (อัร-เราะอฺด์ :16)
- เช่นเดียวกับการยึดถือคนกาฟิรฺเป็นขวัญใจเฉกเช่นชาวมุสลิม ไม่ว่าจะอยู่ในรูปการมอบความรักหรือการให้ความช่วยเหลือ พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
﴿وَمَن يَتَوَلَّهُم مِّنكُمۡ فَإِنَّهُۥ مِنۡهُمۡۗ ﴾ [المائدة: ٥١]
ความว่า “และผู้ใดในหมู่สูเจ้ายึดติดผูกพันกับพวกเขา แน่นอนผู้นั้นก็เป็นผู้หนึ่งของพวกเขา” (อัล-มาอิดะฮฺ :51)
และผู้ใดสามารถจะเข้าถึงความรู้อิสลามได้แต่เขากลับละเว้นและหันหลังด้วยความสมัครใจ คนเช่นนี้คือคนกาฟิรฺ แม้ว่าจะกระทำโดยไม่รู้ก็ตาม เพราะเขาจัดเป็นคนไม่รู้ประเภทที่สามารถเรียนได้แต่ไม่ยอมเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้ พระองค์อัลลอฮฺ จึง ได้ตรัสว่า :
﴿بَلۡ أَكۡثَرُهُمۡ لَا يَعۡلَمُونَ ٱلۡحَقَّۖ فَهُم مُّعۡرِضُونَ ٢٤ ﴾ [الأنبياء: ٢٤]
ความว่า “แต่ว่าพวกเขาส่วนใหญ่มักไม่รู้ความจริง เลยจึงหันหลังเมินห่าง” (อัล-อันบิยาอ์ :24)
ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ ได้ระบุว่าพวกคนเหล่านี้เป็นคนโง่ด้วยความยินยอม พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
﴿وَٱلَّذِينَ كَفَرُواْ عَمَّآ أُنذِرُواْ مُعۡرِضُونَ ٣ ﴾ [الأحقاف: ٣]
ความว่า “แต่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาเป็นผู้หันหลังให้กับคำตักเตือน” (อัล-อะหฺกอฟ :3)
ทั้งนี้ ความไม่รู้ในรายละเอียดของอิสลามเพราะการหันหลังให้กับความจริงยามเมื่อได้ฟังนั้น ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างต่อหน้าอัลลอฮฺได้ ส่วนมากผู้คนมักตกอยู่ในความหลงผิดเพราะกรณีเช่นนี้แหละ เพราะได้ฟังความจริงแบบขาดวรรคขาดตอนแล้วก็หันหลังทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ในรายละเอียด
ดังนั้น การไม่รู้จักไตร่ตรองในหลักฐานทางธรรมชาติที่อัลลอฮฺทรงสร้างและทางศาสนาที่ทรงบัญญัติจึงเป็นคุณลักษณะของคนกาฟิรฺส่วนใหญ่ พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
﴿ وَكَأَيِّن مِّنۡ ءَايَةٖ فِي ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضِ يَمُرُّونَ عَلَيۡهَا وَهُمۡ عَنۡهَا مُعۡرِضُونَ ١٠٥ ﴾ [يوسف: ١٠٥]
ความว่า “และมีสัญญาณในชั้นฟ้าและแผ่นดินมากไหนแล้วที่พวกเขาเจอพบ แต่พวกเขากลับหันหลังไม่แยแส”(ยูซุฟ :105)
และพระองค์อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า :
﴿بَلۡ أَتَيۡنَٰهُم بِذِكۡرِهِمۡ فَهُمۡ عَن ذِكۡرِهِم مُّعۡرِضُونَ ٧١ ﴾ [المؤمنون: ٧١]
ความว่า “แต่ทว่าเราได้นำบทเตือนตนของพวกเขา(คืออัลกุรอาน)มาให้พวกเขาแล้ว แต่พวกเขาเป็นผู้หันหลังให้กับบทเตือนตนของพวกเขา” (อัล-มุอ์มินูน :7)
การไม่ปฏิบัติเพราะมีความรู้ไม่เพียงพอนั้น ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างให้หลุดพ้นจากความบกพร่องไม่ปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ในระหว่างมนุษย์ด้วยกันได้ แล้วนับประสบอะไรกับความบกพร่องในสิทธิและหน้าที่ที่ผูกพันกับพระองค์อัลลอฮฺ
ฉะนั้น สติปัญญา จึงไม่มีความหมายหากไม่วิเคราะห์และไตร่ตรองสัญญาณความยิ่งใหญ่ของพระองค์อัลลอฮฺ มันจะใช้ประโยชน์ไม่ได้เลยแม้ว่าจะมีสิ่งแปลกประหลาดทุกๆ วันปรากฏให้เห็น พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
﴿ وَجَعَلۡنَا ٱلسَّمَآءَ سَقۡفٗا مَّحۡفُوظٗاۖ وَهُمۡ عَنۡ ءَايَٰتِهَا مُعۡرِضُونَ ٣٢ ﴾ [الأنبياء: ٣٢]
ความว่า “และเราได้สร้างชั้นฟ้าให้เป็นหลังคาที่แข็งแกร่ง และพวกเขาก็ยังไม่แยแสกับสัญญาณความอลังการต่าง ๆ ของมัน” (อัล-อันบิยาอ์ :32)
มนุษย์จึงเข้าใจผิดที่คิดว่าเขาสามารถลอยนวลจากความผิดบาปในการไม่ปฏิบัติตามศาสนาอย่างละเอียดและหันหลังให้กับอิสลาม
สรุปแล้ว สาเหตุแห่งการเพิกเฉยต่อศาสนานั้นเป็นเพราะความหยิ่งยโส หรือ หลงระเริง หรือ ใฝ่ต่ำตามอารมณ์ ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อความทุกข์ยากเกิดขึ้น มันจะกวาดความหยิ่งยโสและความสุขสบายออกไป เขาก็จะมองเห็นความจริงและหวนกลับอยู่ในหนทางที่ถูกต้องอีกครั้ง
```
อีมาน (ความศรัทธา) คือ วาจา การปฏิบัติ และความเชื่อมั่น สามประการนี้คือองค์ประกอบของอีมาน ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับการละหมาดมัฆริบ ซึ่งมีจำนวนสามร็อกอะฮฺ หากผู้ใดปฏิบัติขาดไปแม้เพียงหนึ่งร็อกอะฮฺ ก็ไม่ถือว่าเป็นการละหมาดมัฆริบ เช่นเดียวกับอีมาน เมื่อองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง (วาจา การปฏิบัติ และความเชื่อมั่น) ขาดไปก็ไม่ถือว่าเป็นอีมาน
เราไม่สามารถเรียกองค์ประกอบสามประการนี้ว่าเป็นเงื่อนไข(ชุรูฏ) ของอีมาน หรือ สิ่งจำเป็น(วาญิบ) ของอีมาน หรือหลักการ (รุก่น) ของอีมาน แม้ว่าศัพท์เฉพาะเหล่านี้จะนำซึ่งความหมายที่ถูกต้อง แต่บางครั้งก็อาจทำให้เกิดข้อผูกมัดที่ผิดๆ ในประเด็นต่อเนื่อง
แท้จริง องค์ประกอบสามประการนี้ หากมีการปฏิเสธส่วนใดส่วนหนึ่งก็ถือว่าเป็นการปฏิเสธอีมานทั้งหมด เหล่านี้คือสิ่งพิเศษที่มีเฉพาะในศาสนบัญญัติของประชาชาตินบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เท่านั้น ซึ่งความศรัทธาไม่ได้หมายถึงแค่ความปรารถนาดีที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ หรือการไม่ทุจริตเท่านั้น เนื่องจากพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนชื่นชอบอยู่แล้วแม้ว่าเขาผู้นั้นจะไม่ศรัทธาต่อพระผู้สร้างก็ตาม
แต่อีมาน หมายถึง วาจาและการงานของหัวใจ
วาจาของหัวใจ คือ ความเชื่อมั่นและศรัทธาว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรเคารพสักการะนอกจากอัลลอฮฺ และมุหัมมัดคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ และศรัทธาว่าคำสอนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นำจากอัลลอฮฺมาเผยแผ่(แก่มวลมนุษย์)คือสัจธรรม
การงานของหัวใจ คือ ความรักที่มีต่ออัลลอฮฺ ต่อท่านนบีของพระองค์ ต่อศาสนาอิสลาม ตลอดจนความรักที่มีต่อสิ่งที่อัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์โปรดปราน และบริสุทธิ์ใจในการภักดีต่อพระองค์
วาจา ณ ที่นี้มิได้จำกัดเฉพาะคำพูดที่ดีทั่วไป เช่น สัจจะวาจา คำพูดที่อ่อนโยนกับบิดามารดา การกล่าวทักทาย หรือการชี้แนะทางเดินสำหรับผู้หลงทาง เนื่องจากวาจาเช่นนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนชื่นชอบแม้จะเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮฺก็ตาม แต่วาจาใจ ณ ที่นี้หมายถึง สิ่งพิเศษที่มีเฉพาะในศาสนบัญญัติของประชาชาตินบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เท่านั้น วาจาใจที่ประเสริฐที่สุดคือการกล่าวคำปฏิญาณสองประโยค (อัช-ชะฮาดะตัยนฺ) การกล่าวตัสบีหฺ และการกล่าวตักบีรฺ เป็นต้น
การงาน ณ ที่นี้มิได้จำกัดเฉพาะการงานที่ดีทั่วไป เช่น ความกตัญญูต่อบิดามารดา การขจัดสิ่งปฏิกูลหรือสิ่งอันตรายบนท้องถนน การให้อาหารแก่คนยากจน การช่วยเหลือผู้ที่ถูกอธรรม การต้อนรับแขก เป็นต้น เนื่องจากการกระทำเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนชื่นชอบแม้ว่าเขาผู้นั้นจะไม่ได้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺก็ตาม
แต่การงาน ณ ที่นี้หมายถึง การงานเฉพาะที่อัลลอฮฺให้ศาสนทูตของพระองค์นำมาเผยแพร่ เช่น การละหมาด การจ่ายซะกาต การถือศีลอด การประกอบพิธีหัจญ์ เป็นต้น
การงานที่ดี ที่ทุกศาสนาแห่งฟากฟ้าและสัญชาติญาณความเป็นมนุษย์ต่างยอมรับว่าเป็นการงานที่ดี เช่น ความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ มีสัจจะในคำพูด ความกตัญญูต่อบิดามารดา การบริจาคอาหารแก่คนจน การขจัดสิ่งที่เป็นอันตรายบนท้องถนน เป็นต้น หากการงานเหล่านั้นกระทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจต่ออัลอฮฺก็จะทำให้อีมานเพิ่มขึ้น และหากบุคคลใดไม่ได้กระทำสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นก็ไม่ได้ถือว่าเขาผู้นั้นไร้อีมาน และการมีอยู่ของการงานเหล่านั้นมิได้ชี้ให้เห็นว่ามีอีมานอยู่ด้วยเสมอไป หากแต่เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าสัญชาติญาณดั้งเดิมที่ถูกต้องของมวลมนุษย์นั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงคือยอมรับในสัจธรรมเสมอ ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿فِطۡرَتَ ٱللَّهِ ٱلَّتِي فَطَرَ ٱلنَّاسَ عَلَيۡهَاۚ﴾ [الروم: ٣٠]
ความว่า “คือกมลสันดานตามธรรมชาติแห่งการเสกสรรค์ของอัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาบนฐานแห่งนี้” (อัร-รูม : 30)
อีมาน มีการเพิ่ม มีการลด และมีการสูญสิ้น อีมานจะเพิ่มขึ้นด้วยการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ อีมานจะลดลงด้วยการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือเนรคุณอัลลอฮฺ และอีมานจะไม่สูญสิ้นนอกจากด้วยการปฏิเสธศรัทธาและการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ พระองค์ตรัสว่า
﴿ إِنَّمَا ٱلۡمُؤۡمِنُونَ ٱلَّذِينَ إِذَا ذُكِرَ ٱللَّهُ وَجِلَتۡ قُلُوبُهُمۡ وَإِذَا تُلِيَتۡ عَلَيۡهِمۡ ءَايَٰتُهُۥ زَادَتۡهُمۡ إِيمَٰنٗا وَعَلَىٰ رَبِّهِمۡ يَتَوَكَّلُونَ ٢ ﴾ [الأنفال: ٢]
ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ที่ศรัทธานั้น คือ ผู้ที่เมื่ออัลลอฮฺถูกกล่าวขึ้นแล้ว หัวใจของพวกเขาก็หวั่นเกรง และเมื่อบรรดาโองการของพระองค์ถูกอ่านแก่พวกเขา โองการเหล่านั้นก็เพิ่มพูนความศรัทธาแก่พวกเขา และแด่พระเจ้าของพวกเขานั้น พวกเขามอบหมายกัน” (อัล-อันฟาล : 2)
และพระองค์ยังตรัสอีกว่า
﴿وَيَزۡدَادَ ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ إِيمَٰنٗا﴾ [المدثر: ٣١]
ความว่า “…และบรรดาผู้ศรัทธาจะได้เพิ่มพูนการศรัทธา...” (อัล-มุดดัษษิรฺ : 31)
และพระองค์ยังตรัสอีกว่า
﴿ هُوَ ٱلَّذِيٓ أَنزَلَ ٱلسَّكِينَةَ فِي قُلُوبِ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ لِيَزۡدَادُوٓاْ إِيمَٰنٗا مَّعَ إِيمَٰنِهِمۡۗ﴾ [الفتح: ٤]
ความว่า “พระองค์คือผู้ทรงประทานความสงบลงมาในจิตใจของบรรดาผู้ศรัทธา เพื่อพวกเขาจะได้เพิ่มพูนการศรัทธาให้กับศรัทธาที่มีอยู่แล้วของพวกเขา...” (อัล-ฟัตหฺ : 4)
อีมานจะไม่ปรากฏขึ้น นอกจากด้วยสิ่งต่อไปนี้
- ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธา ด้วยวาจาใจ คือ ศรัทธาต่อสาส์นแห่งอิสลาม และด้วยการงานของจิตใจ คือความรักที่มีต่ออัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ และรักในสิ่งที่อัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์โปรดปราน
- ด้วยวาจาของลิ้น
- แล้วด้วยการกระทำของอวัยวะอื่นๆ
ผู้ใดที่ศรัทธามั่นด้วยใจ และมีความสามารถเปล่งวาจา แต่ทว่าเขาไม่ยอมเปล่งวาจาแห่งศรัทธาออกมา เขาผู้นั้นก็ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ศรัทธา
ผู้ใดที่ศรัทธามั่นด้วยใจ ได้เปล่งวาจาแห่งศรัทธา และมีความสามารถที่จะปฏิบัติตามแนวทางท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แต่ทว่าเขาไม่ยอมปฏิบัติตาม เขาผู้นั้นก็ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ศรัทธา
ส่วนผู้ใดที่ต้องการจะเปล่งวาจาหรือปฏิบัติการงานที่ดี แต่ทว่าเขาไม่มีความสามารถที่จะกระทำได้ อัลลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿ لَا يُكَلِّفُ ٱللَّهُ نَفۡسًا إِلَّا وُسۡعَهَاۚ ﴾ [البقرة: ٢٨٦]
ความว่า “อัลลอฮฺจะไม่ทรงบังคับใช้ชีวิตหนึ่งชีวิตใดนอกจากตามความสามารถของชีวิตนั้นเท่านั้น...” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 286)
พระองค์ตรัสอีกว่า
﴿لَا يُكَلِّفُ ٱللَّهُ نَفۡسًا إِلَّا مَآ ءَاتَىٰهَاۚ ﴾ [الطلاق: ٧]
ความว่า “...อัลลอฮฺมิได้ทรงบังคับใช้ชีวิตใด เว้นแต่ตามที่พระองค์ทรงประทานมาแก่ชีวิตนั้น...” (อัฏ-เฏาะลาก: 7)
```
อัลลอฮฺทรงมีคุณลักษณะอันสูงส่ง มีพระนามอันงดงาม ไม่มีใครที่จะรู้จักพระองค์ดียิ่งไปกว่าตัวพระองค์เอง เพราะฉะนั้น เราจึงปฏิเสธคุณลักษณะต่างๆ ที่พระองค์เองปฏิเสธ เรายืนยันคุณลักษณะต่างๆ ตามที่พระองค์เองได้ยืนยันในคัมภีร์ของพระองค์ ในสุนนะฮฺนบีของพระองค์ เราจะปฏิเสธทุกสิ่งที่เป็นข้อบกพร่องต่อพระองค์โดยภาพรวม(อัน-นัฟย์ อัล-มุจญ์มัล) เราจะยืนยันทุกคุณลักษณะที่ดีงามอันสมบูรณ์แก่พระองค์โดยละเอียด(อัล-อิษบาต อัล-มุฟัศศ็อล) เราจะไม่อธิบายวิธีการ(ตักยีฟ) ไม่เปรียบเทียบ(ตัชบีฮฺ) และไม่ยกคู่เสมอเหมือน(ตัมษีล)
ใครก็ตามที่ให้คุณลักษณะอันบกพร่องแก่พระองค์แบบละเอียด เราก็จะปฏิเสธคุณลักษณะเหล่านั้นจากพระองค์โดยละเอียดเช่นกัน ดังที่พระองค์ทรงปฏิเสธการมีคู่ครองและบุตรจากตัวพระองค์เองว่า
﴿أَنَّىٰ يَكُونُ لَهُۥ وَلَدٞ وَلَمۡ تَكُن لَّهُۥ صَٰحِبَةٞۖ ﴾ [الأنعام: ١٠١]
ความว่า “พระองค์จะมีบุตรได้อย่างไร ในเมื่อพระองค์ไม่ทรงมีคู่ครอง” (อัล-อันอาม 101)
﴿ لَمۡ يَلِدۡ وَلَمۡ يُولَدۡ ٣ ﴾ [الإخلاص: ٣]
ความว่า “พระองค์ไม่ทรงมีบุตร และไม่ทรงถูกกำเนิด” (อัล-อิคลาศ 3)
พระองค์ปฏิเสธคุณลักษณะที่ยิวได้กล่าวหาว่าพระองค์เป็นผู้ตระหนี่
﴿ وَقَالَتِ ٱلۡيَهُودُ يَدُ ٱللَّهِ مَغۡلُولَةٌۚ غُلَّتۡ أَيۡدِيهِمۡ وَلُعِنُواْ بِمَا قَالُواْۘ بَلۡ يَدَاهُ مَبۡسُوطَتَانِ﴾ [المائدة: ٦٤]
ความว่า “บรรดายิวได้กล่าวอ้างว่า พระหัตถ์ของอัลลอฮฺนั้นถูกล่าม มือของพวกเขานั่นแหละโดนล่าม และพวกเขาถูกสาปแช่งเนื่องด้วยคำพูดที่พวกเขากล่าวอ้าง ทว่า พระหัตถ์ทั้งสองของอัลลอฮฺนั้นทรงแผ่กว้างเสมอ” (อัล-มาอิดะฮฺ 64)
เราจะปล่อยผ่านโองการต่างๆ ที่เป็นวะห์ยู เช่นโองการที่พูดถึงคุณลักษณะและพระนามต่างๆ ของพระองค์ โดยที่เราจะยืนยันตามข้อเท็จจริงของมันและเรารับรู้ร่องรอยบางอย่างของมัน โดยจะไม่เพิ่มเติมมากไปกว่านั้น เพราะอัลลอฮฺนั้นไม่มีสิ่งใดที่เหมือนพระองค์ พระองค์ตรัสว่า
﴿لَيۡسَ كَمِثۡلِهِۦ شَيۡءٞۖ وَهُوَ ٱلسَّمِيعُ ٱلۡبَصِيرُ ١١ ﴾ [الشورى: ١١]
ความว่า “ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์ และพระองค์นั้นเป็นผู้ได้ยิน ผู้ทรงเห็นยิ่ง” (อัช-ชูรอ 11)
ไม่อนุญาตให้เราเปรียบเทียบคุณลักษณะของอัลลอฮฺกับสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น เพราะการเปรียบเทียบนั้นต้องมีฟัรอฺ (สาขาที่ออกมาจากต้นแบบ) และมี อัศลฺ (ต้นแบบที่ใช้เปรียบเทียบ) ซึ่งอัลลอฮฺนั้นทรงเอกะไม่มีคู่เสมอเสมอเหมือน จึงไม่มีสาขาที่จะเอาต่อเทียบกับพระองค์ได้ และไม่มีต้นแบบที่อยู่เหนือไปกว่าพระองค์ ทรงเอกะและบริหารจัดการทุกสิ่ง ไม่มีบุตร ไม่มีผู้ให้กำเนิด ไม่มีคู่ใดๆ ทั้งสิ้น
ปัญญาของมนุษย์ คือ เครื่องมือที่อัลลอฮฺทรงสร้างขึ้นมาให้เอาสิ่งที่มันได้ฟังไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่มันได้เห็น มันจะฟังโองการต่างๆ ของอัลลอฮฺที่ได้กล่าวถึงคุณลักษณะของพระองค์แต่มันไม่เคยได้เห็นพระองค์จริงๆ แล้วก็จะเอาไปเปรียบกับตัวอย่างที่ใกล้เคียงที่สุดที่มันเคยเห็น ปัญญาของทุกคนจะจินตนาการตามที่มันเคยเห็น และจะให้การอธิบายตามที่เคยดู ในขณะที่อัลลอฮฺนั้นไม่มีคู่ใดๆ ที่จะเอามาเปรียบได้ในจินตนาการของปัญญาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เราจึงไม่สามารถที่จะปฏิเสธหรือยกเลิกพระนามใดๆ หรือคุณลักษณะใดๆ ของพระองค์เพียงเพราะเราเคยเห็นตัวอย่างที่ไม่งดงามในจินตนาการของเรา ซึ่งเราต้องการจะปฏิเสธจินตนาการนั้นด้วยการปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮฺหรือพระนามของพระองค์ วิธีการนี้ทำให้เราตกอยู่ในกับดักการเปรียบเทียบที่โมฆะ (กิยาส บาฏิล) และหล่นลงไปในหลุมแห่งการปฏิเสธโองการที่ถูกต้องจากอัลลอฮฺ ทว่าสิ่งที่เราต้องทำก็คือ ให้เราปฏิเสธความหมายชั่วๆ ที่ไม่ถูกต้องในจินตนาการของเราแทน และให้ยืนยันตามที่อัลลอฮฺทรงให้คุณลักษณะแก่พระองค์เอง และเราก็หยุดเพียงแค่นั้น อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ يَعۡلَمُ مَا بَيۡنَ أَيۡدِيهِمۡ وَمَا خَلۡفَهُمۡ وَلَا يُحِيطُونَ بِهِۦ عِلۡمٗا ١١٠ ﴾ [طه: ١١٠]
ความว่า “ทรงรู้ทั้งสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังพวกเขา ในขณะที่พวกเขาไม่อาจที่จะรอบรู้ได้ครอบคลุมตัวพระองค์” (ฏอฮา 110)
﴿ لَّا تُدۡرِكُهُ ٱلۡأَبۡصَٰرُ وَهُوَ يُدۡرِكُ ٱلۡأَبۡصَٰرَۖ وَهُوَ ٱللَّطِيفُ ٱلۡخَبِيرُ ١٠٣ ﴾ [الأنعام: ١٠٣]
ความว่า “สายตาทั้งหลายจะไม่สามารถเข้าถึงพระองค์ ในขณะที่พระองค์จะทรงเข้าถึงทุกสายตา และพระองค์ทรงเป็นผู้ที่ละเอียดยิ่ง และรอบรู้อย่างถี่ถ้วนยิ่ง” (อัล-อันอาม 103)
อัลลอฮฺนั้นทรงสูงส่งเหนือบัลลังก์ของพระองค์บนท้องฟ้า พระองค์ตรัสว่า
﴿ هُوَ ٱلۡأَوَّلُ وَٱلۡأٓخِرُ وَٱلظَّٰهِرُ وَٱلۡبَاطِنُۖ وَهُوَ بِكُلِّ شَيۡءٍ عَلِيمٌ ٣ هُوَ ٱلَّذِي خَلَقَ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضَ فِي سِتَّةِ أَيَّامٖ ثُمَّ ٱسۡتَوَىٰ عَلَى ٱلۡعَرۡشِۖ يَعۡلَمُ مَا يَلِجُ فِي ٱلۡأَرۡضِ وَمَا يَخۡرُجُ مِنۡهَا وَمَا يَنزِلُ مِنَ ٱلسَّمَآءِ وَمَا يَعۡرُجُ فِيهَاۖ وَهُوَ مَعَكُمۡ أَيۡنَ مَا كُنتُمۡۚ وَٱللَّهُ بِمَا تَعۡمَلُونَ بَصِيرٞ ٤ ﴾ [الحديد: ٣-٤]
ความว่า “พระองค์เป็นผู้แรก เป็นผู้รั้งท้ายสุด เป็นผู้ที่เด่นสุด และเป็นผู้ที่ลับสุด และทรงรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง พระองค์ทรงสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินในหกวัน จากนั้นทรงสถิตสูงส่งอยู่เหนือบัลลังก์อะรัช พระองค์ทรงรู้สิ่งที่เข้าไปในแผ่นดินและสิ่งที่ออกมาจากแผ่นดิน ทรงรู้สิ่งที่ลงมาจากฟ้าและสิ่งที่ขึ้นไปยังฟ้า ทรงอยู่กับพวกเจ้าเสมอไม่ว่าพวกเจ้าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม และอัลลอฮฺนั้นทรงเห็นสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” (อัล-หะดีด 3-4)
พระองค์ทรงยืนยันการอยู่เหนือบัลลังก์ด้วย ซาต ของพระองค์ และทรงรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทรงบอกพวกเราว่าพระองค์อยู่เคียงข้างบ่าวของพระองค์ นั่นคือพระองค์ทรงอยู่กับเราด้วยความรอบรู้ การได้ยินและการเห็นของพระองค์
﴿وَهُوَ مَعَكُمۡ أَيۡنَ مَا كُنتُمۡۚ ﴾ [الحديد: ٤]
ความว่า “ทรงอยู่กับพวกเจ้าเสมอไม่ว่าพวกเจ้าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม” (อัล-หะดีด 4)
และสำหรับบ่าวผู้ที่ใกล้ชิดและเป็นที่รักของพระองค์ นอกจากที่จะทรงอยู่กับพวกเขาด้วยประการต่างๆ ข้างต้นแล้ว พระองค์ยังทรงเคียงข้างพวกเขาด้วยการคอยให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และการพิทักษ์ปกป้องของพระองค์ เช่นที่ได้ตรัสกับมูซาและฮารูนว่า
﴿لَا تَخَافَآۖ إِنَّنِي مَعَكُمَآ أَسۡمَعُ وَأَرَىٰ ٤٦﴾ [طه: ٤٦]
ความว่า “เจ้าทั้งสองอย่าได้กลัว เพราะแท้จริงข้าจะอยู่กับเจ้าทั้งสอง ข้าจะคอยฟังและมองดู” (ฏอฮา 46)
พระองค์อัลลอฮฺทรงครอบครองความประสงค์ที่สมบูรณ์ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง อะไรที่ทรงประสงค์ก็จะเกิดขึ้น อะไรที่ไม่ทรงประสงค์ก็จะไม่เกิด เรายืนยันคุณลักษณะนี้เช่นที่ทรงได้ยืนยันด้วยพระองค์เอง เราจะไม่เข้าไปยุ่งกับเรื่องนี้มากไปกว่านั้น เหมือนที่พวกปัญญานิยมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการอธิบายว่าอัลลอฮฺทำสิ่งที่พวกเขาเห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้ หรือทรงควบรวมระหว่างสิ่งที่ขัดแย้งกันเอง และอื่นๆ เป็นต้น อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿قَالَ كَذَٰلِكَ ٱللَّهُ يَفۡعَلُ مَا يَشَآءُ ٤٠ ﴾ [آل عمران: ٤٠]
ความว่า “(ญิบรีลกล่าวแก่ซะกะรียาว่า) เช่นนั้นแหละคือพระองค์อัลลอฮฺ ทรงทำในสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์” (อาล อิมรอน 40)
﴿ وَلَٰكِنَّ ٱللَّهَ يَفۡعَلُ مَا يُرِيدُ ٢٥٣ ﴾ [البقرة: ٢٥٣]
ความว่า “แต่ทว่า อัลลอฮฺนั้นจะทรงทำในสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 253)
﴿ ذُو ٱلۡعَرۡشِ ٱلۡمَجِيدُ ١٥ فَعَّالٞ لِّمَا يُرِيدُ ١٦ ﴾ [البروج: ١٥-١٦]
ความว่า “พระองค์เป็นเจ้าแห่งบัลลังก์อะรัชที่ยิ่งใหญ่ทรงเกียรติ ทรงกระทำจริงในสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์” (อัล-บุรูจญ์ 15-16)
เราจะยืนยันในสิ่งที่วะห์ยูได้ยืนยัน และเราจะหยุดแค่นั้นโดยไม่ยืนยันคุณลักษณะอื่นนอกจากที่วะห์ยูได้ยืนยันไว้ และเราจะปฏิเสธในสิ่งที่ปัญญาบ่งชี้ว่ามันเป็นข้อบกพร่องถึงแม้ว่าคุณลักษณะความบกพร่องดังกล่าวจะไม่ได้ถูกระบุไว้ในวะห์ยูก็ตาม เช่น คุณลักษณะแห่งความโศกเศร้า การร้องไห้ การหิว และอื่นๆ
```
อัลกุรอานคือพระดำรัสของอัลลอฮฺ พระองค์ได้ตรัสด้วยพระดำรัสนั้นออกมาจริงๆ เป็นพระดำรัสของพระองค์ทั้งตัวอักษร โองการ และสูเราะฮฺต่างๆ ทั้งหมดของอัลกุรอาน เราจะไม่กล่าวว่า “อัลกุรอานนั้นเป็นเพียงแค่ความหมาย หรือเป็นเพียงแค่การเล่าถึงความหมายดังกล่าว” แต่เราจะกล่าวว่า พระองค์อัลลอฮฺจะตรัสเมื่อใดก็ได้ที่พระองค์ทรงประสงค์จะตรัส
﴿وَكَلَّمَ اللَّهُ مُوسَىٰ تَكْلِيمًا﴾ [النساء: 164]
ความว่า “และอัลลอฮฺได้ตรัสกับมูซาจริง” (อัน-นิสาอ์ 164)
﴿وَلَمَّا جَاءَ مُوسَىٰ لِمِيقَاتِنَا وَكَلَّمَهُ رَبُّهُ﴾ [الأعراف: 143]
ความว่า “และเมื่อมูซาได้มาตามกำหนดเวลาของเรา และพระเจ้าของเขาได้ตรัสแก่เขา” (อัล-อะอฺรอฟ 143)
การตรัสของพระองค์ก็คือพระดำรัสของพระองค์
﴿وَاللَّهُ يَقُولُ الْحَقّ﴾ [الأحزاب : 4]
ความว่า ”และอัลลอฮฺนั้นตรัสสัจจะ” (อัลอะห์ซาบ 4)
และพระดำรัสอัลลอฮฺนั้นได้รับการท่องจำในหัวอกทั้งหลาย
﴿بَلْ هُوَ آيَاتٌ بَيِّنَاتٌ فِي صُدُورِ الَّذِينَ أُوتُوا الْعِلْمَ﴾ [العنكبوت : 49]
ความว่า “ทว่า มันเป็นโองการทั้งหลายอันชัดแจ้งที่อยู่ในหัวอกของบรรดาผู้ที่ได้รับความรู้” (อัล-อันกะบูต 49)
และอัลกุรอานคือสิ่งที่สามารถสดับรับฟังผ่านหูได้
﴿ وَإِنْ أَحَدٌ مِّنَ الْمُشْرِكِينَ اسْتَجَارَكَ فَأَجِرْهُ حَتَّىٰ يَسْمَعَ كَلَامَ اللَّهِ﴾ [التوبة : 6]
ความว่า“ และหากว่ามีคนคนหนึ่งคนใดในหมู่มุชริกผู้ตั้งภาคีได้ขอให้เจ้าคุ้มครอง ก็จงคุ้มครองเขาเถิด เพื่อว่าพวกเขาจะได้ยินพระดำรัสของอัลลอฮฺ” (อัต-เตาบะฮฺ 6)
และถึงแม้ว่าผู้ที่นำอัลกุรอานมาเผยแผ่คือท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กระนั้นมันก็จะไม่ทำให้อัลกุรอานเปลี่ยนสถานะออกจากการเป็นคำพูดของอัลลอฮฺได้
และอัลกุรอานนั้นถูกเขียนไว้เป็นบันทึก อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وَكِتَٰبٖ مَّسۡطُورٖ ٢ فِي رَقّٖ مَّنشُورٖ ٣ ﴾ [الطور: ٢-٣]
ความว่า “ขอสาบานต่อคัมภีร์ที่ถูกบันทึก ในแผ่นจารึกที่กางแผ่ไว้” (อัฏ-ฏูรฺ 2-3)
จารึกแห่งอัลกุรอานนี้อัลลอฮฺได้รักษาไว้ใน อัล-เลาห์ อัล-มะห์ฟูซฺ (กระดานที่บันทึก) ณ ที่พระองค์ พระองค์ได้ตรัสว่า
﴿ بَلۡ هُوَ قُرۡءَانٞ مَّجِيدٞ ٢١ فِي لَوۡحٖ مَّحۡفُوظِۢ ٢٢ ﴾ [البروج: ٢١-٢٢]
ความว่า “ทว่า มันคืออัลกุรอานอันยิ่งใหญ่สูงส่ง อยู่ในกระดานที่ถูกเก็บไว้” (อัล-บุรูจญ์ 21-22)
﴿ وَإِنَّهُۥ فِيٓ أُمِّ ٱلۡكِتَٰبِ لَدَيۡنَا لَعَلِيٌّ حَكِيمٌ ٤ ﴾ [الزخرف: ٤]
ความว่า “แท้จริง อัลกุรอานนั้นอยู่ในแม่บทแห่งคัมภีร์ (อัล-เลาห์ อัล-มะห์ฟูซฺ) ณ ที่เรา มันสูงส่งพรั่งพร้อมด้วยวิทยปัญญา” )อัซ-ซุครุฟ 4)
และถึงแม้อัลกุรอานจะถูกบันทึกในแผ่นจารึก ก็ไม่ได้ทำให้มันออกจากสถานะการเป็นพระดำรัสของอัลลอฮฺ ถึงแม้ว่ากระดาษและน้ำหมึกจะเป็นสิ่งถูกสร้างของพระองค์ก็ตาม อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿ وَلَوۡ نَزَّلۡنَا عَلَيۡكَ كِتَٰبٗا فِي قِرۡطَاسٖ﴾ [الأنعام: ٧]
ความว่า “หากเราได้ลงมาให้แก่เจ้า ซึ่งคัมภีร์ฉบับหนึ่ง(ที่ถูกจารึกไว้)ในกระดาษ” )อัล-อันอาม 7)
ในโองการนี้พระองค์ทรงจำแนกว่า “คัมภีร์” เป็นสิ่งหนึ่ง และ “กระดาษ” ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งต่างหาก
พระองค์ทรงยืนยันอย่างชัดเจนว่า อัลกุรอานนั้นเป็นพระดำรัสของพระองค์ ถึงแม้ว่ามันจะถูกจดด้วยปากกาซึ่งเป็นสิ่งถูกสร้าง และด้วยน้ำหมึกซึ่งเป็นสิ่งถูกสร้างอีกเช่นเดียวกัน
﴿وَلَوْ أَنَّمَا فِي الْأَرْضِ مِن شَجَرَةٍ أَقْلَامٌ وَالْبَحْرُ يَمُدُّهُ مِن بَعْدِهِ سَبْعَةُ أَبْحُرٍ مَّا نَفِدَتْ كَلِمَاتُ اللَّهِ﴾ [لقمان: 27]
ความว่า “และหากว่าต้นไม้ทั้งหมดที่มีอยู่ในแผ่นดินเป็นปากกาหลายด้าม และมหาสมุทร(เป็นน้ำหมึก)มีสำรองไว้อีกเจ็ดมหาสมุทร คำพูดของอัลลอฮฺย่อมที่จะไม่หมดสิ้นไป(แต่น้ำหมึกและปากกานั้นจะหมดเสียก่อน)” (ลุกมาน 27)
﴿ قُل لَّوْ كَانَ الْبَحْرُ مِدَادًا لِّكَلِمَاتِ رَبِّي لَنَفِدَ الْبَحْرُ قَبْلَ أَن تَنفَدَ كَلِمَاتُ رَبِّي وَلَوْ جِئْنَا بِمِثْلِهِ مَدَدًا ﴾ [الكهف: 109]
ความว่า “จงกล่าวเถิด หากทะเลเป็นน้ำหมึกสำหรับบันทึกพจนารถของพระผู้เป็นเจ้าของฉัน แน่นอนทะเลจะเหือดแห้งก่อนที่คำกล่าวของพระผู้เป็นเจ้าของฉันหมดสิ้นไป ถึงแม้ว่าเราจะนำมันมาเยี่ยงนั้นมาเป็นหมึกอีกก็ตาม” (อัล-กะฮ์ฟฺ 109)
ดังนั้น ทั้งสิ่งที่ปากกาได้จดหรือสิ่งที่มันไม่ได้จด ทั้งหมดล้วนคือพระดำรัสของอัลลอฮฺทั้งสิ้น
และใครได้กล่าวว่า “พระดำรัสของอัลลอฮฺคือสิ่งถูกสร้าง(มัคลูก)” นั่นก็แสดงว่าแท้จริงเขาได้เป็นกาฟิรฺแล้ว เนื่องจากพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺนั้นเป็นส่วนหนึ่งจากคุณลักษณะของพระองค์ และพระองค์ก็ได้จำแนกระหว่างสิ่งถูกสร้างที่เป็นมัคลูกกับพระดำรัสของพระองค์ไว้อย่างชัดเจน พระองค์ตรัสว่า
﴿ إِنَّ رَبَّكُمُ ٱللَّهُ ٱلَّذِي خَلَقَ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضَ فِي سِتَّةِ أَيَّامٖ ثُمَّ ٱسۡتَوَىٰ عَلَى ٱلۡعَرۡشِۖ يُغۡشِي ٱلَّيۡلَ ٱلنَّهَارَ يَطۡلُبُهُۥ حَثِيثٗا وَٱلشَّمۡسَ وَٱلۡقَمَرَ وَٱلنُّجُومَ مُسَخَّرَٰتِۢ بِأَمۡرِهِۦٓۗ أَلَا لَهُ ٱلۡخَلۡقُ وَٱلۡأَمۡرُۗ تَبَارَكَ ٱللَّهُ رَبُّ ٱلۡعَٰلَمِينَ ٥٤ ﴾ [الأعراف: ٥٤]
ความว่า “แท้จริง พระเจ้าของพวกเจ้าคืออัลลอฮฺ ผู้ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินในหกวัน แล้วทรงสถิตสูงส่งเหนือบัลลังก์อะรัช พระองค์ทรงให้กลางคืนไล่ตามกลางวันด้วยความรวดเร็ว และทรงสร้างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และบรรดาดวงดาวขึ้น โดยถูกกำหนดให้ทำหน้าที่บริการตามพระบัญชาของพระองค์ พึงรู้เถิดว่า การสร้างและคำสั่งบัญชาทั้งหลายเป็นสิทธิของพระองค์เท่านั้น มหาบริสุทธิ์ยิ่งองค์อัลลอฮฺผู้เป็นเจ้าแห่งสากลโลก” (อัล-อะอฺรอฟ 45)
ในโองการนี้ อัลลอฮฺได้จำแนกระหว่างสิ่งที่ถูกสร้างของพระองค์ คือชั้นฟ้าทั้งหลาย แผ่นดิน ดวงอาทิตย์ ดวงดาวต่างๆ และระหว่างคำสั่งของพระองค์ นั่นคือ พระดำรัสของพระองค์ผู้มหาบริสุทธิ์ยิ่ง ซึ่งพระองค์ได้ให้สรรพสิ่งต่างๆ มีขึ้นด้วยคำสั่งนั้น “โดยถูกกำหนดให้ทำหน้าที่บริการตามพระบัญชาของพระองค์”
อัลลอฮฺได้สร้างเสียงของบรรดานักอ่าน ด้วยการสร้างริมฝีปากทั้งสอง ลิ้น ลำคอ ลม เพดานลิ้น และการเคลื่อนไหวของอวัยวะเหล่านี้ แต่มิอาจจะปฏิเสธได้ว่าสิ่งที่ได้ยินคือคำพูดของอัลลอฮฺ พระองค์ตรัสว่า
﴿وَقَدۡ كَانَ فَرِيقٞ مِّنۡهُمۡ يَسۡمَعُونَ كَلَٰمَ ٱللَّهِ﴾ [البقرة: ٧٥]
ความว่า “ทั้งๆ ที่คนกลุ่มหนึ่งจากพวกเขา เคยสดับรับฟังพระดำรัสของอัลลอฮฺ” (อัล-บะเกาะเราะฮ 75)
สิ่งที่ได้ยินคือคำพูดของอัลลอฮฺ ถึงแม้คนที่ออกสำเนียงมาคือผู้ที่อ่าน เหมือนที่นักวิชาการบางท่านได้กล่าวไว้ว่า
الصَّوْتُ صَوْتُ القَارِي، والكَلَامُ كَلَامُ البَارِي
“เสียงนั้นคือเสียงกอรีผู้ที่อ่าน แต่คำพูดคือคำพูดของอัลลอฮฺผู้มีนามว่า อัล-บารีย์”
```
ด้วยพลังของหลักฐานจากตัวบทที่ถูกถ่ายทอดมารวมกันกับการใช้สติปัญญา ก็จะทำให้เราทราบถึงข้อเท็จจริงทางบทบัญญัติ ดังนั้น ตัวบทไม่สามารถยังประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่ใช้สติปัญญาได้ และเช่นเดียวกันปัญญาก็ไม่สามารถให้ประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่ยอมรับในตัวบท และสองสิ่งข้างต้นนั้นหากอย่างหนึ่งอย่างใดบกพร่อง มันก็จะทำให้เกิดความบกพร่องในการรับรู้ถึงสัจธรรมด้วย หากมองดูแล้วตัวบทและสติปัญญามันค้านกันโดยรวมๆ ก็ให้ถือตัวบทก่อนสติปัญญา เนื่องจากตัวบทนั้นเป็นความรู้ที่มาจากพระผู้สร้างที่สมบูรณ์ ส่วนสติปัญญาเป็นความรู้ที่มาจากมนุษย์ผู้มีความบกพร่อง
สติปัญญาเปรียบเสมือนดวงตา ตัวบทเปรียบเสมือนแสงสว่าง ดังนั้นผู้ที่มีสายตานั้นไม่สามารถจะทำให้ดวงตาทั้งสองของเขาเกิดประโยชน์ได้ภายใต้ความมืดสนิท เช่นเดียวกับผู้ที่มีสติปัญญาอย่างเดียวก็ไม่สามารถที่จะทำให้สติปัญญาของเขาเกิดประโยชน์ได้โดยปราศจากวะห์ยู ปริมาณของแสงสว่างมีมากเท่าใดก็จะส่งผลให้แก่ดวงตาเห็นชัดเท่านั้น เช่นเดียวกับปริมาณของวะห์ยูมีมากเท่าใดมันก็จะชี้นำสติปัญญามากเท่านั้น และหากส่วนผสมที่สมบูรณ์ของสติปัญญาและตัวบทมีมากเท่าใด ก็จะเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับทางนำและความเข้าใจมากเท่านั้น เฉกเช่นการได้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างชัดเจนในช่วงเวลาเที่ยงวัน
﴿ أَوَ مَن كَانَ مَيۡتٗا فَأَحۡيَيۡنَٰهُ وَجَعَلۡنَا لَهُۥ نُورٗا يَمۡشِي بِهِۦ فِي ٱلنَّاسِ كَمَن مَّثَلُهُۥ فِي ٱلظُّلُمَٰتِ﴾ [الأنعام: ١٢٢]
ความว่า “หรือว่าผู้ที่ได้ตายไปแล้ว จากนั้นเราก็ได้ให้เขามีชีวิตขึ้นมาและเราได้ให้แสงสว่างแก่เขา เพื่อใช้เดินอยู่ท่ามกลางหมู่มนุษย์ มีหรือที่เขาจะเหมือนกับผู้ที่อยู่ในความมืดมิดหลายชั้น” (อัล-อันอาม:122)
คนที่มีปัญญาจะได้รับประโยชน์จากปัญญาของเขาในการมีชีวิตในโลกนี้ เหมือนกับการรับรู้ของบรรดาปศุสัตว์ บรรดานก และสัตว์อื่นๆ ทั้งหลาย พวกมันจะเดินทางและหยุดพักตามฤดูกาล พวกมันจะรู้จักพวกของมันเอง รู้จักถิ่นฐานของมัน รู้วิธีการสร้างรัง และยังสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรที่เป็นศัตรูของมันด้วย
แต่ว่า มนุษย์ไม่สามารถที่จะใช้เพียงแค่สติปัญญา เพื่อที่จะให้รู้จักพระเจ้าของเขา – ในระดับรายละเอียดปลีกย่อย - ได้ เว้นแต่ต้องอาศัยวะห์ยูที่ถูกประทานผ่านนบีของพระองค์ มนุษย์ไม่สามารถที่จะเชื่อมต่อไปยังพระองค์ได้เว้นแต่ด้วยหนทางของวะห์ยูจากท่านนบีเท่านั้น หนทางที่ว่านั้นจะมืดมนหากปราศจากวะห์ยู
﴿ ٱللَّهُ وَلِيُّ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ يُخۡرِجُهُم مِّنَ ٱلظُّلُمَٰتِ إِلَى ٱلنُّورِۖ وَٱلَّذِينَ كَفَرُوٓاْ أَوۡلِيَآؤُهُمُ ٱلطَّٰغُوتُ يُخۡرِجُونَهُم مِّنَ ٱلنُّورِ إِلَى ٱلظُّلُمَٰتِۗ﴾ [البقرة: ٢٥٧]
ความว่า “อัลลอฮฺคือผู้ปกป้องดูแลบรรดาผู้ที่ศรัทธา พระองค์ได้นำพวกเขาออกจากความมืดมาสู่แสงสว่าง ส่วนบรรดาผู้ปฏิเสธนั้น ผู้ให้การช่วยเหลือพวกเขาก็คืออัฏ-ฏอฆูต มันจะนำพวกเขาออกจากแสงสว่างมาสู่ความมืด” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 257)
พระองค์ได้ตรัสว่า “ทรงนำพวกเขาออกมาจากความมืด” เพราะพวกเขาจะถูกรวมให้เข้าอยู่ในความมืดถ้าหากไม่มีพระองค์
และถ้าหากว่าแสงสว่างนั้นมีแค่อันเดียว ถึงแม้ว่าชนิดของมันจะต่างกันเช่น รัศมีหรือไฟ (แต่ต่างก็ให้ความสว่างได้) วะห์ยูก็เช่นเดียวกัน มันมีแค่อันเดียว ถึงแม้ว่าชนิดของมันจะแบ่งออกเป็นอัลกุรอานหรือสุนนะฮฺก็ตามที อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ أَطِيعُواْ ٱللَّهَ وَأَطِيعُواْ ٱلرَّسُولَ﴾ [النساء: ٥٩]
ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธา พวกท่านจงเชื่อฟังต่ออัลลอฮฺ และจงเชื่อฟังต่อเราะสูล” (อัน-นิสาอ์ 59)
และใครที่อ้างว่า “แท้จริงเขา ได้รับทางนำไปสู่อัลลอฮฺด้วยกับสติปัญญาของเขาอย่างเดียว โดยไม่ต้องพึ่งพาวะห์ยูแต่อย่างใด” ก็เหมือนกับบุคคลที่กล่าวว่า “แท้จริงเขาได้รับการนำทางไปบนเส้นทางของเขาโดยอาศัยสายตาของเขาเท่านั้น โดยไม่ต้องพึ่งพาแสงสว่าง” ทั้งสองกรณีที่กล่าวมานั้น ถือว่าเป็นการปฏิเสธความจำเป็นพื้นฐานที่มิอาจค้านได้ คนแรกนั้นประเภทไปหาอัลลอฮฺแบบไม่มีศาสนา ส่วนคนที่สองนั้นประเภทแสวงหาโดยไม่คำนึงปัจจัยทางโลก
อัลลอฮฺได้เรียกวะห์ยูของพระองค์ว่าเป็นแสงสว่างที่ใช้นำทางมวลมนุษยชาติ
﴿فَٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ بِهِۦ وَعَزَّرُوهُ وَنَصَرُوهُ وَٱتَّبَعُواْ ٱلنُّورَ ٱلَّذِيٓ أُنزِلَ مَعَهُۥٓ أُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُفۡلِحُونَ ١٥٧ ﴾ [اللأعراف: ١٥٧]
ความว่า “ดังนั้น บรรดาผู้ที่ศรัทธาต่อเขา(นบีมุหัมมัด) และให้ความสำคัญแก่เขา และช่วยเหลือเขา และปฏิบัติตามแสงสว่างที่ถูกประทานลงมาแก่เขาแล้วไซร้ ชนเหล่านี้แหละคือบรรดาผู้ที่สำเร็จ” (อัล-อะอฺรอฟ 157)
เพราะฉะนั้น พระองค์นั่นแหละคือผู้ที่ได้ให้ทางนำแก่บรรดานบีและบรรดาผู้ติดตามนบีทั้งหลาย
เราจะยอมรับโดยดุษฎีในสิ่งที่อัลลอฮฺได้มีค่ำสั่งใช้เราให้ปฏิบัติ และสิ่งที่พระองค์ได้ห้าม และเราเชื่อในสิ่งพระองค์ได้บอก หากเราทราบถึงเหตุผลเราก็ศรัทธา และหากเราไม่ทราบถึงเหตุผลเราก็ศรัทธาและยอมรับ เพราะขนาดทุกสิ่งที่รู้ได้ด้วยปัญญาก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นที่รับรู้ของทุกคนที่มีปัญญาได้ ดังนั้น นับประสาอะไรกับสิ่งที่ปัญญาไม่สามารถล่วงรู้ แต่เรากลับดันทุรังต้องการจะให้ทุกปัญญาเห็นด้วยและรับรู้เหมือนกันหมดทุกคน !
และใครที่กล่าวว่า “ฉันจะไม่ศรัทธานอกจากในสิ่งที่สติปัญญาสามารถรับทราบได้จากหุก่มของอัลลอฮฺ ส่วนอะไรที่สติปัญญาไม่สามารถรับได้ ฉันจะไม่ศรัทธาต่อมัน” หากเป็นเช่นนั้น ก็ถือว่าเขาได้ใช้ยึดเอาสติปัญญามาก่อนตัวบท และไม่ใช่ว่าทุกสิ่งที่สติปัญญาไม่สามารถล่วงรู้ได้จะหมายความว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง แต่อาจจะเป็นเพราะมันเข้าไม่ถึงต่างหาก เนื่องจากสติปัญญานั้นมีขอบเขตจำกัด เหมือนกับที่สายตามีระยะทางจำกัดในการมองเห็น ซึ่งมันไม่ได้แปลว่าจักรวาลและสิ่งที่มีอยู่นั้นจะหมดอยู่แค่สุดเขตที่สายตาสามารถมองไปถึงเท่านั้น และการได้ยินก็มีระยะทางจำกัดของมัน ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่าสิ้นระยะทางการได้ยินตรงไหนเสียงก็หยุดอยู่ตรงนั้นไปต่อไม่ได้อีก เพราะแม้แต่มดก็มีเสียงที่เราไม่ได้ยิน และในจักรวาลก็ยังมีห้วงเวหาและหมู่ดาวอีกมากมายที่เรามองไม่เห็น
```
บทบัญญัติข้อกฎหมายทั้งหมดเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ตะอาลา แต่เพียงผู้เดียว พระองค์จะอนุญาตในสิ่งใดก็ได้ตามที่พระองค์ทรงประสงค์ และพระองค์ทรงห้ามในสิ่งใดก็ได้ตามที่พระองค์ทรงประสงค์เช่นกัน ด้วยความรอบรู้และหิกมะฮฺของพระองค์ การบัญญัติกฎหมายของพระองค์นั้นเพื่อความถูกต้องทั้งในเรื่องของศาสนาและในเรื่องที่เกี่ยวกับทางโลก คำสั่งใช้และข้อห้ามของพระองค์จะไม่ถูกยกเลิกหรือเป็นโมฆะเหนือบรรดามุกัลลัฟ[1]ในช่วงเวลาหนึ่งและยกเว้นในอีกช่วงเวลาหนึ่ง หรือในพื้นที่แห่งหนึ่งและยกเว้นในอีกพื้นที่อีกแห่งหนึ่ง นอกจากด้วยการอนุญาตจากพระองค์เท่านั้น
เราจะไม่แยกแยะบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทางโลก ทั้งหมดล้วนแล้วเป็นข้อบังคับที่แบ่งออกเป็นสองส่วน นั่นก็คือ ข้อบังคับทางศาสนาและข้อบังคับทางโลก
ข้อบังคับทางศาสนา อาทิเช่น การละหมาด การถือศีลอด การทำหัจญ์ การรำลึกถึงอัล ลอฮฺ การบูรณะมัสยิด
และข้อบังคับทางโลก อาทิเช่น การซื้อขาย การแต่งงาน การหย่าร้าง การแบ่งมรดก
ผู้ใดก็ตามที่แยกแยะระหว่างบทบัญญัติทั้งสองส่วน กล่าวคือ ใครที่ยึดหรือถือว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับศาสนานั้นสำหรับอัลลอฮฺ และถือว่าบทบัญญัติและข้อกฎหมายเกี่ยวกับทางโลกนั้นสำหรับผู้อื่นไม่ใช่อัลลอฮฺ เขาผู้นั้นก็จะเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา อันเนื่องจากบทบัญญัติหรือข้อกฎหมายทุกอย่างนั้นเป็นสิทธิสำหรับอัลลอฮฺ ตะอาลา แต่เพียงผู้เดียว ใครผู้ใดที่อ้างสิทธิดังกล่าวนี้ให้แก่ผู้อื่นก็เสมือนว่าเขาผู้นั้นได้หยิบยื่นสิทธิในการสุญูดให้แก่ผู้อื่นที่มิใช่อัลลอฮฺ ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า
﴿ إِنِ ٱلۡحُكۡمُ إِلَّا لِلَّهِ أَمَرَ أَلَّا تَعۡبُدُوٓاْ إِلَّآ إِيَّاهُۚ ﴾ [يوسف: ٤٠]
ความว่า “ข้อกฎหมายทุกอย่างมิใช่สำหรับผู้อื่นใดนอกจากอัลลอฮฺแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น พระองค์ได้สั่งว่า จงอย่าได้กราบไหว้แก่ผู้อื่นใดเว้นแต่พระองค์เพียงเท่านั้น” (ยูสุฟ : 40)
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง ที่ได้ทำให้บรรดาพวกอิสรออีลได้กลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้กล่าวว่า
﴿ ٱتَّخَذُوٓاْ أَحۡبَارَهُمۡ وَرُهۡبَٰنَهُمۡ أَرۡبَابٗا مِّن دُونِ ٱللَّهِ وَٱلۡمَسِيحَ ٱبۡنَ مَرۡيَمَ وَمَآ أُمِرُوٓاْ إِلَّا لِيَعۡبُدُوٓاْ إِلَٰهٗا وَٰحِدٗاۖ لَّآ إِلَٰهَ إِلَّا هُوَۚ سُبۡحَٰنَهُۥ عَمَّا يُشۡرِكُونَ ٣١ ﴾ [التوبة: ٣١]
ความว่า “พวกเขาได้ยึดเอาบรรดานักปราชญ์ของพวกเขา และบรรดาบาทหลวงของพวกเขาเป็นพระเจ้าอื่นจากอัลลอฮฺ และยึดเอาอัล-มะซีหฺ อีซาบุตรของมัรยัมเป็นพระเจ้าด้วย ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้ถูกสั่งนอกจากเพื่อเคารพสักการะพระเจ้าเพียงองค์เดียว ซึ่งไม่มีผู้ใดควรได้รับการเคารพสักการะนอกจากพระองค์เท่านั้น พระองค์ทรงบริสุทธิ์จากสิ่งที่พวกเขาตั้งเป็นภาคี” (อัต-เตาบะฮฺ : 31)
อัลลอฮฺได้กล่าวถึงการกระทำดังกล่าวในโองการข้างต้นนี้ว่า เป็นการชิริกหรือการตั้งภาคีนั่นเอง
อัลลอฮฺได้ประทานคัมภีร์ของพระองค์ลงมา และได้บัญญัติข้อกฎหมายต่างๆ ซึ่งพระองค์เป็นผู้ที่รอบรู้ในเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว เสมือนกับพระองค์ทรงรอบรู้และทรงเห็นเหตุการณ์ในช่วงเวลาที่บทบัญญัติและข้อกฎหมายได้ถูกประทานลงมา และความรอบรู้ของพระองค์จะไม่ตกขาดหายไปในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งอันเนื่องมาจากเหตุการณ์นั้นได้ล่วงเลยมาแล้ว หรือเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า และความรอบรู้ของพระองค์จะไม่เพิ่มมากขึ้นเพราะเหตุที่เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน(ความรอบรู้ของพระองค์ทรงสัมบูรณ์แล้ว) ความรู้ของพระองค์ทั้งความรู้เกี่ยวกับอดีต ความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า ความรู้ในเหตุการณ์ปัจจุบันและความรู้ในสิ่งเร้นลับ ทั้งหมดนั้นสัมบูรณ์เท่ากันสำหรับอัลลอฮฺ
ใครผู้ใดที่เห็นว่า ข้อกฎหมายของอัลลอฮฺ ตะอาลา นั้น เหมาะสมในช่วงเวลาที่ข้อกฎหมายดังกล่าวถูกประทานลงมาเท่านั้น ส่วนในช่วงเวลาอื่นนั้น มนุษย์มีสิทธิในการที่จะกำหนดข้อกฎหมายตามที่มนุษย์เห็นสมควรแม้ว่าข้อกฎหมายดังกล่าวนั้นจะขัดแย้งกับบทบัญญัติและข้อกฎหมายของอัลลอฮฺก็ตาม ดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการปฏิเสธศรัทธา อันด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ที่กล่าวคำกล่าวนี้เห็นว่า ความรู้ความเข้าใจของมนุษย์มีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่มนุษย์เห็นและประจักษ์ด้วยสายตากับสิ่งที่มนุษย์ไม่เห็นและไม่ประจักษ์ด้วยสายตา แล้วเขาก็เอาเปรียบเทียบว่าอัลลอฮฺก็น่าจะเป็นเช่นนั้นด้วย ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ มนุษย์เหล่านั้นจึงให้ความสำคัญแก่ความรู้ของตัวเองเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันมากกว่าความรู้ของอัลลอฮฺเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นเมื่อนับมาจากช่วงเวลาที่บทบัญญัติกำลังถูกประทานลงมา เหล่านี้คือการปฏิเสธศรัทธาและการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ความรู้ของอัลลอฮฺนั้นมีความเท่ากันในทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยสายตา และทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่ยังไม่เกิดขึ้นอยู่เบื้องหน้าและสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังดำเนินอยู่ในปัจุบัน อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿ عَٰلِمِ ٱلۡغَيۡبِ وَٱلشَّهَٰدَةِ فَتَعَٰلَىٰ عَمَّا يُشۡرِكُونَ ٩٢ ﴾ [المؤمنون: ٩٢]
ความว่า “พระองค์ผู้ทรงรอบรู้ในสิ่งพ้นญาณวิสัยและสิ่งที่มองเห็นได้ พระองค์ทรงสูงส่งยิ่งจากสิ่งที่พวกเขาตั้งเป็นภาคี” (อัล-มุอ์มินูน : 92)
บทบัญญัติและข้อกฎหมายของอัลลอฮฺเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็เหมือนกับบทบัญญัติและข้อกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿ قُلِ ٱللَّهُمَّ فَاطِرَ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضِ عَٰلِمَ ٱلۡغَيۡبِ وَٱلشَّهَٰدَةِ أَنتَ تَحۡكُمُ بَيۡنَ عِبَادِكَ فِي مَا كَانُواْ فِيهِ يَخۡتَلِفُونَ ٤٦ ﴾ [الزمر: ٤٦]
ความว่า “จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) โอ้ อัลลอฮฺ! ผู้สร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน ผู้ทรงรอบรู้ในสิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผย พระองค์จะทรงพิพากษาระหว่างปวงบ่าวของพระองค์ในสิ่งที่พวกเขามีความขัดแย้งกัน” (อัซ-ซุมัรฺ : 46)
อัลลอฮฺ ตะอาลา คือผู้ตัดสินและกำหนดบัญญัติเหนือมนุษย์ทุกคนทั้งที่อยู่ในช่วงเวลาที่บทบัญญัติถูกประทานลงมา รวมถึงพวกที่มิได้อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเหมือนกัน
ใครผู้ใดที่แยกบทบัญญัติทางศาสนาออกจากบทบัญญัติที่เกี่ยวกับทางโลก ถือว่าเขาได้กำหนดให้อัลลอฮฺเป็นผู้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับศาสนา และให้มนุษย์เป็นผู้กำหนดบทกฎหมายเกี่ยวกับทางโลก (เช่นที่กล่าวอ้างโดยพวกเสรีนิยม) แสดงว่าเขาได้กำหนดให้มีผู้ออกบัญญัติมากมายหลายคน ซึ่งผู้ที่กำหนดบทบัญญัติที่แท้จริงก็คืออัลลอฮฺเพียงผู้เดียวเท่านั้น พระองค์ได้ตรัสว่า
﴿أَفَتُؤۡمِنُونَ بِبَعۡضِ ٱلۡكِتَٰبِ وَتَكۡفُرُونَ بِبَعۡضٖۚ﴾ [البقرة: ٨٥]
ความว่า “พวกท่านศรัทธาเพียงบางส่วนของคัมภีร์และปฏิเสธอีกบางส่วนกระนั้นหรือ?” (อัล-บะเกาะรอฮฺ : 85)
โองการนี้หมายความว่า ใครผู้ใดที่ปฏิเสธศรัทธาในส่วนใดส่วนหนึ่งของคัมภีร์ ก็ถือว่าเขาผู้นั้นได้ปฏิเสธศรัทธาคัมภีร์ของอัลลอฮฺทั้งหมดทุกส่วนแล้ว
อัลลอฮฺ ได้สั่งให้ตัดสินปัญหาต่างๆ ระหว่างมนุษย์ด้วยสิ่งที่พระองค์ทรงประทานลงมาแก่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จากอัลกุรอานและหะดีษ พระองค์ได้ตรัสว่า
﴿ وَأَنِ ٱحۡكُم بَيۡنَهُم بِمَآ أَنزَلَ ٱللَّهُ وَلَا تَتَّبِعۡ أَهۡوَآءَهُمۡ وَٱحۡذَرۡهُمۡ أَن يَفۡتِنُوكَ عَنۢ بَعۡضِ مَآ أَنزَلَ ٱللَّهُ إِلَيۡكَۖ ﴾ [المائدة: ٤٩]
ความว่า “และเจ้าจงตัดสินระหว่างพวกเขาด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานลงมาเถิด และจงอย่าปฏิบัติตามอารมณ์ของพวกเขา และจงระวังพวกเขาที่จะจูงใจเจ้าให้ออกจากบางสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานลงมาแก่เจ้า” (อัล-มาอิดะฮฺ : 49)
ความหมายในการตัดสินปัญหาระหว่างมนุษย์ตรงนี้ก็คือ การตัดสินความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และความหมายของคำว่า ฟิตนะฮฺ ในอายะฮฺนี้ ก็คือ การหันเหบิดเบือนและออกไปจากการที่จะยึดเอาข้อกฎหมายของอัลลอฮฺมาใช้
ส่วนสิ่งใดก็ตามที่อัลลอฮฺมิได้อธิบายข้อกฎหมายในวะห์ยูของพระองค์ การอธิบายตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของบรรดานักวินิจฉัย (อะฮฺลุล อิจญ์ติฮาด) ซึ่งมีเงื่อนไขว่า การอธิบายข้อกฎหมายเหล่านั้นจะต้องไม่ขัดแย้งกับบทบัญญัติของอัลลอฮฺที่มีอยู่เดิมแล้ว
และจะต้องไม่ยึดถือกฎหมายมนุษย์และการเลือกสรรที่บกพร่องของพวกเขามาเป็นลำดับแรก และหากว่ากฎหมายของประชาชนถูกนำมาใช้ก่อนกฎหมายของอัลลอฮฺ นั่นแสดงว่าบรรดานบีทุกคนก็ได้หลุดออกจากสัจธรรมความถูกต้องไปแล้ว เพราะบรรดานบีเหล่านั้นล้วนใช้ชีวิตท่ามกลางหมู่ชนซึ่งเสียงของพวกเขาทั้งหมดหรือเสียงส่วนใหญ่ต่างก็เห็นด้วยกับสิ่งที่เป็นความไม่ถูกต้อง
```
อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ลิขิตความเป็นไปของสิ่งถูกสร้างก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะถูกสร้างขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างถูกสร้างมาด้วยกำหนดการก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะบังเกิดขึ้น อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า
﴿ وَخَلَقَ كُلَّ شَيۡءٖ فَقَدَّرَهُۥ تَقۡدِيرٗا ٢ ﴾ [الفرقان: ٢]
ความว่า “และพระองค์ทรงให้บังเกิดทุกสิ่ง แล้วทรงกําหนดมันให้เป็นไปตามกฎที่ได้วางไว้” (อัล-ฟุรกอน : 2)
และอัลลอฮฺได้ตรัสอีกว่า
﴿ إِنَّا كُلَّ شَيۡءٍ خَلَقۡنَٰهُ بِقَدَرٖ ٤٩ ﴾ [القمر: ٤٩]
ความว่า “แท้จริงทุกๆ สิ่งนั้นเราสร้างมันตามกำหนดการที่ได้วางไว้” (อัล-เกาะมัรฺ : 49)
และอัลลอฮฺได้ตรัสอีกว่า
﴿وَكَانَ أَمۡرُ ٱللَّهِ قَدَرٗا مَّقۡدُورًا ٣٨ ﴾ [الأحزاب: ٣٨]
ความว่า “และพระบัญชาของอัลลอฮฺนั้นได้กําหนดไว้แล้ว” (อัลอะหฺซาบ : 38)
อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้กำหนดลิขิตและความเป็นไปของสิ่งถูกสร้างทุกอย่างทั้งที่เป็นสิ่งดีๆ และสิ่งที่ไม่ดี ในหะดีษเศาะฮีหฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«وَتُؤْمِنُ بِالقَدَرِ خَيْرِهِ وَشَرِّهِ» [رواه مسلم برقم 8 من حديث عمر بن الخطاب رضي الله عنه]
ความว่า “และการที่ท่านได้ศรัทธาในเกาะดัรฺ(ลิขิตที่อัลลอฮฺได้กำหนดมาแล้ว)ทั้งที่เป็นสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดีทุกอย่าง” (บันทึกโดยมุสลิม หมายที่ 8 จากหะดีษของท่านอุมัรฺ อิบนุ อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ)
ความรอบรู้ของอัลลอฮฺ ตะอาลา จะอยู่ควบคู่ไปกับเกาะดัรฺของพระองค์เสมอ และจะไม่มีผู้ใดสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ ในสิ่งที่จะเกิดขึ้น นอกจากผู้ที่รอบรู้ในสิ่งเหล่านั้นเท่านั้น และจะไม่มีผู้ใดสามารถล่วงรู้รายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้น วินาทีความเป็นไปของสิ่งดังกล่าว สถานที่ การเปลี่ยนแปลง จุดเริ่มต้นและจุดจบของสิ่งดังกล่าวนอกจากผู้สร้างสิ่งดังกล่าวเท่านั้น อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า
﴿لِتَعۡلَمُوٓاْ أَنَّ ٱللَّهَ عَلَىٰ كُلِّ شَيۡءٖ قَدِيرٞ وَأَنَّ ٱللَّهَ قَدۡ أَحَاطَ بِكُلِّ شَيۡءٍ عِلۡمَۢا ١٢ ﴾ [الطلاق: ١٢]
ความว่า “เพื่อพวกเจ้าจะได้รู้ว่า อัลลอฮฺคือพระผู้ทรงอานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง และ อัลลอฮฺนั้นทรงโอบล้อมทุกสรรพสิ่งด้วยความรอบรู้” (อัฏ-เฏาะลาก : 12)
อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสอีกว่า
﴿ أَلَا يَعۡلَمُ مَنۡ خَلَقَ وَهُوَ ٱللَّطِيفُ ٱلۡخَبِيرُ ١٤ ﴾ [الملك: ١٤]
ความว่า “พระองค์ผู้ทรงสร้างจะไม่ทรงรอบรู้ดอกหรือ? พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้อย่างถี่ถ้วนผู้ทรงตระหนักยิ่ง” (อัล-มุลกฺ : 14)
ใครผู้ใดก็ตามที่ได้ปฏิเสธลิขิตแห่งกฎสภาวการณ์หรือเกาะดัรฺของอัลลอฮฺ ตะอาลา แสดงว่าเขาผู้นั้นก็ได้ปฏิเสธต่อความรู้ของอัลลอฮฺ ในทางกลับกันใครผู้ใดที่ปฏิเสธความรู้ของอัลลอฮฺ ย่อมถือว่าเขาผู้นั้นก็ได้ปฏิเสธต่อเกาะดัรฺของอัลลอฮฺด้วยเช่นกัน
เกาะดัรฺหรือกำหนดการที่กำหนดไว้แก่สิ่งถูกสร้างทั้งหลายถูกบันทึกไว้ ณ อัลลอฮฺ ตะอาลา ในสมุดบันทึก อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿مَّا فَرَّطۡنَا فِي ٱلۡكِتَٰبِ مِن شَيۡءٖۚ﴾ [الانعام: ٣٨]
ความว่า “เราไม่ได้ให้มีความบกพร่องใดๆ ในสมุดบันทึก” (อัล-อันอาม : 38)
และอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสอีกว่า
﴿وَكُلَّ شَيۡءٍ أَحۡصَيۡنَٰهُ فِيٓ إِمَامٖ مُّبِينٖ ١٢ ﴾ [يس: ١٢]
ความว่า “และทุกสิ่งนั้นเราได้รวบรวมไว้อย่างครบถ้วนในบันทึกอันชัดแจ้ง” (ยาซีน : 12)
มัคลูก หรือสิ่งถูกสร้างทั้งหลายของอัลลอฮฺ สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภท
ประเภทที่ 1 มัคลูกของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่เกิดขึ้นและเป็นไปตามการกำหนดของอัลลอฮฺ ตะอาลา โดยที่สิ่งถูกสร้างเหล่านั้นไม่มีความต้องการและไม่อาจเลือกตามความประสงค์ของตนเอง เช่น ดวงดาว และจักรวาล
ประเภทที่ 2 มัคลูกของอัลลอฮฺที่มีความต้องการและสามารถเลือกตามความประสงค์ของตนเองได้ อย่างเช่น มนุษย์ ญิน มะลาอิกะฮฺ อัลลอฮฺมิได้ทรงกำกับพวกเขาเหล่านั้นโดยปราศจากการเลือกของพวกเขาเองอยู่ด้วย เพราะถ้ากำกับโดยปราศจากการเลือกของพวกเอง นั่นก็เท่ากับเป็นการบังคับพวกเขาให้ทำบาปหรือมะอฺศิยะฮฺต่อพระองค์เอง(ยามที่คนเหล่านั้นทำบาป) และยังจะทรงลงโทษพวกเขาด้วยการกระทำดังกล่าวอีกด้วย(ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง) และแน่นอนว่าความประสงค์ของมนุษย์เองก็จะเป็นไปมิได้หากปราศจากจากการกำกับของอัลลอฮฺ เพราะถ้าหากมนุษย์สามารถทำได้เองโดยปราศจากการกำกับของอัลลอฮฺ แสดงว่าพวกเขาก็จะเป็นภาคีกับพระองค์ทั้งในเรื่องการกระทำและการประสงค์ ทว่าอัลลอฮฺได้กำหนดให้ความประสงค์ของมนุษย์นั้นอยู่ภายใต้อำนาจความประสงค์ของพระองค์ อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿ إِنۡ هُوَ إِلَّا ذِكۡرٞ لِّلۡعَٰلَمِينَ ٢٧ لِمَن شَآءَ مِنكُمۡ أَن يَسۡتَقِيمَ ٢٨ وَمَا تَشَآءُونَ إِلَّآ أَن يَشَآءَ ٱللَّهُ رَبُّ ٱلۡعَٰلَمِينَ ٢٩ ﴾ [التكوير: ٢٧، ٢٩]
ความว่า “มันมิใช่อื่นใดนอกจากเป็นข้อตักเตือนแก่สากลโลก สำหรับบุคคลในหมู่พวกเจ้าที่ประสงค์อยู่ในทางอันเที่ยงตรง และพวกเจ้าจะไม่บรรลุถึงความต้องการใดๆ นอกจากอัลลอฮฺพระเจ้าแห่งจักรวาลทั้งมวลจะมีความประสงค์(ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น)” (อัตตักวีรฺ : 27 - 29)
อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้สร้างทั้งมนุษย์และสิ่งที่พวกเขากระทำด้วย อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿ قَالَ أَتَعۡبُدُونَ مَا تَنۡحِتُونَ ٩٥ وَٱللَّهُ خَلَقَكُمۡ وَمَا تَعۡمَلُونَ ٩٦ ﴾ [الصافات: ٩٥- ٩٦]
ความว่า “นบีอิบรอฮีมกล่าวว่า พวกท่านเคารพสักการะสิ่งที่พวกท่านแกะสลักกระนั้นหรือ? ทั้งๆ ที่อัลลอฮฺทรงสร้างพวกท่านและสิ่งที่พวกท่านทำขึ้น” (อัศ-ศอฟฟาต : 95 - 96)
อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้สร้างสาเหตุและพระองค์ได้สร้างที่มาของสาเหตุ เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้สร้างสิ่งที่เกิดขึ้นจากสาเหตุดังกล่าว เหล่านี้คือผลแห่งความกว้างใหญ่ไพศาลของความรอบรู้ ความยิ่งใหญ่ของหิกมะฮฺ(วิทยปัญญา)ของพระองค์ในการดำเนินการบริหารสิ่งต่างๆ ที่พระองค์ได้สร้างมาบนแนวทางและระบบระเบียบของพระองค์
และไม่อนุญาตให้เลิกหรือระงับการศรัทธาในสิ่งที่ปัญญาไม่สามารถทำความเข้าใจได้ในเหตุผลและข้อเท็จจริงในการกำหนดของอัลลอฮฺต่อสิ่งนั้นๆ เพราะหิกมะฮฺบางอย่างก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้ด้วยปัญญา ปัญญาเป็นเหมือนกับภาชนะใส่น้ำ ส่วนหิกมะฮฺบางอย่างนั้นเป็นเหมือนกับมหาสมุทรที่ภาชนะดังกล่าวไม่สามารถรับมหาสมุทรอันมากมายดังกล่าวได้ และถ้าจะเทหิกมะฮฺลงไปให้ล้นในปัญญา แน่นอนว่ามันจะทำให้สตินั้นพังและฟั่นเฟือนไปใน
หิกมะฮฺบางอย่างนั้น การใคร่ครวญมันอย่างยาวนานก็ไม่ได้เพิ่มอะไรเลยนอกจากความสับสนฟั่นเฟือนมากเข้าไปอีก ซึ่งมันก็เหมือนกับการใช้สายตาเพ่งมองอย่างยาวนานไปยังดวงอาทิตย์ที่เจิดจ้าในช่วงเที่ยงวัน ที่ไม่ได้เพิ่มอะไรให้กับดวงตามากไปกว่าความเจ็บปวดและความสับสนพร่ามัว
```
การตายเป็นสัจธรรม อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿كُلُّ مَنۡ عَلَيۡهَا فَانٖ ٢٦ وَيَبۡقَىٰ وَجۡهُ رَبِّكَ ذُو ٱلۡجَلَٰلِ وَٱلۡإِكۡرَامِ﴾ [الرحمن : 26-27]
ความว่า “ทุกสรรพสิ่งที่อยู่บนแผ่นดินย่อมแตกดับ และพระพักตร์ของพระผู้อภิบาลของเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่ ผู้ทรงโปรดปรานเท่านั้นที่จะยังคงเหลืออยู่” (อัร-เราะหฺมาน : 26-27)
` และส่วนหนึ่งจากองค์ประกอบของการศรัทธา ก็คือการศรัทธาในสิ่งที่จะบังเกิดขึ้นหลังจากความตายตามที่มีปรากฏในวิวรณ์ (วะห์ยู) อาทิ ความโกลาหลในหลุมฝังศพ การลงโทษ และความเปี่ยมสุขที่จะเกิดขึ้นในนั้น
` รวมถึงการศรัทธาต่อการฟื้นคืนชีพด้วย อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَنُفِخَ فِي ٱلصُّورِ فَإِذَا هُم مِّنَ ٱلۡأَجۡدَاثِ إِلَىٰ رَبِّهِمۡ يَنسِلُونَ﴾ [يس : 51]
ความว่า “และสังข์ก็จะถูกเป่าขึ้น ทันใดนั้นพวกเขาจะออกจากหลุมฝังศพ แล้วพวกเขาก็รีบรุดไปยังพระผู้อภิบาลของพวกเขา” (ยาซีน : 51)
ส่วนผู้ที่สงสัยเคลือบแคลงในเรื่องดังกล่าว เท่ากับเป็นผู้ปฏิเสธ(กาฟิรฺ)ต่ออัลลอฮฺ ดังที่พระองค์ตรัสว่า
﴿وَأَمَّا ٱلَّذِينَ كَفَرُوٓاْ أَفَلَمۡ تَكُنۡ ءَايَٰتِي تُتۡلَىٰ عَلَيۡكُمۡ فَٱسۡتَكۡبَرۡتُمۡ وَكُنتُمۡ قَوۡمٗا مُّجۡرِمِينَ ٣١ وَإِذَا قِيلَ إِنَّ وَعۡدَ ٱللَّهِ حَقّٞ وَٱلسَّاعَةُ لَا رَيۡبَ فِيهَا قُلۡتُم مَّا نَدۡرِي مَا ٱلسَّاعَةُ إِن نَّظُنُّ إِلَّا ظَنّٗا وَمَا نَحۡنُ بِمُسۡتَيۡقِنِينَ﴾ [الجاثية : 31-32]
ความว่า “และส่วนบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น หรือโองการต่างๆ ของข้ามิได้ถูกสาธยายแก่พวกเจ้ากระนั้นหรือ? แต่พวกเจ้าโอ้อวดโอหังและพวกเจ้าเป็นกลุ่มชนผู้กระทำผิด และเมื่อได้มีการกล่าวว่า แท้จริงสัญญาของอัลลอฮฺนั้นเป็นความจริง และยามอวสานนั้นไม่มีข้อสงสัยอันใดในเรื่องนั้น พวกเจ้าก็จะกล่าวว่า เราไม่รู้ว่ากาลอวสานคืออะไร? เราคิดว่ามันมิใช่อะไรเลย นอกจากเป็นการคาดเดาเท่านั้น และเรามิได้เป็นผู้เชื่อมั่นในเรื่องนี้” (อัล-ญาษิยะฮฺ : 31-32)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ปฏิเสธต่อโลกอาคิเราะฮฺ อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿بَلۡ كَذَّبُواْ بِٱلسَّاعَةِۖ وَأَعۡتَدۡنَا لِمَن كَذَّبَ بِٱلسَّاعَةِ سَعِيرًا﴾ [الفرقان : 11]
ความว่า “แต่ว่าพวกเขาปฏิเสธวันอวสาน และเราได้เตรียมไฟอันร้อนแรงไว้สำหรับผู้ปฏิเสธต่อวันอวสาน” (อัล-ฟุรกอน : 11)
` และส่วนหนึ่งจากการศรัทธาในเรื่องนี้ก็คือการศรัทธาต่อการสอบสวนคิดบัญชี อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَنَضَعُ ٱلۡمَوَٰزِينَ ٱلۡقِسۡطَ لِيَوۡمِ ٱلۡقِيَٰمَةِ فَلَا تُظۡلَمُ نَفۡسٞ شَيۡٔاۖ وَإِن كَانَ مِثۡقَالَ حَبَّةٖ مِّنۡ خَرۡدَلٍ أَتَيۡنَا بِهَاۗ وَكَفَىٰ بِنَا حَٰسِبِينَ﴾ [الأنبياء : 47]
ความว่า “และเราตั้งตราชูที่เที่ยงธรรมสำหรับวันกิยามะฮฺ ดังนั้นจะไม่มีชีวิตใดถูกอธรรมแต่อย่างใดเลย และแม้ว่ามันเป็นเพียงน้ำหนักเท่าเมล็ดพืชเราก็จะนำมันมาแสดง และเป็นการพอเพียงแล้วสำหรับเราที่เป็นผู้ชำระสอบสวน” (อัล-อันบิยาอ์ : 47)
` ส่วนหนึ่งคือการศรัทธาต่อการตอบแทนด้วยภาคผลบุญหรือการลงโทษ ศรัทธาต่อเรื่องสวนสวรรค์และหุบเหวแห่งไฟนรก อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿فَأَمَّا ٱلَّذِينَ شَقُواْ فَفِي ٱلنَّارِ لَهُمۡ فِيهَا زَفِيرٞ وَشَهِيقٌ﴾ [هود : 106]
ความว่า “ดังนั้นสำหรับบรรดาผู้ที่มีโชคร้ายก็จะอยู่ในนรก ซึ่งในนั้นพวกเขาจะมีเสียงถอนหายใจและเสียงสะอื้น” (ฮูด : 106)
และอัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَأَمَّا ٱلَّذِينَ سُعِدُواْ فَفِي ٱلۡجَنَّةِ﴾ [هود : 109]
ความว่า “และสำหรับบรรดาผู้ที่โชคดีก็จะอยู่ในสวนสวรรค์” (ฮูด : 108)
บรรดาผู้ปฏิเสธจะต้องถูกจองจำพันธนาการในหุบเหวแห่งไฟนรก ส่วนบรรดาผู้ศรัทธาจะได้พำนักในสวนสวรรค์อันบรมสุข อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿فَأَمَّا ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ فَأُعَذِّبُهُمۡ عَذَابٗا شَدِيدٗا فِي ٱلدُّنۡيَا وَٱلۡأٓخِرَةِ وَمَا لَهُم مِّن نَّٰصِرِينَ ٥٦ وَأَمَّا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ فَيُوَفِّيهِمۡ أُجُورَهُمۡۗ وَٱللَّهُ لَا يُحِبُّ ٱلظَّٰلِمِينَ﴾ [آل عمران : 56-57]
ความว่า “ส่วนบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้น ข้าจะลงโทษพวกเขาอย่างรุนแรงทั้งในโลกนี้และปรโลก และจะไม่มีบรรดาผู้ช่วยเหลือใดสำหรับพวกเขา ส่วนบรรดาผู้ศรัทธาและประกอบคุณงามความดีทั้งหลายนั้น พระองค์จะทรงตอบแทนแก่พวกเขาโดยครบถ้วนด้วยรางวัลของพวกเขา และอัลลอฮฺนั้นไม่ทรงชอบบรรดาผู้อธรรม” (อาล อิมรอน : 56-57)
` และนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องศรัทธาต่อทุกเรื่องราวของโลกอาคิเราะฮฺตามที่มีปรากฏในตัวบท อาทิ สะพานศิรอฏ ตาชั่ง สระน้ำ บัญชีบันทึกการงานความดี-ความชั่ว
```
การอยู่ร่วมกับญะมาอะฮฺเป็นสิ่งจำเป็น(วาญิบ) และไม่นับว่าเป็นญะมาอะฮฺนอกจากจะต้องมีผู้นำ (อิมาม) การเชื่อฟังปฏิบัติตามผู้นำปวงชนมุสลิมนั้น ต้องกระทำภายใต้การเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮฺ อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ أَطِيعُواْ ٱللَّهَ وَأَطِيعُواْ ٱلرَّسُولَ وَأُوْلِي ٱلۡأَمۡرِ مِنكُمۡۖ﴾ [النساء : 59]
ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และเชื่อฟังเราะสูล และผู้ปกครองในกลุ่มของพวกเจ้าเถิด” (อัน-นิสาอ์ : 59)
คำดำรัสของพระองค์ที่ว่า (مِنكُمۡۖ) ส่วนหนึ่งจากพวกท่าน หมายถึง ส่วนหนึ่งจากบรรดาปวงชนมุสลิม
การแต่งตั้งผู้นำที่เป็นผู้ปฏิเสธ(กาฟิรฺ)ถือว่าไม่ถูกต้อง การสัตยาบัน(บัยอะฮฺ)แก่เขาถือว่าใช้ไม่ได้ และไม่จำเป็น(ไม่วาญิบ)ต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามนอกจากสิ่งที่ตรงกับผลประโยชน์ส่วนรวมของมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์สุขส่วนตัวของเขา
หากในกรณีที่ผู้นำหรือผู้ปกครองไม่ใช่เป็นผู้ที่มีความรู้ ให้เขายึดผู้รู้มาเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้ดำรงกิจการงานทางด้านศาสนาและด้านโลกดุนยาอย่างเที่ยงธรรม อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَإِذَا جَآءَهُمۡ أَمۡرٞ مِّنَ ٱلۡأَمۡنِ أَوِ ٱلۡخَوۡفِ أَذَاعُواْ بِهِۦۖ وَلَوۡ رَدُّوهُ إِلَى ٱلرَّسُولِ وَإِلَىٰٓ أُوْلِي ٱلۡأَمۡرِ مِنۡهُمۡ لَعَلِمَهُ ٱلَّذِينَ يَسۡتَنۢبِطُونَهُۥ مِنۡهُمۡۗ﴾ [النساء : 83]
ความว่า “และเมื่อมีเรื่องหนึ่งเรื่องใดมายังพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยก็ดีหรือความกลัวก็ดี พวกเขาก็จะรีบร้อนแพร่กระจายมันออกไป และหากว่าพวกเขานำมันกลับไปยังเราะสูลและยังผู้ปกครองในกลุ่มพวกเขาแล้ว แน่นอนบรรดาผู้ที่วินิจฉัยมันในกลุ่มพวกเขาก็ย่อมรู้มันได้” (อัน-นิสาอ์ : 83)
และไม่อนุญาตให้วินิจฉัยปัญหาศาสนานอกจากจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เท่านั้น
ไม่อนุญาตให้ตีตัวออกจากการเชื่อฟังปฏิบัติตามผู้นำ หรือโต้แย้งต่อคำสั่งใช้ของเขา และให้อดทนอดกลั้นต่อการอธรรมของเขา ตราบใดที่เขาไม่ทำในสิ่งที่เป็นการปฏิเสธ(กุฟรฺ)ต่ออัลลอฮฺอย่างชัดเจน ดังมีปรากฏในเศาะฮีหฺมุสลิม จากอุมมุ สะละมะฮฺ รายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«إنَّـهُ يُسْتَعْمَلُ عَلَيْكُمْ أُمَـرَاءُ، فَتَعْرِفُونَ وَتُنْكِرُونَ، فَمَنْ كَـرِهَ فَقَدْ بَـرِئَ، وَمَنْ أَنْكَرَ فَقَدْ سَلِـمَ، وَلَكِنْ مَنْ رَضِيَ وَتَابَـعَ» قَالُوا: يَا رَسُولَ الله أَلا نُقَاتِلُـهُـمْ؟ قَالَ: «لا. مَا صَلَّوا». [أخرجه مسلم برقم 1854]
ความว่า “แท้จริง จะมีบรรดาผู้นำถูกแต่งตั้งให้แก่พวกท่าน ซึ่งพวกท่านจะเห็นและรู้บางสิ่งบางอย่างที่พวกเขาทำผิดและพวกท่านก็จะปฏิเสธสิ่งนั้น ใครที่เกลียดชังสิ่งนั้นเขาก็ได้เอาตัวเองพ้นความชั่วนั้นไปแล้ว ส่วนผู้ที่ห้ามปรามสิ่งนั้นเขาจะปลอดภัย แต่ทว่าผู้ที่ยินดีพอใจ(ต่อความชั่ว)และปฏิบัติตาม(นั่นแหละคือพวกที่ผิด)” บรรดาเศาะหาบะฮฺกล่าวว่า โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺเราจะลุกขึ้นสู้กับพวกเขาได้หรือไม่? ท่านตอบว่า “ไม่ได้ ตราบใดที่พวกเขายังคงละหมาด” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ : 1854)
และให้แนะนำตักเตือนบรรดาผู้นำด้วยความรู้คู่กับวิทยปัญญา โดยพยายามกำจัดความชั่วร้ายหรือลดทอนให้ปริมาณความชั่วลดน้อยเบาลง ไม่ใช่ตักเตือนเพื่อความสะใจ ดังมีปรากฏในเศาะฮีหฺมุสลิม จากตะมีม อัด-ดารีย์ รายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«الدِّيْنُ النَّصِيحَةُ» قلنا: لمن؟ قال: « لله وَلِكَتَابِـهِ وَلِرَسُولِـهِ وَلأَئِمَّةِ المُسْلِـمِينَ وَعَامَّتِـهِـمْ». [أخرجه مسلم برقم 55]
ความว่า “ศาสนา คือ การตักเตือนด้วยความจริงใจ” พวกเรากล่าวว่า เพื่อใครล่ะ? ท่านเราะสูลตอบว่า “เพื่ออัลลอฮฺ เพื่อคัมภีร์ของพระองค์ เพื่อเราะสูลของพระองค์ เพื่อบรรดาผู้นำของปวงชนมุสลิม และเพื่อสามัญชนทั่วไป” (บันทึกโดยมุสลิม : 55)
ไม่อนุญาตให้สอดส่องหรือติดตามความลับของผู้นำ หรือนำความตกต่ำในตัวของเขาไปตีแผ่ นำความผิดหรือความไม่ดีไปประจาน และให้แนะนำตักเตือนในเรื่องดังกล่าวอย่างลับๆ เป็นการเฉพาะระหว่างท่านกับเขา
และในกรณีที่เขาได้กำหนดนโยบายที่เป็นความชั่วแก่ประชาชนพร้อมทั้งเปิดเผย หากเขาทราบให้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวแก่เขาเป็นการส่วนตัว จนกระทั่งเขาเปลี่ยนแปลง กลับเนื้อกลับตัว และปรับปรุงตัว เมื่อเป็นเช่นนี้ให้สนับสนุนเขาต่อ หากไม่เป็นเช่นนั้นให้ชี้แจงความชั่วดังกล่าวแก่ประชาชน เพราะเรื่องดังกล่าวนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องกล่าวตักเตือนแก่พวกเขา และเป็นสิทธิของศาสนาที่ผู้ตักเตือนนับถือและศาสนาของคนอื่นๆ ด้วย เพื่อว่าจะได้ไม่เปลี่ยนแปลงบทบัญญัติและศาสนาอิสลาม ซึ่งนี่คือความหมายของหะดีษที่ว่า “การตักเตือนด้วยความจริงใจเพื่ออัลลอฮฺ เพื่อคัมภีร์ของพระองค์ เพื่อเราะสูลของพระองค์ เพื่อบรรดาผู้นำของปวงชนมุสลิม และเพื่อสามัญชนทั่วไป” และสิทธิของศาสนานั้นต้องมาก่อนสิทธิของคนอื่น
และผู้รู้นั้นจะต้องไม่ทำตัวออกห่างหรือปลีกตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของประชาชนและสิ่งที่เป็นผลประโยชน์สำหรับพวกเขา
ถ้าเขาคิดว่าตัวเองควรสมถะ ก็ให้เขารู้ว่าแท้ที่จริงความสมถะนั้นเป็นสิ่งที่น่าชมเชยยกย่องถ้ามันเกี่ยวกับเรื่องโลกส่วนตัวของเขาซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนตัวของเขาคนเดียว แต่ความสมถะจะไม่เป็นที่น่าชมเชยถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนมาก โดยที่เขาคิดจะปลีกตัวหรือไม่ทุ่มเทเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเหล่านั้น เพราะฉะนั้น เขาจะต้องให้การช่วยเหลือผู้ถูกอธรรมถึงแม้จะด้วยการบริจาคทรัพย์แค่น้อยนิด และให้อาหารแก่ผู้ที่หิวโหยแม้ว่าด้วยอินทผลัมเพียงผลเดียวก็ตาม เพราะผู้รู้นั้นมีอำนาจบารมีเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ การที่เขาได้ร่วมส่งเสริมปรับปรุงแก้ไขเรื่องความเป็นอยู่ทางโลกของผู้คนทั้งหลายนั้นจะเป็นประตู(สื่อ)ในการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องศาสนาของพวกเขาด้วย เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่เคยทำงานแล้วเงยหน้าเพื่อหวังทรัพย์สินในโลกดุนยา ถึงกระนั้น ท่านก็ได้ทุ่มเทช่วยเหลือทาสหญิงที่ชื่อบะรีเราะฮฺและคนอื่นๆ (โดยการไถ่ทาส) ด้วยทองคำจำนวนหนึ่ง และท่านได้เทศนาธรรมส่งเสริมเรียกร้องผู้คนในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย
```
การญิฮาด (ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ) ยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งวันกิยามะฮฺ หุก่มของการญิฮาดจะไม่ถูกยกเลิกจากหน้าแผ่นดินแม้เพียงวันเดียวตราบใดที่อัลกุรอานยังอยู่
ญาบิรฺได้รายงานจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านกล่าวว่า
«لَا تَزَالُ طَائِفَةٌ مِنْ أُمَّتِي يُقَاتِلُونَ عَلَى الْحَقِّ ظَاهِرِينَ إِلَى يَوْمِ الْقِيَامَةِ» [مسلم برقم 156]
ความว่า “กลุ่มหนึ่งจากประชาชาติของฉันจะยังคงยืนหยัดต่อสู้บนสัจธรรมและมีชัยเหนือศัตรูจนกระทั่งวันกิยามะฮฺ” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 156)
การญิฮาดเพื่อปกป้องจากการโจมตีและรุกรานของคนอื่น (ญิฮาด อัด-ดัฟอฺ) ไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากผู้นำก่อน และเจตนาใดๆ ของการญิฮาดจะไม่บรรลุผลนอกจากเพื่อขจัดและปกป้องจากอันตรายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่วาญิบ ถึงแม้ว่าจะเป็นการปกป้องเกียรติ หรือชีวิต หรือทรัพย์สินก็ตาม
ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ قُتِلَ دُونَ مَالِهِ فَهُوَ شَهِيدٌ، وَمَنْ قُتِلَ دُونَ أَهْلِهِ، أَوْ دُونَ دَمِهِ، أَوْ دُونَ دِينِهِ فَهُوَ شَهِيدٌ» [أبو داود برقم 4772، والترمذي برقم 1421، والنسائي برقم 4095، وابن ماجه مختصرا برقم 2580 ، من حديث سعيد بن زيد، وقال الترمذي : هذا حديث حسن»
ความว่า “ผู้ใดถูกฆ่าตายเพื่อปกป้องทรัย์สินของตนเอง เขาจะตายชะฮีด และผู้ใดถูกฆ่าตายเพื่อปกป้องครอบครัวของตนเอง หรือเลือดเนื้อของตนเอง หรือศาสนาของตนเอง เขาจะตายชะฮีด” (บันทึกโดยอบูดาวูด หมายเลข 4772 อัตติรมิซีย์ หมายเลข 1421 อันนะสาอีย์ หมายเลข 4095 และอิบนุมาญะฮฺโดยย่อ หมายเลข 2580 จากหะดีษที่รายงานโดยสะอีด อิบนุ ซัยดฺ, อัต-ติรมิซีย์กล่าวว่าเป็นหะดีษหะสัน)
และเป็นหะดีษที่มีบันทึกโดยย่อในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ (หมายเลข 2348) และเศาะฮีหฺ มุสลิม (หมายเลข 141) จากหะดีษที่รายงานโดยอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา
และจำเป็น (วาญิบ) ต้องปกป้องจากผู้ที่โจมตีเกียรติ เลือดเนื้อ (ร่างกาย) และทรัพย์สิน ไม่ว่าผู้โจมตีนั้นจะเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาหรือเป็นมุสลิมก็ตาม ดังมีบันทึกในสุนัน อัน-นะสาอีย์ ซึ่งกอบูสได้รับรายงานจากบิดาของท่านว่า “ชายคนหนึ่งได้ไปหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พลันกล่าวว่า “(จะให้ฉันปฏิบัติอย่างไรกับ) ชายคนหนึ่งได้มาหาฉันเพื่อหวังในทรัพย์สินของฉัน? ท่านกล่าวว่า “จงตักเตือนเขาให้รำลึกถึงอัลลอฮฺ” ชายคนนั้นกล่าวต่อไปว่า “หากเขาไม่สำนึก (จะให้ทำทำอย่างไร)?” ท่านกล่าวว่า “เจ้าก็จงขอให้ชาวมุสลิมที่อยู่รอบข้างเจ้าช่วยปกป้องเจ้าจากชายคนนั้น” ชายคนนั้นกล่าวต่อไปว่า “หากไม่มีมุสลิมคนใดอยู่รอบกายฉันล่ะ”? ท่านกล่าวว่า “เจ้าก็จงร้องเรียนให้ผู้ปกครองช่วยคุ้มครองเจ้าจากชายคนนั้น” ชายคนนั้นกล่าวต่อไปว่า “หากผู้ปกครองอยู่ห่างไกลจากฉันล่ะ?” ท่านกล่าวว่า “เจ้าก็จงต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพย์สินของเจ้า จนกระทั่งเจ้า (ถูกฆ่าตายจน) กลายเป็นหนึ่งในบรรดาชะฮีดวันอาคิเราะฮฺ หรือเจ้าสามารถปกป้องทรัพย์สินของเจ้า” (บันทึกโดยอัน-นะสาอีย์ หมายเลข 4081, อิบนุ อบีชัยบะฮฺ หมายเลข 28043, อะหมัด หมายเลข 22514, และอัฏ-เฏาะบะรอนีย์ในมุอฺญัม อัล-กะบีรฺ เล่ม 20 หน้า 313)
ส่วนการญิฮาดประเภทจู่โจม (ญิฮาด อัฏ-เฏาะลับ) จำเป็นต้องมีเจตนาเพื่อเชิดชูศาสนาของอัลลอฮฺให้สูงส่ง ดังมีรายงานจากอบู มูซา อัล-อัชอะรีย์ว่า ชายเบดูอิน(ชนบท)คนหนึ่งได้ไปหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วกล่าวว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ชายคนหนึ่งได้ต่อสู้เพื่อหวังทรัพย์สิน ชายอีกคนหนึ่งต่อสู้เพื่อหวังให้ได้รับการกล่าวขาน และชายอีกคนหนึ่งต่อสู้เพื่อให้คนอื่นเห็นถึงสถานะของตัวเอง (อยากทราบว่า) ผู้ใด (ในบรรดาบุคคลสามประเภทดังกล่าว) ที่ต่อสู่ในหนทางของอัลลอฮฺ?”
ท่านเราะสูลตอบว่า
«مَنْ قَاتَلَ لِتَكُونَ كَلِمَةُ اللهِ أَعْلَى، فَهُوَ فِي سَبِيلِ اللهِ» [البخاري برقم 123، ومسلم برقم 1904]
ความว่า “ผู้ใดที่ต่อสู้เพื่อให้ศาสนาของอัลลอฮฺเกิดความสูงส่ง การต่อสู้ของเขาก็อยู่ในหนทางของอัลลอฮฺ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 123, 2655 และมุสลิม หมายเลข 1904)
การญิฮาดประเภทจู่โจมนี้จำเป็นต้องเชื่อฟังผู้นำ ต้องรับฟังความคิดเห็น และต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้นำในสิ่งที่ไม่เป็นการทรยศหรือละเมิดต่อบัญญัติของอัลลอฮฺ
มีระบุในหะดีษเศาะฮีหฺว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ أَطَاعَنِي فَقَدْ أَطَاعَ اللهَ، وَمَنْ عَصَانِي فَقَدْ عَصَى اللهَ، وَمَنْ أَطَاعَ أَمِيرِي فَقَدْ أَطَاعَنِي، وَمَنْ عَصَى أَمِيرِي فَقَدْ عَصَانِي» [البخاري برقم 6718، ومسلم برقم 1835 من حديث أبي هريرة رضي الله عنه]
ความว่า “ผู้ใดเชื่อฟังฉัน ก็เท่ากับว่าเขาได้เชื่อฟังอัลลอฮฺ และผู้ใดทรยศต่อฉัน ก็เท่ากับว่าเขาได้ทรยศต่ออัลลอฮฺ และผู้ใดเชื่อฟังผู้นำของฉัน ก็เท่ากับว่าเขาได้เชื่อฟังฉัน และผู้ใดทรยศต่อผู้นำของฉัน ก็เท่ากับว่าเขาได้ทรยศต่อฉัน” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 6718 มุสลิม หมายเลข 1835 จากการรายงานของอบูฮุร็อยเราะฮฺ)
```
เราจะไม่หุก่มผู้ใดในหมู่ชาวมุสลิมว่าเป็นกาฟิรฺเนื่องจากการกระทำบาปของเขา นอกจากบาปที่ถึงขั้นทำให้เป็นกาฟิรฺเท่านั้น และส่วนหนึ่งของบาปที่เป็นกาฟิรฺคือ การด่าทอและดูหมิ่นอัลลอฮฺ
การด่าทอและดูหมิ่นอัลลอฮฺนั้นเป็นบาปที่ร้ายแรงกว่าการตั้งภาคีต่อพระองค์ เนื่องจากผู้ตั้งภาคีต่อพระองค์ไม่เคยลดสถานะของพระองค์ให้ต่ำลงเท่ากับสถานะของก้อนหิน แต่ทว่าพวกเขาจะยกสถานะของก้อนหินให้เทียบเท่ากับสถานะของอัลลอฮฺ ดังคำตรัสของพระองค์ที่ว่า
﴿ تَٱللَّهِ إِن كُنَّا لَفِي ضَلَٰلٖ مُّبِينٍ ٩٧ إِذۡ نُسَوِّيكُم بِرَبِّ ٱلۡعَٰلَمِينَ ٩٨ ﴾ [الشعراء: ٩٧-٩٨]
ความว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ แท้จริงพวกเราอยู่ในการหลงผิดอย่างชัดแจ้ง เมื่อครั้งที่พวกเราได้ยกย่อง(กราบไหว้บูชา)พวกเจ้า(หมายถึงก้อนหินที่เป็นเจว็ดทั้งหลาย) เท่าเทียมกับพระเจ้าแห่งสากลโลก” (อัช-ชุอะรออ์ 7-98)
แต่ผู้ที่ด่าทอและดูหมิ่นอัลลอฮฺจะลดสถานะของอัลลอฮฺลงต่ำยิ่งกว่าสถานะของก้อนหินเสียอีก
การด่าทอและดูหมิ่นอัลลอฮฺเป็นการปฏิเสธศรัทธาที่ร้ายแรง และการปฏิเสธศรัทธาก็มีเพิ่มมีลดเหมือนกับกรณีของการศรัทธา เช่นที่อัลลอฮฺตรัสถึงการเพิ่มขึ้นของการปฏิเสธศรัทธาว่า
﴿ إِنَّمَا ٱلنَّسِيٓءُ زِيَادَةٞ فِي ٱلۡكُفۡرِۖ ﴾ [التوبة: ٣٧]
ความว่า “แท้จริงการเลื่อนเดือนที่ต้องห้ามให้ล่าช้าออกไปเป็นการเพิ่มการปฏิเสธศรัทธา(ต่ออัลลอฮฺ)” (อัต-เตาบะฮฺ 37)
พระองค์ตรัสว่า
﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ بَعۡدَ إِيمَٰنِهِمۡ ثُمَّ ٱزۡدَادُواْ كُفۡرٗا لَّن تُقۡبَلَ تَوۡبَتُهُمۡ وَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلضَّآلُّونَ ٩٠ ﴾ [آل عمران: ٩٠]
ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ที่ได้ปฏิเสธศรัทธาหลังจากการศรัทธาของพวกเขา แล้วพวกเขา(ได้กระทำในสิ่งที่ยิ่ง)เพิ่มการปฏิเสธศรัทธา อัลลอฮฺจะไม่ทรงรับการสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวของพวกเขาเป็นอันขาด และพวกเขาคือผู้ที่หลงทางอย่างแท้จริง” (อาล อิมรอน 90)
การเพิ่มขึ้นและลดลงของการปฏิเสธศรัทธาไม่ได้หมายถึงว่าสามารถทำให้ผู้ปฏิเสธศรัทธาออกจากไปนรกได้ แต่หมายถึงจะถูกทรมานที่หนักหน่วงขึ้นหรือเบาบางลงเท่านั้นเอง
อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ وَصَدُّواْ عَن سَبِيلِ ٱللَّهِ زِدۡنَٰهُمۡ عَذَابٗا فَوۡقَ ٱلۡعَذَابِ بِمَا كَانُواْ يُفۡسِدُونَ ٨٨ ﴾ [النحل: ٨٨]
ความว่า “บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและสกัดกั้นหนทางของอัลลอฮฺ เราจะเพิ่มการลงโทษแก่พวกเขาให้เหนือกว่าการลงโทษทั่วไป เนื่องจากพวกเขาได้ก่อความเสียหาย” (อันนะหฺลุ 16:88)
และเราจะไม่เป็นพยานหรือยืนยันผู้ใดอย่างเจาะจงว่าเป็นชาวสวรรค์หรือชาวนรก นอกจากผู้ที่ได้รับการยืนยันจากอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์เท่านั้น และเราจะยืนยันผู้ใดที่เสียชีวิตในสภาพที่เป็นผู้ศรัทธาว่าเป็นชาวสวรรค์ และผู้ที่เสียชีวิตในสภาพที่ปฏิเสธศรัทธาว่าเป็นชาวนรก
```
“อิสรภาพ” ที่แท้จริงนั้น คือ การหลุดพ้นจากทุกสิ่งที่เคารพภักดีนอกจากอัลลอฮฺ ส่วนการเข้าใจความหมายของอิสรภาพว่ามันคือการออกจากแนวทางของอัลลอฮฺ นั่นเท่ากับหันมาตอบสนองตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ และเป็นทาสบูชาตัณหาความอยากนั่นเอง อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ أَفَرَءَيۡتَ مَنِ ٱتَّخَذَ إِلَٰهَهُۥ هَوَىٰهُ وَأَضَلَّهُ ٱللَّهُ عَلَىٰ عِلۡمٖ وَخَتَمَ عَلَىٰ سَمۡعِهِۦ وَقَلۡبِهِۦ وَجَعَلَ عَلَىٰ بَصَرِهِۦ غِشَٰوَةٗ فَمَن يَهۡدِيهِ مِنۢ بَعۡدِ ٱللَّهِۚ أَفَلَا تَذَكَّرُونَ ٢٣﴾ [الجاثية: ٢٣]
ความว่า “เจ้าเคยเห็นผู้ที่ยึดถือเอาอารมณ์ต่ำของเขาเป็นพระเจ้าของเขาบ้างไหม? และอัลลอฮฺทรงทำให้เขาหลงทางด้วยความรอบรู้(ของพระองค์) และทรงผนึกการฟังของเขาและหัวใจของเขา และทรงทำให้มีสิ่งบดบังดวงตาของเขา ดังนั้นผู้ใดเล่าจะชี้แนะแก่เขาหลังจากอัลลอฮฺ พวกเจ้ามิได้ใคร่ครวญกันดอกหรือ?” (อัล-ญาษิยะฮฺ 23)
และผู้ใดเรียกร้องให้ผู้คนกระทำและพูดในทุกสิ่งที่อารมณ์ของตนใฝ่หา -เมื่อไหร่และตอนไหนก็ได้- เช่นนี้แล้วหมายความว่าเขาได้ยอมรับการภักดีของเขาต่ออารมณ์ใฝ่ต่ำและชัยฏอนที่อยู่ในตัวเขา ด้วยเหตุที่ว่ามนุษย์นั้นถูกสร้างขึ้นมาในฐานะบ่าวคนหนึ่ง เมื่อเขาปฏิเสธที่จะภักดีต่ออัลลอฮฺ เขาก็จะกลายเป็นผู้ที่ภักดีต่อสิ่งอื่นจากพระองค์โดยปริยาย
ถ้าหากว่าบนพื้นโลกนี้มีมนุษย์เพียงคนเดียว อัลลอฮฺจะทรงไม่กำหนดบทลงโทษใดๆ ให้กับเขาเลยไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฆ่า ปล้นสะดม หรือการซินา(ผิดประเวณี) จะไม่มีคำสั่งให้เขาลดสายตาลงจากการมองสรีระ ไม่กำหนดเรื่องการแบ่งมรดก อีกทั้งพระองค์ทรงไม่กำหนดให้การซินา(ผิดประเวณี) ดอกเบี้ย และอื่นๆ สำหรับเขาเป็นสิ่งหะรอม(ต้องห้าม) ทว่าการที่พระองค์ได้กำหนดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเนื่องจากมีผู้อื่นนอกเหนือจากเขาอยู่ด้วย และเมื่อไหร่ที่จำนวนของผู้คนเพิ่มมากขึ้น กฎเกณฑ์การใช้ชีวิตร่วมกันก็ต้องละเอียดขึ้นตาม(เพื่อการอยู่อย่างเป็นระเบียบและไม่เอาเปรียบต่อกัน) ถ้าหากในจักรวาลนี้มีดวงจันทร์เพียงดวงเดียว อัลลอฮฺจะไม่ทรงกำหนดให้ดวงจันทร์เคลื่อนไหวเป็นไปตามระบบอย่างที่เป็นอยู่นี้ แต่ทว่าที่พระองค์กำหนดให้เคลื่อนไหวไปตามระบบเช่นนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์ โลก และดวงดาวต่างๆ ที่มีอยู่ และทุกครั้งที่จักรวาลนี้มีดวงดาวเพิ่มจำนวนมากขึ้น ระบบต่างๆ ก็จะเพิ่มตามเพื่อให้เป็นไปอย่างมีระบบและระเบียบ
อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿يُغۡشِي ٱلَّيۡلَ ٱلنَّهَارَ يَطۡلُبُهُۥ حَثِيثٗا وَٱلشَّمۡسَ وَٱلۡقَمَرَ وَٱلنُّجُومَ مُسَخَّرَٰتِۢ بِأَمۡرِهِۦٓۗ أَلَا لَهُ ٱلۡخَلۡقُ وَٱلۡأَمۡرُۗ تَبَارَكَ ٱللَّهُ رَبُّ ٱلۡعَٰلَمِينَ ٥٤ ﴾ [الأعراف: ٥٤]
ความว่า “ พระองค์ทรงทำให้กลางคืนครอบคลุมกลางวันในสภาพที่กลางคืนไล่ตามกลาววันโดยเร็ว และทรงสร้างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และบรรดาดวงดาวขึ้น โดยถูกกำหนดให้ทำหน้าที่บริการตามพระบัญชาของพระองค์ พึงรู้เถิดว่าการสร้างและคำสั่งทั้งหลายนั้นเป็นสิทธิของพระองค์เท่านั้น มหาบริสุทธิ์อัลลอฮฺผู้เป็นพระเจ้าแห่งสากลโลก” (อัล-อะอฺรอฟ 54)
และพระองค์ได้ตรัสอีกว่า
﴿ لَا ٱلشَّمۡسُ يَنۢبَغِي لَهَآ أَن تُدۡرِكَ ٱلۡقَمَرَ وَلَا ٱلَّيۡلُ سَابِقُ ٱلنَّهَارِۚ وَكُلّٞ فِي فَلَكٖ يَسۡبَحُونَ ٤٠ ﴾ [يس: ٤٠]
ความว่า “ ดวงอาทิตย์ก็ไม่สมควร(ไม่ถูกอนุมัติ)แก่มันที่จะไล่ตามใกล้ดวงจันทร์ และกลางคืนก็จะไม่ล้ำหน้ากลางวัน และทั้งหมดนั้นจะเวียนว่ายอยู่ในจักรราศี” (ยาซีน 40)
กฎเกณฑ์ต่างๆ ของอิสลามนั้นมีขึ้นเพื่อจัดระเบียบและวางระบบให้กับศาสนาและโลกใบนี้ ดังนั้น ผู้ใดที่พาตัวเองออกจากกฏเกณฑ์ที่อัลลอฮฺได้กำหนดไว้ เป็นการสมควรที่เขาจะได้รับการลงโทษ
การหันเข้าสู่อิสลามนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นโดยดุษฎี ในขณะเดียวกันการออกจากอิสลามนั้นคือการตกศาสนา
﴿وَمَن يَرۡتَدِدۡ مِنكُمۡ عَن دِينِهِۦ فَيَمُتۡ وَهُوَ كَافِرٞ فَأُوْلَٰٓئِكَ حَبِطَتۡ أَعۡمَٰلُهُمۡ فِي ٱلدُّنۡيَا وَٱلۡأٓخِرَةِۖ وَأُوْلَٰٓئِكَ أَصۡحَٰبُ ٱلنَّارِۖ هُمۡ فِيهَا خَٰلِدُونَ ٢١٧ ﴾ [البقرة: ٢١٧]
ความว่า “และผู้ใดในหมู่พวกเจ้ากลับออกไปจากศาสนาของเขา แล้วเขาตายลงขณะที่เขาเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาแล้วไซร้ ชนเหล่านี้แหละบรรดาการงานของพวกเขาไร้ผล ทั้งในโลกนี้และปรโลก และชนเหล่านี้แหละคือชาวนรกซึ่งพวกเขาจะอยู่ในนรกนั้นตลอดกาล” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 217)
ได้มีบันทึกในหนังสือเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ และอื่นๆ ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ بَدَّلَ دِيْنَهُ فَاقْتُلُوْه» [البخاري برقم 2854 من حديث ابن عباس رضي الله عنهما]
ความว่า “ผู้ใดที่เปลี่ยนศาสนาของเขา(ออกจากอิสลาม) เช่นนี้แล้วก็จงประหารเขา” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 2854 จากการรายงานของ อิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา)
และการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ คือ จุดประสงค์หลักของการมีชีวิตอยู่ของสิ่งถูกสร้างทั้งปวง ดังนั้น ผู้ใดก็ตามที่อ้างว่าตัวเองมีสิทธิที่จะเลี่ยงออกจากกฎเกณฑ์นี้ได้ ก็แสดงว่าเขาได้ปฏิเสธและไม่เชื่อว่าสิ่งนี้คือจุดประสงค์หลักในการมีชีวิตอยู่ของเขา ในขณะเดียวกันที่เขาไม่อนุญาตให้ตัวเองออกจากกฎระเบียบของโลก ประเทศ และกฎหมาย แต่กลับอนุญาตให้ตัวเองออกจากการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ กระนั้นหรือ ! ภาวะเช่นนี้เป็นการยอมรับลึกๆ จากภายในว่า จุดประสงค์หลักที่แท้จริงในการมีชีวิตนั้นเป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น หรือจุดประสงค์ที่ว่านี้ได้หายไปจากจิตใจของเขาเสียแล้ว ในขณะที่อัลลอฮฺได้ประกาศว่า
﴿ وَمَا خَلَقۡتُ ٱلۡجِنَّ وَٱلۡإِنسَ إِلَّا لِيَعۡبُدُونِ ٥٦ ﴾ [الذاريات: ٥٦]
ความว่า “และข้ามิได้สร้างญิน และมนุษย์เพื่ออื่นใดเว้นแต่เพื่อเคารพภักดีต่อข้า” (อัซ-ซาริยาต 56)
และผู้ที่ทำให้มนุษย์และญินมีชีวิตอยู่บนโลกนี้เพื่อให้เคารพภักดีต่อพระองค์ ก็จะทรงทำให้พวกเขา(มนุษย์และญิน)มีชีวิตอยู่ในปรโลกเพื่อการตอบแทนความดีและลงโทษพวกเขา
ขออัลลอฮฺทรงปรับปรุงสภาพของเราและบั้นปลายของเราด้วยเถิด
ขอพระองค์ทรงเศาะละวาตต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และผู้ตามท่าน
```
[1] ผู้ที่ถูกบังคับใช้ให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติหรือข้อกฎหมายของศาสนาเมื่อถึงบรรลุนิติภาวะตามที่ศาสนาได้กำหนด