อยู่อย่างยืนหยัด วิธีหยัดยืนให้มั่นคงในศาสนาของอัลลอฮฺ ()

มุหัมมัด ศอลิหฺ อัล-มุนัจญิด

 

การยืนหยัดให้มีความหนักแน่นมั่นคงอยู่ในศาสนาของอัลลอฮฺนั้น ถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่พึงมีในตัวของบรรดาผู้ศรัทธาที่มีความจริงใจและต้องการดำรงอยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรงด้วยความแน่วแน่และได้รับการชี้นำ หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่เปี่ยมไปด้วยการนำเสนอข้อแนะนำถึงวิธียืนหยัดให้มีความหนักแน่นมั่นคงอยู่ในศาสนาของอัลลอฮฺที่ดียิ่ง รวมทั้งได้กล่าวถึงสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่ต้องมีการยืนหยัด พร้อม ๆ กับการนำเสนอเคล็ดลับในการเผชิญกับมัน

|

 วิธียืนหยัดให้มั่นคงในศาสนาของอัลลอฮฺ

“อยู่อย่างยืนหยัด”

 คำนำของผู้แปล

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา กรุณาปรานียิ่ง

มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ผู้ซึ่งดำรัสว่า

﴿ وَلَنَبۡلُوَنَّكُمۡ حَتَّىٰ نَعۡلَمَ ٱلۡمُجَٰهِدِينَ مِنكُمۡ وَٱلصَّٰبِرِينَ وَنَبۡلُوَاْ أَخۡبَارَكُمۡ ٣١﴾ [محمد: ٣١] 

“และแน่นอนเราจะทดสอบพวกเจ้าจนกระทั่งเราจะได้รู้ถึงบรรดาผู้ต่อสู้ดิ้นรน และบรรดาผู้หนักแน่นอดทนในหมู่พวกเจ้า และเราจะทดสอบการงานของพวกเจ้า” (มุหัมมัด : 31)

ขอชุกูรฺและสดุดีต่ออัลลอฮฺ ที่พระองค์ดำรัสอีกว่า

﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ قَالُواْ رَبُّنَا ٱللَّهُ ثُمَّ ٱسۡتَقَٰمُواْ تَتَنَزَّلُ عَلَيۡهِمُ ٱلۡمَلَٰٓئِكَةُ أَلَّا تَخَافُواْ وَلَا تَحۡزَنُواْ وَأَبۡشِرُواْ بِٱلۡجَنَّةِ ٱلَّتِي كُنتُمۡ تُوعَدُونَ ٣٠ ﴾ [فصلت: ٣٠] 

“แท้จริงบรรดาผู้กล่าวว่าอัลลอฮฺคือ พระเจ้าของพวกเราแล้วพวกเขาก็ยืนหยัดตามคำกล่าวนั้น มลาอิกะฮฺจะลงมาหาพวกเขา (โดยกล่าวกับพวกเขาว่า) พวกท่านอย่าหวาดกลัวและอย่าเศร้าสลดใจ แต่จงต้อนรับข่าวดี คือสวนสวรรค์ซึ่งพวกเจ้าได้ถูกสัญญาไว้” (ฟุศศิลัต : 30)

ขอความศานติและพรอันประเสริฐจงมีแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม  ผู้ที่ได้กล่าวความว่า “จงกล่าวเถิดว่า ฉันศรัทธาต่ออัลลอฮฺ แล้วจงยืนหยัด” (มุสลิม : 38) และแด่บรรดาเครือญาติ ตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านทั้งหลาย ผู้ที่ทำหน้าที่ขัดเกลาจิตวิญญาณ และให้ข้อชี้นำแก่หัวใจทั้งหลาย เผยแพร่สาส์นแห่งสัจธรรม ลบล้างหลักการที่ผิดแห่งความเชื่ออันนอกรีต และจุดคบเพลิงแห่งสัจธรรมให้แก่มวลมนุษยชาติ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม

หนังสือ “ อยู่อย่างยืนหยัด วิธียืนหยัดเพื่อการยืนที่มั่นคงในดีนของอัลลอฮฺ ” หรือชื่อในต้นฉบับภาษาอาหรับคือ “وسائل الثبات على دين الله(วะสาอิล อัษ-ษะบาต อะลา ดีนิลลาฮฺ) ซึ่งถ่ายทอดโดยชัยคฺมุหัมมัด ศอลิหฺ อัล-มุนัจญิด หะฟิเซาะฮุลลอฮฺ เล่มนี้ เป็นหนังสือที่เปี่ยมไปด้วยการนำเสนอข้อแนะนำถึงวิธียืนหยัดให้มีความหนักแน่นมั่นคงอยู่ในศาสนาของอัลลอฮฺที่ดียิ่ง รวมทั้งได้กล่าวถึงสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่ต้องมีการยืนหยัด พร้อม ๆ กับการนำเสนอเคล็ดลับในการเผชิญกับมัน

ผมใคร่ขอนำเสนอหนังสือเล่มนี้...

แด่พี่น้อง...ที่กำลังแสวงหาวิธีเพื่อให้ได้ยืนหยัดในศาสนาของอัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา อย่างหนักแน่นมั่นคง

แด่พี่น้อง...ที่มีความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อสู่ชีวิตที่ดีงาม

แด่พี่น้อง...ที่ไม่อยากหวนกลับไปอยู่ในสภาพที่อ่อนแอเหมือนเช่นในอดีต

แด่พี่น้อง...ที่มักจะเพลี่ยงพล้ำอยู่เสมอ หลังจากที่ได้ผ่านกระบวนการขัดเกลามาแล้ว และไม่รู้จะทำอย่างไรที่จะให้สภาพของการยืนหยัดกลับมาอีกครั้ง

แด่พี่น้อง...ที่กำลังประสบกับบททดสอบอันหนักหน่วง แต่ไม่รู้ว่าจะเผชิญกับมันอย่างไร

แด่พี่น้อง...ที่กำลังอยู่ในสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยการยืนหยัดมาเป็นตัวช่วย

แด่พี่น้อง...ที่มีความตั้งใจจะเป็นเฟืองขับอิสลามให้อุมมะฮฺนี้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เนื่องด้วยการยืนหยัดอย่างมั่นคงของตัวเขา

แด่พี่น้อง...ที่ต้องการเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ต่อสู้ดิ้นร้นและผู้ที่หนักแน่นอดทน

และแด่พี่น้อง...ที่ต้องการให้มลาอิกะฮฺลงมาหาพวกเขา (โดยกล่าวกับพวกเขาว่า) พวกท่านอย่าหวาดกลัวและอย่าเศร้าสลดใจ แต่จงต้อนรับข่าวดี คือสวนสวรรค์ซึ่งพวกเจ้าได้ถูกสัญญาไว้

สุดท้ายนี้ ผมขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ทรงประทานทางนำแก่ผมและผู้อ่าน รวมทั้งพี่น้องมุสลิมทั่วโลกให้ได้ปฏิบัติในสิ่งต่าง ๆ ด้วยความสมบูรณ์ มุ่งสู่แนวทางที่ถูกต้องดั่งความถูกต้องในการมุ่งสู่เป้าของลูกศร และขอให้อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ทรงประทานความเมตตาและทรงคุ้มครองเราทั้งหลายให้รอดพ้นจากการลงโทษในวันที่ไม่มีผู้คุ้มครองใดที่จะดียิ่งกว่าพระองค์ และทรงคัดเลือกเราทั้งหลายให้อยู่ในหมู่ชนที่พระองค์ทรงรักทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และเข้าสู่สวรรค์อันบรมสุขของพระองค์ได้อย่างง่ายดายด้วยเถิด และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ที่พอเพียงแก่เราแล้ว และเป็นผู้รับมอบหมายที่ดีเยี่ยม อามีน ยาร็อบบัลอาละมีน

อบูอิบานะฮฺ  ฟิตยะตุลฮัก

เชาวาล 1432 / ตุลาคม 2554


 สารบัญ

บทนำ

 วิธียืนหยัดเพื่อการยืนที่มั่นคง(ในดีนของอัลลอฮฺ)

หนึ่ง การเข้าหาอัลกุรอาน

สอง  การยึดมั่นในบทบัญญัติของอัลลอฮฺ และการปฏิบัติการงานที่ดี(อะมัลศอลิหฺ)

สาม  การใคร่ครวญและศึกษาเรื่องราวของบรรดานบี เพื่อเป็นแบบอย่างและนำไปปฏิบัติตาม

สี่  การวิงวอนขอดุอาอ์

ห้า  การรำลึกถึงอัลลอฮฺ

หก  การกระตุ้นให้มุสลิมดำเนินอยู่บนแนวทางที่เที่ยงตรง

เจ็ด  การตัรฺบิยะฮฺ

แปด  มีความเชื่อมั่นในแนวทางที่ตนกำลังก้าวเดินอยู่

เก้า  ดะอฺวะฮฺเชิญชวนผู้อื่นสู่แนวทางของอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา

สิบ  พยายามใกล้ชิดกับบุคคลที่จะนำมาซึ่งสภาพของการยืนหยัดเพื่อการยืนที่มั่นคงให้แก่ท่าน

สิบเอ็ด  เชื่อมั่นในความช่วยเหลือของอัลลอฮฺและในอนาคตของอิสลาม

สิบสอง  ให้รู้จักแก่นแท้ของความจอมปลอมและไม่หวั่นเกรงมัน

สิบสาม  ปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ส่งผลต่อการยืนหยัดเพื่อการยืนที่มั่นคง(ในดีนของอัลลอฮฺ)

สิบสี่  คำสั่งเสียจากผู้มีคุณธรรม

สิบห้า  พิเคราะห์ถึงความสุขในสวนสวรรค์และบทลงโทษในนรก และรำลึกถึงความตาย

 สนามแห่งการยืนหยัด

หนึ่ง  การยืนหยัดในบททดสอบต่าง ๆ

ประเภทของบททดสอบต่าง ๆ

·      บททดสอบในทรัพย์สินเงินทอง

·      บททดสอบในตำแหน่งเกียรติยศ

·      บททดสอบในตัวภรรยา

·      บททดสอบในตัวลูก ๆ

·      บททดสอบจากผู้กดขี่ ผู้ปกครองที่เผด็จการและผู้อธรรมทั้งหลาย

·      บททดสอบจากดัจญาล

สอง  การยืนหยัดในสนามแห่งการต่อสู้(ญิฮาด)

สาม  การยืนหยัดในวิถีทาง(มันฮัจญ์)ที่ตนเองก้าวเดินอยู่

สี่  การยืนหยัดในขณะที่จะเสียชีวิต


 บทนำ

มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ เราขอสรรเสริญต่อพระองค์ เราขอความช่วยเหลือต่อพระองค์ เราขออภัยโทษต่อพระองค์ และเราขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้รอดพ้นจากความชั่วร้ายของตนเอง และจากความผิดพลาดที่เกิดจากการงานที่เราได้กระทำ ผู้ใดก็ตามที่พระองค์ทรงให้ทางนำแก่เขาก็ไม่มีผู้ใดที่ทำให้เขาหลงทางได้และผู้ใดก็ตามที่พระองค์ทรงให้เขาหลงทางก็ไม่มีใครสามารถทำให้เขาได้รับทางนำ เราขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น โดยที่ไม่มีภาคีใด ๆ ต่อพระองค์ และเราขอปฏิญาณตนว่า แท้จริงมุหัมมัดนั้นเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

อนึ่ง การยืนหยัดให้มีความหนักแน่นมั่นคงอยู่ในศาสนาของอัลลอฮฺนั้น ถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่พึงมีในตัวของบรรดาผู้ศรัทธาที่มีความจริงใจและต้องการดำรงอยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรงด้วยความแน่วแน่และได้รับการชี้นำ

 ความสำคัญของประเด็นนี้สามารถที่จะกล่าวถึงได้ดังต่อไปนี้ :-

-  สภาพของสังคมที่มุสลิมอาศัยอยู่ในปัจจุบันนั้น ต้องเผชิญกับบททดสอบและสิ่งเย้ายวนนานัปการที่ปลุกเร้าพวกเขา(ให้หันเหออกจากแนวทางที่เที่ยงตรง) และเนื่องด้วยอารมณ์ปรารถนากอปรกับสิ่งที่สร้างความคลุมเครือมากมายอันเป็นเหตุให้ ศาสนาได้กลายเป็นสิ่งแปลกใหม่  ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่ยึดมั่นในศาสนาอย่างหนักแน่นมั่นคงนั้นกลับกลายเป็นคนแปลกหน้าในสายตาของสังคม ดังที่ถูกเปรียบไว้อย่างน่าฉงนว่า

«الْقَابِضُ عَلَى دِينِهِ كَالْقَابِضِ عَلَى الْجَمْرِ»

ความว่า “ผู้ที่ยึดมั่นในศาสนา(อย่างหนักแน่นมั่นคง) ประหนึ่งผู้ที่กำลังกำถ่านไฟอันร้อนระอุ”

            ไม่มีข้อสงสัยใดสำหรับผู้ที่มีสติปัญญาใคร่ครวญทั้งหลายว่า บรรดาผู้ศรัทธาในยุคปัจจุบันนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาวิธียืนหยัดเพื่อการยืนที่มั่นคง(ในดีนของอัลลอฮฺ)มากกว่าพี่น้องผู้ศรัทธาในช่วงยุคแรก ๆ ของอิสลามเสียอีก และการฟันฝ่าให้ได้มาซึ่งการยืนหยัดนั้น ถือเป็นงานที่ต้องทุ่มเทมากกว่ายุคก่อน เนื่องจากสภาพอันเสื่อมโทรมของยุคสมัยในปัจจุบัน อีกทั้งสภาพความอ่อนแอและจำนวนอันน้อยนิดของบรรดาพี่น้องผู้ศรัทธาที่จะร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ รวมไปถึงผู้ที่จะคอยให้ความช่วยเหลือและค้ำจุนในเรื่องนี้ก็แทบจะเหลือน้อยเต็มที

            - (ในปัจจุบัน)มีการตกศาสนา หรือการผินหลังออกห่างจากศาสนามากขึ้นกว่าแต่ก่อน รวมถึงการเกิดสภาพความอ่อนแอในการเผชิญหน้ากับสิ่งล่อลวงต่าง ๆ แม้กระทั่งในหมู่นักทำงานศาสนาด้วยกันเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลว่าสิ่งเลวร้ายเหล่านั้นอาจจะประสบแก่บรรดาพี่น้องมุสลิมด้วย จึงต้องแสวงหาแนวทางที่จะก่อให้เกิดการยืนหยัดเพื่อการยืนที่มั่นคง ทั้งนี้เพื่อให้รอดพ้นจากสภาพการณ์ดังกล่าวและก้าวสู่แนวทางที่ปลอดภัยต่อไป

            - ประเด็นข้างต้นนี้มีข้อเกี่ยวพันกับหัวใจ ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้ในเรื่องนี้ว่า

«لَقَلْبُ ابْنِ آدَمَ أَشَدُّ انْقِلَابًا مِنْ الْقِدْرِ إِذَا اجْتَمَعَتْ غَلْيًا»

ความว่า “แท้จริง หัวใจของลูกหลานอาดัมนั้น มีการพลิกผันยิ่งกว่ากาต้มน้ำที่น้ำกำลังเดือดพล่าน” (บันทึกโดยอะหฺมัด 6/4 อัล-หากิม 2/289 ดู อัส-สิลสิละฮฺ อัศ-เศาะฮีหะฮฺ 1772)

ท่านเราะสูลุลลอฮฺ อะลัยฮิศเศาะลาตุวัสสลาม ยังเปรียบหัวใจด้วยตัวอย่างอื่น ๆ อีก ดังที่ท่านได้กล่าวว่า

«إِنَّمَا سُمِّيَ الْقَلْبُ مِنْ تَقَلُّبِهِ، وَمَثَلُ الْقَلْبِ كَمَثَلِ الرِّيشَةِ بِفَلاةٍ تَقَلَّبُ بِأَصْلِ شَجَرَةٍ ، يُقَلِّبُهَا الرِّيحُ ظَهْرًا لِبَطْنٍ»

ความว่า “แท้จริงที่มีการเรียกชื่อหัวใจว่า “อัล-ก็อลบฺ” เนื่องจาก(คุณลักษณะของมัน)ที่มีการพลิกผันไปมา (และ)แท้จริง อุปมาสภาพของหัวใจนั้น อุปไมยดั่งขนนกในสนามกว้างที่ลอยตกไปอยู่บริเวณโคนต้นไม้ เพราะลมได้เป่าให้มันพลิกกลับไปมา” (บันทึกโดยอะหฺมัด 4/408 ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 2361)

กวีท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า

«وَمَا سُمِّيَ الْإِنْسَانُ إِلَّا لِنَسيِهِ ، وَلَا الْقَلْبُ إِلَّا أَنَّهُ يَتَقَلَّب»

ความว่า “ไม่มีการเรียกชื่อมนุษย์ว่า “อัล-อินสาน” นอกจากเพราะเหตุความหลงลืมของเขา และไม่มีการเรียกชื่อหัวใจว่า “อัล-ก็อลบฺ” นอกจากเพราะเหตุที่มันมักพลิกผันไปมาเสมอ”

ดังนั้น การทำให้หัวใจที่ผลิกผันไปมาให้ยืนหยัดอย่างมั่นคงท่ามกลางกระแสแห่งอารมณ์อันใฝ่ต่ำรวมไปถึงสิ่งที่คลุมเครือทั้งหลายที่โหมกระหน่ำมานั้น แน่นอนว่าย่อมเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยง และต้องอาศัยเครื่องมือที่ยิ่งใหญ่เพียงพอกับความใหญ่หลวงของหน้าที่และความซับซ้อนยุ่งยากของมัน

 วิธียืนหยัดเพื่อการยืนที่มั่นคง(ในดีนของอัลลอฮฺ)

            ส่วนหนึ่งจากความเมตตาของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ทรงประทานให้แก่เราทั้งหลาย นั่นคือ พระองค์ทรงชี้แจงแก่เราในคัมภีร์อันมีเกียรติของพระองค์และผ่านคำสั่งสอนของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ให้ข้อชี้นำในวิธีการสู่การยืนหยัดเพื่อการยืนที่มั่นคง ซึ่งข้าพเจ้าขอนำเสนอแก่ผู้อ่านที่มีเกียรติทุกท่านเพียงบางส่วนเท่านั้น ดังมีเนื้อหาต่อไปนี้

 หนึ่ง การเข้าหาอัลกุรอาน

อัลกุรอาน ถือเป็นแนวทางที่สำคัญระดับต้น ๆที่จะช่วยในการยืนหยัดอย่างมั่นคง เปรียบเสมือนสายเชือกของอัลลอฮฺที่เกลียวแน่น เป็นรัศมีเจิดจรัส ซึ่งใครที่ยึดมั่นด้วยสิ่งนี้แล้ว อัลลอฮฺก็จะทรงคุ้มครองเขาอย่างแน่นอน ในทำนองเดียวกัน ใครที่ปฏิบัติตามสิ่งนี้ อัลลอฮฺก็จะให้เขาประสบกับความปลอดภัย และหากใครที่เรียกร้องไปสู่สิ่งนี้ อัลลอฮฺก็จะทรงชี้นำเขาไปสู่แนวทางที่เที่ยงตรง

อัลลอฮฺทรงชี้แจงเหตุผลที่พระองค์ทรงประทานอัลกุรอานโดยการทยอยประทานลงมาตามสภาพการณ์และความเหมาะสม ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความหนักแน่นมั่นคงแก่หัวใจ ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตอบโต้บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาที่สร้างความคลุมเครือในเรื่องนี้ว่า

﴿ وَقَالَ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ لَوۡلَا نُزِّلَ عَلَيۡهِ ٱلۡقُرۡءَانُ جُمۡلَةٗ وَٰحِدَةٗۚ كَذَٰلِكَ لِنُثَبِّتَ بِهِۦ فُؤَادَكَۖ وَرَتَّلۡنَٰهُ تَرۡتِيلٗا ٣٢ وَلَا يَأۡتُونَكَ بِمَثَلٍ إِلَّا جِئۡنَٰكَ بِٱلۡحَقِّ وَأَحۡسَنَ تَفۡسِيرًا ٣٣ ﴾ [الفرقان: ٣٢،  ٣٣] 

ความว่า “และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธากล่าวว่า ทำไมอัลกุรอานจึงไม่ถูกประทานลงมาแก่เขาครั้งเดียวกันทั้งหมด ? เช่นนั้นแหละ เพื่อเราจะทำให้หัวใจของเจ้าหนักแน่นมั่นคง และเราได้จัดการอ่านมันให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และพวกเขาจะไม่นำข้อเปรียบเทียบ (ข้อสงสัย)ใดๆ มายังเจ้า เว้นแต่เราจะได้นำความจริง และการอธิบายที่ดียิ่งมาทดแทนให้เจ้า(ได้ตอบโต้พวกเขา) (สูเราะฮฺ อัล-ฟุรฺกอน : 32-33)

               ด้วยเหตุอันใด อัลกุรอานจึงเป็นบ่อเกิดที่ทำให้มีสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคงได้ ?

·    เนื่องจากอัลกุรอานสามารถเพิ่มพูนความศรัทธาและขัดเกลาจิตใจให้มีความสัมพันธ์กับอัลลอฮฺได้

·    เนื่องจากโองการอัลกุรอานที่ถูกประทานลงมานั้นสามารถนำความชุ่มฉ่ำและและสร้างความปลอดภัยใหแก่หัวใจของผู้ศรัทธา รวมไปถึงกระแสแห่งความชั่วร้ายต่าง ๆ ก็ไม่สามารถที่จะทำลายมันได้ อีกทั้งส่งผลให้หัวใจเกิดความสงบสุขด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺ

·    เนื่องจากอัลกุรอานทำให้มุสลิมมีต้นทุนด้านวิสัยทัศน์และหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องในการใช้ประเมินสภาพการณ์ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงทำให้มีมาตรวัดสำหรับใช้ในการตัดสินเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ให้สับสนและเกิดข้อผิดพลาด อีกทั้งจะไม่ทำให้คำพูดของเขาขัดแย้งกันเอง ไม่ว่าสถานการณ์และตัวบุคคลที่ต้องเจอจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตามที

·    เนื่องจากอัลกุรอานสามารถตอบโต้ข้อสงสัยต่าง ๆ ที่ถูกกุขึ้นโดยเหล่าศัตรูของอิสลามจากบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและผู้กลับกลอก ดังตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคสมัยของชนรุ่นแรกของอิสลาม(ยุคสมัยของบรรดาเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม) ดังเช่น 

1. อะไรคือผลสะท้อนจากคำตรัสของอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลล์ ที่ว่า

﴿ مَا وَدَّعَكَ رَبُّكَ وَمَا قَلَىٰ ٣ ﴾ [الضحى: ٣] 

ความว่า “พระเจ้าของเจ้ามิได้ทรงทอดทิ้งเจ้า และมิได้ทรงโกรธเคืองเจ้า” (สูเราะฮฺ อัฎ-ฎุหา : 3)

ที่ได้เกิดขึ้นต่อจิตใจของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ครั้งเมื่อหมู่ชนผู้ตั้งภาคีได้กล่าวแก่ท่านว่า “มุหัมมัดถูกทอดทิ้งไปแล้ว” (ดูในหนังสือเศาะฮีหฺ มุสลิม พร้อมบทอธิบายโดยท่านอิมาม อัน-นะวะวีย์ 12/156) 

2. อะไรคือผลสะท้อนจากคำตรัสของอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลล์ ที่ว่า

﴿ لِّسَانُ ٱلَّذِي يُلۡحِدُونَ إِلَيۡهِ أَعۡجَمِيّٞ وَهَٰذَا لِسَانٌ عَرَبِيّٞ مُّبِينٌ ١٠٣ ﴾ [النحل: ١٠٣] 

ความว่า “ภาษาที่พวกเขากล่าวหาพาดพิงไปถึงนั้นเป็นภาษาต่างถิ่น แต่นี่(อัลกุรอาน)เป็นภาษาอาหรับที่ชัดเจนยิ่ง” (สูเราะฮฺ อัน-นะหฺลุ : 103)

ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่หมู่ชนผู้ปฏิเสธศรัทธาเผ่ากุร็อยชฺกล่าวหาว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้น ได้รับการอบรมสั่งสอนจากมนุษย์ด้วยกันเอง และท่านได้รับอัลกุรอานจากชายซึ่งเป็นช่างไม้ชาวโรมันที่มักกะฮฺ  

3. อะไรคือผลสะท้อนจากคำตรัสของอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ที่ว่า

﴿أَلاَ فِي الْفِتْنَةِ سَقَطُواْ﴾ [التوبة : 49] 

ความว่า “พึงทราบเถิดว่า พวกเขา(พวกมุนาฟิก)ได้ตกอยู่ในความชั่วแต่เดิมแล้ว” (สูเราะฮฺ อัต-เตาบะฮฺ : 49)

ซึ่งมันเกิดขึ้นในจิตใจของผู้ศรัทธา ในครั้งที่หมู่ชนผู้กลับกลอกได้กล่าวว่า

﴿ائْذَن لِّي وَلاَ تَفْتِنِّي﴾ [التوبة : 49] 

ความว่า “จงอนุมัติแก่ฉันเถิด(พำนักอยู่ในเมืองโดยไม่ต้องออกไปร่วมสงคราม) และอย่าให้ฉันต้องตกอยู่ในความชั่วเลย” (สูเราะฮฺ อัต-เตาบะฮฺ : 49)

โองการอัลกุรอานเหล่านี้ มิได้ทำให้เกิดสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคงดอกหรือ ? มิได้ร้อยเรียงดวงใจของผู้ศรัทธาให้รวมเป็นหนึ่ง และมิได้เป็นข้อหักล้างที่ดียิ่งต่อสิ่งที่คลุมเครือทั้งหลาย อีกทั้งยังมิได้เป็นสิ่งที่สามารถสยบบรรดาหมู่ชนผู้บิดเบือนต่าง ๆ กระนั้นหรือ ?  ทว่า มันย่อมสร้างความหนักแน่นมั่นคงได้อย่างแน่นอน ขอสาบานด้วยพระผู้อภิบาลของข้าพระองค์  

มีเรื่องที่น่าแปลกประหลาดอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เหตุการณ์ที่อัลลอฮฺทรงให้สัญญาแก่บรรดาผู้ศรัทธา ภายหลังจากที่พวกเขาได้กลับมาจาก อัล-หุดัยบิยะฮฺ ว่าจะมอบทรัพย์เชลยอันมากมายในการทำสงคราม(คือทรัพย์เชลยในสงครามคอยบัรฺ) โดยที่พระองค์จะทรงรีบมอบให้กับผู้ศรัทธา และผู้ที่ร่วมสงคราม โดยที่จะมีเฉพาะผู้ศรัทธาเท่านั้น ซึ่งบรรดามุนาฟิกผู้กลับกลอกทั้งหลายก็จะขอเข้าร่วมในการทำสงครามกับพวกเขาด้วย แต่บรรดาผู้ศรัทธาได้กล่าวแก่พวกมุนาฟิกว่า “พวกเจ้าไม่อาจที่จะตามพวกเราออกไปทำสงครามได้โดยเด็ดขาด” แต่พวกมุนาฟิกก็พยายามขอออกไปให้ได้ เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงคำตรัสของอัลลอฮฺไม่ให้เกิดจริงตามที่พระองค์ทรงสัญญาไว้แก่บรรดาผู้ศรัทธา พวกเขาจึงกล่าวแก่บรรดาผู้ศรัทธาว่า “แท้จริง (ที่พวกเจ้าไม่ยอมให้เราออกไป)เพราะพวกเจ้าอิจฉาต่อพวกเราต่างหากล่ะ” อัลลอฮฺทรงตอบโต้พวกเขาว่า “แต่พวกเขาไม่ได้เข้าใจ นอกจากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวที่อัลลอฮฺตรัสไว้ล่วงหน้านั้นได้เกิดขึ้นจริงต่อหน้าผู้ศรัทธาทุกคนแบบทีละขั้นทีละตอน ก้าวต่อก้าว คำต่อคำ โดยปราศจากความผิดเพี้ยนแม้แต่ประการเดียว 

ณ ที่นี้เอง เราสามารถเห็นได้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างสภาพของผู้ที่ชีวิตของเขามีความผูกพันอยู่กับอัลกุรอานอย่างหนักแน่น ไม่ว่าจะด้วยการอ่าน การท่องจำ การศึกษาและใคร่ครวญมัน กับสภาพของผู้ที่เอาคำพูดของมนุษย์เป็นที่ตั้งและจดจ่ออยู่กับมันเพียงอย่างเดียว

เป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่แสวงหาความรู้ทั้งหลาย ที่จักต้องแบ่งส่วนในการศึกษาอัลกุรอานและความหมายของมัน ให้มีส่วนที่มากเพียงพอในวิถีการแสวงหาความรู้ของพวกเขา

 สอง  การยึดมั่นในบทบัญญัติของอัลลอฮฺ และการปฏิบัติการงานที่ดี(อะมัลศอลิหฺ)

อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

﴿ يُثَبِّتُ ٱللَّهُ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ بِٱلۡقَوۡلِ ٱلثَّابِتِ فِي ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا وَفِي ٱلۡأٓخِرَةِۖ وَيُضِلُّ ٱللَّهُ ٱلظَّٰلِمِينَۚ وَيَفۡعَلُ ٱللَّهُ مَا يَشَآءُ ٢٧ ﴾ [ابراهيم: ٢٧] 

ความว่า “อัลลอฮฺทรงให้บรรดาผู้ศรัทธาหนักแน่นด้วยคำกล่าวที่มั่นคง ในการมีชีวิตอยู่ทั้งในโลกนี้และในปรโลกและอัลลอฮฺทรงให้บรรดาผู้อธรรมหลงทาง และอัลลอฮฺทรงกระทำสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์” (สูเราะฮฺ อิบรอฮีม : 27)

ท่านเกาะตาดะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “สำหรับการมีชีวิตในโลกนี้นั้น พวกเขาจะได้รับความหนักแน่นมั่นคงในการอยู่ในความดีและการปฏิบัติการงานที่ดีงาม(อะมัลศอลิหฺ) และในปรโลกนั้น(หมายถึง)ในหลุมฝังศพ”

ยังมีรายงานจากบรรดาบรรพชนคนยุคก่อนหลายท่านต่อการให้ความหมายอายะฮฺข้างต้นเช่นเดียวกันนี้ (ดู หนังสือตัฟสีรฺ อัลกุรอาน อัล-อะซีม เล่ม 3 หน้า 421)

และอัลลอฮฺยังได้ตรัสว่า 

﴿ وَلَوۡ أَنَّهُمۡ فَعَلُواْ مَا يُوعَظُونَ بِهِۦ لَكَانَ خَيۡرٗا لَّهُمۡ وَأَشَدَّ تَثۡبِيتٗا ٦٦ ﴾ [النساء : ٦٦] 

ความว่า “และแม้นว่าพวกเขาได้กระทำตามสิ่งที่พวกเขาได้รับคำแนะนำแล้ว แน่นอน มันย่อมเป็นสิ่งดียิ่งแก่พวกเขา และเป็นสิ่งที่ทำให้มีความหนักแน่นมั่นคงยิ่ง” (สูเราะฮฺ อัน-นิสาอ์ : 66) นั่นก็คือการให้มีความหนักแน่นมั่นคงยิ่งในสัจธรรม

            ประเด็นในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ชัดเจนมาก ซึ่งหากไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว เราจะหวังได้กระนั้นหรือว่าสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคงนั้นจะมีอยู่ในผู้ที่เกียจคร้านในการปฏิบัติการงานที่ดี เมื่อต้องเผชิญกับสภาพการณ์ของบททดสอบที่แฝงไว้ด้วยกับสิ่งชั่วร้ายและกระจายอยู่ทั่วทุกสารทิศเช่นนี้ ? ทว่า สำหรับบรรดาผู้ศรัทธาและปฏิบัติการงานที่ดีงามทั้งหลายนั้น อัลลอฮฺจะชี้แนะทางด้วยความศรัทธาของพวกเขาให้เดินไปสู่แนวทางที่เที่ยงตรง

ด้วยเหตุนี้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงมีความขะมักเขม้นเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติการงานที่ดีทั้งหลาย การงานที่ท่านรักมากที่สุดคือการงานที่ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอแม้ว่าจะเล็กน้อยก็ตาม บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านเราะสูลุลลลอฮฺเมื่อปฏิบัติการงานใดแล้วพวกเขาก็จะปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เมื่อปฏิบัติการงานใดแล้วท่านก็จะกระทำมันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ดังที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَنْ ثَابَرَ عَلٰى اثْنَتَيْ عَشَرَةَ رَكْعَةً وَجَبَتْ لَهُ الْـجَنَّةُ»

ความว่า “ผู้ใดที่ละหมาด(สุนนะฮฺเราะวาติบ) 12 เราะกะอะฮฺอย่างสม่ำเสมอ เขาจะได้เข้าสวรรค์อย่างแน่นอน” (สุนัน อัต-ติรฺมิซีย์ 2/273 ท่านได้กล่าวว่า เป็นหะดีษหะสัน เศาะฮีหฺ ซึ่งมีอยู่ในเศาะฮีหฺ อัน-นะสาอีย์ 1/388 และในเศาะฮีหฺ อัต-ติรฺมิซีย์ 1/131) (เท่าที่ตรวจสอบไม่ปรากฏหะดีษจากการบันทึกของอัต-ติรฺมิซีย์และท่านอื่นด้วยสำนวนนี้ แต่มีสำนวนอื่นที่คล้ายกันแทน – ผู้แปล)

            ในหะดีษกุดสีย์บทหนึ่ง มีรายงานว่า

«وَلا يَزَالُ عَبْدِي يَتَقَرَّبُ إِلَيَّ بِالنَّوَافِلِ حَتَّى أُحِبَّهُ»

ความว่า “บ่าวของข้า(อัลลอฮฺ)จะยังคงเข้าหาเพื่อใกล้ชิดข้า ด้วยการปฏิบัติอะมัลฺสุนัตต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งข้าได้รักเขา” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ ดูในฟัตหุลบารี 11/340)  

 สาม  การใคร่ครวญและศึกษาเรื่องราวของบรรดานบี เพื่อเป็นแบบอย่างและนำไปปฏิบัติตาม

หลักฐานในประเด็นข้างต้นนั้นคือ อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า

﴿ وَكُلّٗا نَّقُصُّ عَلَيۡكَ مِنۡ أَنۢبَآءِ ٱلرُّسُلِ مَا نُثَبِّتُ بِهِۦ فُؤَادَكَۚ وَجَآءَكَ فِي هَٰذِهِ ٱلۡحَقُّ وَمَوۡعِظَةٞ وَذِكۡرَىٰ لِلۡمُؤۡمِنِينَ ١٢٠ ﴾ [هود: ١٢٠] 

ความว่า “และทั้งหมดนี้เราได้บอกเล่าแก่เจ้าจากเรื่องราวของบรรดานบีและเราะสูล เพื่อทำให้จิตใจของเจ้าหนักแน่นมั่นคง และได้มายังเจ้าแล้วใน(เรื่องราวเหล่า)นี้ซึ่งความจริงและข้อตักเตือน และข้อรำลึกสำหรับผู้ศรัทธาทั้งหลาย” (สูเราะฮฺ ฮูด : 120)   

โองการอัลกุรอาน(เกี่ยวกับเรื่องราวของบรรดานบี)ที่ถูกประทานลงมาในสมัยของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้น ไม่ได้ถูกประทานลงมาเพื่อความเพลิดเพลินและการล้อเล่นแม้แต่อย่างใด แต่มันถูกประทานลงมาโดยมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ คือ เพื่อทำให้จิตใจของท่านเราะสูลุลลอฮฺและบรรดาผู้ศรัทธาที่อยู่เคียงข้างท่านนั้นมีความยืนหยัดอย่างมั่นคง

พี่น้องของฉัน ! หากว่าท่านได้ใคร่ครวญในคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

﴿ قَالُواْ حَرِّقُوهُ وَٱنصُرُوٓاْ ءَالِهَتَكُمۡ إِن كُنتُمۡ فَٰعِلِينَ ٦٨ قُلۡنَا يَٰنَارُ كُونِي بَرۡدٗا وَسَلَٰمًا عَلَىٰٓ إِبۡرَٰهِيمَ ٦٩ وَأَرَادُواْ بِهِۦ كَيۡدٗا فَجَعَلۡنَٰهُمُ ٱلۡأَخۡسَرِينَ ٧٠ ﴾ [الانبياء: ٦٨،  ٧٠]  

ความว่า “พวกเขากล่าวว่า จงเผาเขา(อิบรอฮีม)เสีย และจงช่วยเหลือพระเจ้า(รูปเคารพ)ทั้งหลายของพวกท่าน หากพวกท่านจะกระทำเช่นนั้น เรา(อัลลอฮฺ)ได้กล่าวว่า ไฟเอ๋ย ! จงเย็นลงและจงให้ความปลอดภัยแก่อิบรอฮีมเถิด และพวกเขาปรารถนาที่จะวางแผนร้ายแก่เขา แต่เราได้ทำให้พวกเขาประสบกับความสูญเสียมากยิ่งกว่า” (สูเราะฮฺ อัล-อันบิยาอ์ :  68-70)

ซึ่งท่านอิบนุ อับบาสได้กล่าวว่า “คำพูดสุดท้ายที่ท่านนบีอิบรอฮีมได้กล่าวไว้ก่อนที่ท่านจะถูกโยนลงสู่ไฟนั้นคือ

  حَسْبِيَ اللّهُ وَنِعْمَ الْوَكِيلُ – หัสบิยัลลอฮฺ วะนิอฺมัลวะกีล - ความว่า อัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ที่พอเพียงแก่เราแล้ว และเป็นผู้ดูแลที่ดียิ่งที่สุดแล้ว” (ฟัตหุล บารี 8/22)

ท่านรู้สึกหรือไม่ว่า ในอายะฮฺนี้มีความหมายแห่งการยืนหยัดอย่างมั่นคงท่ามกลางบรรดาผู้อธรรมและการทรมานที่แฝงอยู่ ซึ่งมันจะซึมซับเข้าสู่ตัวท่าน ในขณะที่ท่านได้ใคร่ครวญเรื่องราวเหล่านี้ ?

หากว่าท่านได้ใคร่ครวญในคำตรัสของอัลลอฮฺ เกี่ยวกับเรื่องราวของท่านนบีมูซา อะลัยฮิสสลาม ที่ว่า

﴿ فَلَمَّا تَرَٰٓءَا ٱلۡجَمۡعَانِ قَالَ أَصۡحَٰبُ مُوسَىٰٓ إِنَّا لَمُدۡرَكُونَ ٦١ قَالَ كَلَّآۖ إِنَّ مَعِيَ رَبِّي سَيَهۡدِينِ ٦٢ ﴾ [الشعراء : ٦١،  ٦٢] 

ความว่า “ครั้นเมื่อแต่ละฝ่ายได้มองเห็นกัน พวกพ้องของมูซาได้กล่าวว่า แท้จริงเราถูกตามทันแล้ว เขา(มูซา)ได้กล่าวว่า ไม่หรอก แท้จริงพระเจ้าของฉันทรงอยู่กับฉัน พระองค์จะทรงชี้แนะทางออกแก่ฉัน” (สูเราะฮฺ อัช-ชุอะรออ์ : 61-62)

ท่านได้สัมผัสถึงความหมายแห่งการยืนหยัดอย่างมั่นคงของบรรดาผู้ศรัทธาบ้างไหม ? ในขณะที่ท่านได้ใคร่ครวญถึงเรื่องราวในอายะฮฺเหล่านี้ ถึงเหตุการณ์ที่บรรดาผู้อธรรมได้ไล่ล่าพวกเขา และการยืนหยัดในช่วงวิกฤติที่หนักหน่วง ท่ามกลางเสียงร้องโอดครวญของบรรดาผู้ที่สิ้นหวังทั้งหลาย

เช่นเดียวกัน หากว่าท่านได้ใคร่ครวญในเรื่องราวเกี่ยวกับบรรดานักมายากลของฟิรเอาน์แล้ว ท่านก็จะพบกับตัวอย่างที่น่าแปลกใจยิ่ง เกี่ยวกับหมู่ชนที่ยืนหยัดอย่างมั่นคงในสัจธรรมหลังจากที่พวกเขาได้ประจักษ์ในสัจธรรมนั้นแล้ว

ท่านสัมผัสได้หรือไม่ว่ามีความหมายแห่งการยืนหยัดอย่างมั่นคงฝังอยู่ในหัวใจของพวกเขาต่อหน้าการขู่เข็ญของบรรดาผู้อธรรมที่ได้กล่าวว่า

﴿ قَالَ ءَامَنتُمۡ لَهُۥ قَبۡلَ أَنۡ ءَاذَنَ لَكُمۡۖ إِنَّهُۥ لَكَبِيرُكُمُ ٱلَّذِي عَلَّمَكُمُ ٱلسِّحۡرَۖ فَلَأُقَطِّعَنَّ أَيۡدِيَكُمۡ وَأَرۡجُلَكُم مِّنۡ خِلَٰفٖ وَلَأُصَلِّبَنَّكُمۡ فِي جُذُوعِ ٱلنَّخۡلِ وَلَتَعۡلَمُنَّ أَيُّنَآ أَشَدُّ عَذَابٗا وَأَبۡقَىٰ ٧١ ﴾ [طه: ٧١] 

ความว่า “เขา(ฟิรเอาน์)กล่าวว่า พวกท่านศรัทธาต่อเขา(มูซา) ก่อนที่ฉันจะอนุญาตให้แก่พวกท่านกระนั้นหรือ ? แท้จริง เขานี่เองที่เป็นหัวหน้าของพวกท่านซึ่งได้สอนวิชามายากลแก่พวกท่าน ฉะนั้น ฉันจะตัดมือและเท้าของพวกท่านสลับข้างกัน และฉันจะเอาพวกท่านไปตรึงไว้ที่ต้นอินทผลัม และพวกท่านก็จะรู้อย่างแน่ชัดว่า ผู้ใดในหมู่พวกเราที่จะให้การลงโทษที่สาหัสกว่าและยาวนานยิ่งกว่า” (สูเราะฮฺ ฏอฮา : 71)

            นี่คือการยืนหยัดอย่างมั่นคงของบรรดาผู้ศรัทธากลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่ไม่มีความรู้สึกแม้แต่น้อยที่จะถอนตัว ในขณะที่พวกเขาได้กล่าวว่า

﴿ قَالُواْ لَن نُّؤۡثِرَكَ عَلَىٰ مَا جَآءَنَا مِنَ ٱلۡبَيِّنَٰتِ وَٱلَّذِي فَطَرَنَاۖ فَٱقۡضِ مَآ أَنتَ قَاضٍۖ إِنَّمَا تَقۡضِي هَٰذِهِ ٱلۡحَيَوٰةَ ٱلدُّنۡيَآ ٧٢ ﴾ [طه: ٧٢] 

ความว่า “พวกเขา(บรรดานักมายากลที่ได้ยอมรับศรัทธา)กล่าวว่า เราจะไม่ฝักใฝ่ท่านมากกว่าหลักฐานที่ชัดแจ้งซึ่งได้มายังเราแล้ว ขอสาบานต่อพระผู้อภิบาลผู้ให้บังเกิดเรา ท่านจงกระทำ(การคาดโทษและทรมาน)ตามสิ่งที่ท่านต้องการจะกระทำเถิด แท้จริง ท่านกระทำได้เฉพาะในชีวิตแห่งโลกนี้เท่านั้น” (สูเราะฮฺ ฏอฮา : 72)

ความหมายเยี่ยงเดียวกันนี้ มีให้เห็นในเรื่องราวเกี่ยวกับบรรดาผู้ศรัทธาในสูเราะฮฺ ยาสีน และเรื่องของผู้ศรัทธาคนหนึ่งจากวงศ์วานของฟิรเอาน์ รวมทั้งเรื่องราวที่เกี่ยวกับชาวหลุมไฟ(อัศหาบุล อุคดูด) และเหตุการณ์อื่น ๆ ที่มีบทเรียนหลักในภาพรวมคือเพื่อต้องการสอนให้เห็นถึงการยืนหยัดอย่างมั่นคงในสัจธรรม

 สี่  การวิงวอนขอดุอาอ์

ส่วนหนึ่งจากคุณลักษณะบ่าวของอัลลอฮฺที่เป็นผู้ศรัทธานั้นคือ พวกเขาจะมุ่งสู่อัลลอฮฺด้วยการวิงวอนขอดุอาอ์เพื่อให้พระองค์ทรงประทานสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคงให้แก่พวกเขา (ดังที่พวกเขาได้วิงวอนว่า)

        ﴿ رَبَّنَا لَا تُزِغۡ قُلُوبَنَا بَعۡدَ إِذۡ هَدَيۡتَنَا وَهَبۡ لَنَا مِن لَّدُنكَ رَحۡمَةًۚ إِنَّكَ أَنتَ ٱلۡوَهَّابُ ٨ ﴾ [ال عمران: ٨] 

ความว่า “โอ้องค์อภิบาลของเรา ! โปรดอย่าให้หัวใจของพวกเราเอนเอียงออกจากความจริงเลยหลังจากที่พระองค์ได้ทรงแนะนำแก่พวกเราแล้ว” (สูเราะฮฺ อาล อิมรอน : 8)

﴿ رَبَّنَآ أَفۡرِغۡ عَلَيۡنَا صَبۡرٗا وَثَبِّتۡ أَقۡدَامَنَا ٢٥٠ ﴾ [البقرة: ٢٥٠] 

ความว่า “โอ้องค์อภิบาลของเรา ขอได้โปรดหลั่งความอดทนลงให้พวกเราด้วยเถิด และโปรดประทานความหนักแน่นมั่นคงแก่เท้าของเราด้วยเถิด” (สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 250)

และอันเนื่องจากว่า

«إِنَّ قُلُوب بَنِي آدَم كُلّهَا بَيْن أُصْبُعَيْنِ مِنْ أَصَابِع الرَّحْمٰن  كَقَلْبٍ وَاحِد يُصَرِّفهُ حَيْثُ يَشَاء»

ความว่า “แท้จริง บรรดาหัวใจของลูกหลานอาดัมนั้นอยู่ระหว่างสองนิ้วจากบรรดานิ้วของอัรฺ-เราะหฺมาน -อัลลอฮฺผู้ทรงเมตตา- ดั่งดวงใจดวงเดียว ซึ่งพระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงพลิกผันมันตามที่พระองค์ทรงประสงค์” (บันทึกโดยอิมามอะหฺมัดและมุสลิม จากการรายงานของท่านอิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ดูในหนังสือเศาะฮีหฺมุสลิมอธิบายโดยท่านอิมาม อัน-นะวะวีย์ 16/204)

ด้วยเหตุนี้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงมักจะกล่าวคำวิงวอนอยู่เสมอ ว่า

«يَا مُقَلِّبَ الْقُلُوبِ ثَبِّتْ قَلْبِى عَلَى دِينِكَ»

ความว่า “โอ้ผู้ทรงเปลี่ยนแปลงผลิกผันหัวใจทั้งหลาย ได้โปรดบันดาลให้หัวใจของฉันหนักแน่นมั่นคงอยู่ในศาสนาของพระองค์ด้วยเถิด” (บันทึกโดยอัต-ติรฺมิซีย์ จากการรายงานของท่านอนัส ดู ตุหฺฟะตุล อะหฺวะซีย์ 6/349 และ เศาะฮีหุล ญามิอฺ 7864)

 ห้า  การรำลึกถึงอัลลอฮฺ

การรำลึกถึงอัลลอฮฺนั้นถือเป็นสาเหตุสำคัญที่จะได้มาซึ่งสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคง(ในสัจธรรมที่เที่ยงแท้)

ท่านจงพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งดังกล่าวเถิด (การยืนหยัดอย่างมั่นคงกับการรำลึกถึงอัลลอฮฺ) ในคำตรัสของอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ที่ว่า

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ إِذَا لَقِيتُمۡ فِئَةٗ فَٱثۡبُتُواْ وَٱذۡكُرُواْ ٱللَّهَ كَثِيرٗا لَّعَلَّكُمۡ تُفۡلِحُونَ ٤٥ ﴾ [الانفال: ٤٥] 

ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! เมื่อพวกเจ้าปะทะกับศัตรูกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง(ในสงคราม) ก็จงยืนหยัดเถิด และจงรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มากๆ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” (สูเราะฮฺ อัล-อันฟาล : 45)

อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงให้การรำลึกถึงพระองค์นั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้เกิดสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคงท่ามกลางการต่อสู้กับอริศัตรูในหนทางของพระองค์(ญิฮาด)

“จงพิจารณาถึงความเข้มแข็งของบรรดาทหารเปอร์เซียและโรมันเถิดว่าพวกเขาต้องประสบกับความพ่ายแพ้โดยที่พวกเขาต้องละทิ้งสิ่งที่พวกเขาปรารถนามากที่สุดเช่นไรบ้าง” (เป็นคำกล่าวของท่านอิบนุลก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ใน อัด-ดาอ์ วะ อัด-ดะวาอ์) ทั้ง ๆ ที่อาวุธยุทโธปกรณ์ของบรรดามุอ์มินผู้ที่รำลึกถึงอัลลอฮฺนั้นมีจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

จงพิจารณาเถิดว่า อะไรคือปัจจัยที่ช่วยให้ท่านนบียูซุฟ อะลัยฮิสสลาม อยู่ในสภาพของการยืนหยัดอย่างหยัดยืนในขณะที่ท่านต้องเผชิญกับการยั่วยวนของสตรีที่มียศถาบรรดาศักดิ์สูงส่งและมีรูปลักษณ์งดงาม เมื่อครั้งที่นางได้เชิญชวนให้ท่านร่วมประเวณี(ซินา)กับนาง มันมิใช่เพราะการขอความคุ้มครองของท่านด้วยคำกล่าวที่ว่า معاذ الله - ฉันขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ- ดอกหรือ ที่ทำให้อารมณ์ใฝ่ต่ำเหล่านั้นต้องสยบและอยู่ภายใต้ป้อมปราการแห่งการรำลึกถึงอัลลอฮฺ

ดังกล่าวนี้ คือผลของการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ในการเข้ามามีบทบาทเพื่อให้เกิดสภาพของการยืนหยัดเพื่อการยืนที่มั่นคงให้กับบรรดาผู้ศรัทธา

 หก  การกระตุ้นให้มุสลิมดำเนินอยู่บนแนวทางที่เที่ยงตรง

แนวทางหนึ่งเดียวที่ถูกต้อง ซึ่งจำเป็นสำหรับผู้ศรัทธาจะต้องดำเนินตามนั้นคือแนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ คือแนวทางของกลุ่มชนแห่งชัยชนะและรอดพ้น เป็นกลุ่มชนที่มีหลักศรัทธาที่บริสุทธิ์และมีแนวทางที่เที่ยงตรง โดยพวกเขาจะยึดมั่นในทางนำ(สุนนะฮฺ)ของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และหลักฐาน(ที่ถูกต้องและชัดเจน)เป็นหลัก ซึ่งมันต่างจาก(แนวทางของ)บรรดาศัตรูของอัลลอฮฺโดยสิ้นเชิง รวมทั้งเป็นสิ่งที่แยกพวกเขาออกจากหมู่ชนผู้หลงผิดทั้งหลายอีกด้วย

หากว่าท่านต้องการที่จะรู้ถึงคุณค่าในสภาพของการยืนหยัดได้อย่างมั่นคง ก็จงพิจารณาและถามตัวเองเถิดว่า “ด้วยเหตุอันใดเล่า ที่กลุ่มชนรุ่นก่อน ๆ และคนรุ่นหลังต้องตกอยู่ในความหลงผิดและความโง่เขลากันอย่างมากมาย พวกเขาไม่สามารถทำให้เท้าของพวกเขายืนหยัดในแนวทางอันเที่ยงตรงได้ และการเสียชีวิตของพวกเขาก็หาได้อยู่ในร่องรอยของแนวทางดังกล่าวไม่ อาจจะมีกลุ่มหนึ่งจากหมู่พวกเขาที่ท้ายที่สุดก็ได้พบกับแนวทางอันเที่ยงตรง แต่นั่นก็ภายหลังจากช่วงอายุส่วนใหญ่ของพวกเขาได้ผ่านพ้นไป โดยช่วงเวลาที่มีคุณค่ายิ่งในชีวิตของพวกเขาโดนเผาผลาญไปเสียมากแล้ว”

ท่านจะพบอีกว่าบางคนในหมู่พวกเขาเหล่านั้นได้หันเหตัวเองออกจากความหลงผิดและสิ่งอุตริกรรมอย่างหนึ่ง แต่ก็หันเหสู่ความหลงผิดและสิ่งอุตริกรรมอีกอย่างหนึ่ง จากที่เคยคลั่งไคล้ในแนวคิด ฟัลฺสะฟะฮฺ (ปรัชญา) ก็หันเหสู่แนวคิดของ อิลมุกะลาม (วิชาที่ที่ใช้แนวทางหลักตรรกะหรือสติปัญญาเป็นหลักในการอธิบายหลักอะกีดะฮฺและเตาฮีด) จากที่เคยมีแนวคิดมุอฺตะซิละฮฺก็หันไปสู่ความหลงผิดแบบ ตะหฺรีฟ (บิดเบือน) จากที่เคยชอบ ตะอ์วีลฺ (ตีความ) ก็หันสู่แนวคิดของการ ตัฟวีฎฺ (การยุติที่จะไม่พูดถึงความหมายของพระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮฺ) หรือจากแนวทาง(เฎาะรีเกาะฮฺ)หนึ่งของศูฟีย์ก็หันสู่อีกแนวทางหนึ่งของมัน

ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้ที่ทำสิ่งอุตริกรรมทั้งหลายจึงมักจะนำตัวเองสู่ความสับสนและความวุ่นวายของชีวิต จงดูเถิดว่าบรรดาผู้ที่มีแนวคิดอย่างอิลมุกะลามเขาถูกปิดกั้นจากการได้อยู่ในสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคงในขณะที่เขากำลังใกล้จะตายเช่นไรบ้าง นักวิชาการสะลัฟในยุคแรก ๆ ของอิสลามคนหนึ่งได้กล่าวว่า “กลุ่มชนที่จะมีความสับสนลังเล(ชักก์)มากที่สุดในช่วงที่เขาใกล้จะตายก็คือกลุ่มชนที่มีแนวคิดอย่างอิลมุกะลาม”

ทว่า จงพิจารณาและใคร่ครวญเถิดว่า เคยมีหรือไม่บรรดาผู้ที่หันเหตัวเองออกจากแนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ ด้วยความไม่พอใจหรือรังเกียจในแนวทางนี้ หลังจากที่เขาได้รู้ ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และดำเนินตามแนวทางนี้แล้ว ? อาจจะมีบางคนที่หันเหตัวเองออกจากแนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ ด้วยสาเหตุเพียงเพื่อตอบสนองอารมณ์ใคร่ของตนหรือไม่ก็เพราะความคลุมเครือที่เข้ามาครอบงำความคิดที่อ่อนแอของตัวเขาเอง แต่ไม่มีใครที่หันเหออกจากแนวทางนี้เนื่องจากเขาได้พบเจอกับแนวทางที่ถูกต้องชัดเจนกว่า หรือเพราะเขาได้พบว่าแนวทางนี้มีความหลงผิดอยู่

ในเรื่องนี้ เราสามารถจะยืนยันได้ด้วยการพิจารณาในเหตุการณ์ที่ ฮิร็อกลฺ (เฮราคลิอุส) ได้ถามท่านอบู สุฟยาน เกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ยอมรับตามแนวทางท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งเฮราคลิอุสได้ถามท่านอบู สุฟยานว่า “เคยมีบ้างไหม? ที่บางคนในหมู่ผู้ศรัทธาได้หันเหอออกจากศาสนาของเขา เนื่องจากเขาไม่มีความพอใจหรือรังเกียจในศาสนา ทั้งๆ ที่เขาได้เข้าสู่ศาสนาอิสลามนั้นแล้ว ?” ท่านอบู สุฟยาน จึงตอบว่า “ไม่เคยมีให้เห็น” หลังจากนั้น เฮราคิลอุสจึงกล่าวว่า “เช่นนั้นแหละ คือสภาพที่แท้จริงเมื่อความศรัทธาได้เข้าไปฝังอยู่ในหัวใจของคนคนหนึ่งแล้ว” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ ดู ฟัตหุลบารี 1/32)

เราเคยได้ยินอยู่บ่อยครั้งว่า มีแกนนำหลายคนของแนวคิดบิดเบือนทั้งหลาย ที่หันเหตัวเองจากแนวคิดที่อุตริกรรมอย่างหนึ่งไปสู่แนวคิดอุตริกรรมอีกอย่างหนึ่ง หลังจากนั้นอัลลอฮฺก็ทรงให้ทางนำแก่เขาได้ละทิ้งแนวทางที่หลงผิดทั้งหลาย และหันตัวเองสู่แนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ ด้วยความรู้สึกไม่พอใจในแนวทางเดิมที่เขาเคยยึดมั่น แต่ทว่า เราเคยได้ยินเรื่องราวที่ตรงข้ามกันบ้างหรือไม่ ?

ดังนั้น หากว่าท่านต้องการอยู่ในสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคง ท่านก็จงดำเนินตามแนวทางของบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายเถิด      

 เจ็ด  การตัรฺบิยะฮฺ

รูปแบบการตัรฺบิยะฮฺ หรือการฝึกฝนและการขัดเกลาที่จะส่งผลให้เกิดสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคงนั้นมีอยู่ 4 รูปแบบ ดังนี้  

1. ตัรฺบิยะฮฺ อีมานียะฮฺ (การฝึกฝนขัดเกลาในด้านการศรัทธา)

นั่นคือการตัรฺบิยะฮฺที่จะส่งผลให้หัวใจมีชีวิตชีวาด้วยความรู้สึกที่มีความเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ มีความหวัง และเต็มไปด้วยความรัก ซึ่งตรงกันข้ามกับความรู้สึกแห้งแล้งแข็งกระด้างของหัวใจ ที่เป็นผลมาจากการออกห่างจากตัวบทหลักฐานที่มาจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺ และการหมกมุ่นอยู่กับทัศนะของมนุษย์ด้วยกันเอง   

2. ตัรฺบิยะฮฺ อิลมียะฮฺ (การฝึกฝนขัดเกลาในด้านการเรียนรู้)

นั่นคือการตัรฺบิยะฮฺหรือฝึกฝนเพื่อให้ยึดอยู่กับตัวบทหลักฐานที่ถูกต้องและชัดเจน ซึ่งตรงกันข้ามกับการยึดติดกับตัวบุคคล (ตักลีด) อย่างมืดบอด  

3. ตัรฺบิยะฮฺ วาอิยะฮฺ (การฝึกฝนขัดเกลาให้เกิดความตระหนัก)

นั่นคือการตัรฺบิยะฮฺเพื่อให้รู้ถึงแนวทางของบรรดาผู้กระทำชั่ว ให้ศึกษากลยุทธ์ของบรรดาศัตรูอิสลาม ให้รอบรู้ในเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน รวมทั้งให้รู้จักทำความเข้าใจและประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับการปิดตัวเอง และจมปลักอยู่ในแนวคิดที่คับแคบและมีข้อจำกัด  

4. ตัรฺบิยะฮฺ มุตะดัรริญะฮฺ (การฝึกฝนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ค่อยเป็นค่อยไป)

นั่นคือการตัรฺบิยะฮฺที่จะส่งผลให้ผู้ศรัทธาก้าวสู่จุดสูงสุดของความสมบูรณ์อย่างเป็นขั้นเป็นตอนค่อยเป็นค่อยไปโดยผ่านกระบวนการวางแผนที่เป็นระบบอย่างสมดุล ซึ่งตรงกันข้ามกับการกระทำที่ปราศจากแบบแผน การรีบเร่ง และการก้าวกระโดดที่ส่งผลเสียตามมา

เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงความสำคัญของปัจจัยข้างต้น อันจะเป็นตัวช่วยในการเสริมสร้างให้เกิดสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคง จงหวนกลับไปพิจารณาและใคร่ครวญชีวประวัติของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วก็ถามตัวของเราเองว่า

- อะไรคือสาเหตุของการยืนหยัดอย่างมั่นคงที่มีอยู่ในตัวของบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในช่วงที่พวกเขาได้พำนักอยู่ในเมืองมักกะฮฺท่ามกลางสภาพของการกดขี่ที่หนักหน่วง

- สภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคงที่ปรากฏอยู่ในตัวของท่านบิลาล ท่านค็อบบาบ ท่านมุศอับ วงค์วานของท่านยาสิรฺ และท่านอื่น ๆ จากบรรดาผู้ถูกกดขี่ แม้กระทั่งบรรดาเศาะหาบะฮฺอาวุโสเอง ในช่วงเวลาที่พวกเขาถูกตัดความสัมพันธ์และถูกปิดล้อมให้อยู่ที่บริเวณช่องเขาหนึ่งของมักกะฮฺ ลองไตร่ตรองดูสิว่าสภาพการยืนหยัดของพวกเขาเป็นเช่นไร

- เป็นไปได้หรือไม่ว่า สภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคงที่มีอยู่ในตัวของบรรดาเศาะหาบะฮฺเหล่านั้น มีอยู่โดยที่ไม่ต้องพึ่งกระบวนการตัรฺบิยะฮฺที่ลึกซึ้งจากทางนำของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยอฮิวะสัลลัม ซึ่งสลักแน่นอยู่ในบุคลิกภาพของพวกเขาเหล่านั้น

เราขอยกตัวอย่างเศาะหาบะฮฺท่านหนึ่ง นั่นคือท่านค็อบบาบ บิน อัล-อะร็อต เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ที่ถูกนายหญิงของท่านนำเหล็กที่ถูกเผาจนร้อนระอุใหม่ ๆ มาทับบนหลังของท่าน ซึ่งไม่มีสิ่งใดที่ดับเหล็กร้อนนั้นนอกจากไขมันจากเนื้อหนังบนหลังของท่านที่โดนความร้อนละลายไหลลงมา แล้วอะไรเล่าคือสิ่งที่ทำให้ท่านนั้นมีความอดทนได้ถึงเพียงนั้น

อีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของท่านบิลาลที่ถูกทรมาน โดยเจ้านายของท่านนำก้อนหินมาทับบนอกของท่านแล้วทิ้งไว้ท่ามกลางทะเลทรายที่ร้อนระอุ และยังมีตัวอย่างของท่านหญิงสุมัยยะฮฺ ที่ถูกมัดพันธนาการและใส่โซ่ตรวนไว้

คำถามที่ผุดขึ้นมาเกี่ยวกับสภาพและจุดยืนอื่น ๆ ในช่วงเวลาที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อยู่ในเมืองมะดีนะฮฺ ก็คือ ใครกันเล่าที่ยืนหยัดอย่างมั่นคงและอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในสงครามหุนัยนฺ ในขณะที่บรรดาผู้ศรัทธาหลายท่านเริ่มที่จะเพลี่ยงพล้ำไปแล้ว คนที่ยืนหยัดเหล่านั้น ใช่กลุ่มคนที่เพิ่งเข้ารับอิสลามใหม่ กระนั้นหรือ ใช่ผู้ศรัทธาที่เพิ่งรับอิสลามตอนพิชิตเมืองมักกะฮฺหรือไม่ ซึ่งพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการตัรฺบิยะฮฺจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ด้วยระยะเวลาที่สมบูรณ์เพียงพอ และได้ออกไปทำสงครามในครั้งนั้นก็เพื่อแสวงหาในผลประโยชน์ของทรัพย์เชลยเพียงเท่านั้นหรือ ? เปล่าเลย บรรดาผู้ที่ยังคงมีสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคงจากบรรดาผู้ศรัทธาในสงครามครั้งนั้น ก็คือกลุ่มเศาะหาบะฮฺที่มีโอกาสได้รับการตัรฺบิยะฮฺจากมือของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ด้วยระยะเวลาที่เพียงพอแล้วแทบทั้งสิ้น

โดยแน่นอน หากไม่มีกระบวนการตัรฺบิยะฮฺแล้วไซร้ พวกเขาจะมีสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคงได้กระนั้นหรือ

 แปด  มีความเชื่อมั่นในแนวทางที่ตนกำลังก้าวเดินอยู่

ไม่มีข้อสงสัยใดเลยว่า ทุกครั้งที่เรามีความเชื่อมั่นในแนวทางที่ตนกำลังก้าวเดินอยู่ ก็ยิ่งจะทำให้เรามีสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ การจะให้ได้มาซึ่งสิ่งนี้ย่อมต้องมีเครื่องมือบางประการมาช่วย ส่วนหนึ่งก็คือ:

- โอ้พี่น้องของฉัน ท่านจงมีความรู้สึกเถิดว่า แนวทางอันเที่ยงตรงที่ท่านกำลังก้าวเดินอยู่นั้น มิใช่เป็นแนวทางที่มีมาใหม่หรือเพิ่งมีขึ้นในยุคสมัยของท่านอย่างแน่นอน แต่มันคือแนวทางที่มีมาอย่างยาวนานมากแล้ว มันคือแนวทางที่บรรดานบี บรรดาผู้มีสัจจะ(ศิดดีกูน) บรรดาอุละมาอ์ และบรรดาคนดี (ศอลิหูน) ในยุคก่อนหน้านี้ได้เคยย่างก้าวมาก่อนแล้ว ดังนั้นความรู้สึกอันโดดเดี่ยวที่มีอยู่ในตัวของท่านก็จงให้มันหายไปเถิด และจงเปลี่ยนความอ้างว้างที่อยู่ในตัวของท่านให้มันกลายเป็นความสุขและความปิติยินดี เพราะท่านจะมีความรู้สึกอย่างสม่ำเสมอว่า พวกเขาเหล่านั้นก็คือพี่น้องที่ได้ร่วมเดินทางในแนวทางที่ท่านกำลังก้าวเดินอยู่

- ท่านจงทำให้เกิดความรู้สึกเถิดว่า ท่านคือผู้ที่อัลลอฮฺทรงคัดเลือกแล้ว ดังที่อัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ได้ตรัสว่า

﴿قُلِ الْحَمْدُ لِلّٰهِ وَسَلَامٌ عَلَى عِبَادِهِ الَّذِينَ اصْطَفَى﴾ [النمل: 59] 

ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) บรรดาการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และความศานติจงมีแด่ปวงบ่าวของพระองค์ ผู้ซึ่งพระองค์ทรงคัดเลือกแล้ว” (สูเราะฮฺ อัน-นัมลฺ : 59)

อัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ได้ตรัสอีกว่า

﴿ ثُمَّ أَوۡرَثۡنَا ٱلۡكِتَٰبَ ٱلَّذِينَ ٱصۡطَفَيۡنَا مِنۡ عِبَادِنَاۖ ٣٢ ﴾ [فاطر: ٣٢] 

ความว่า “และเราได้ให้คัมภีร์เป็นมรดกสืบทอดมา แก่บรรดาผู้ที่เราคัดเลือกแล้วจากปวงบ่าวของเรา” (สูเราะฮฺ ฟาฏิรฺ : 32)

﴿ وَكَذَٰلِكَ يَجۡتَبِيكَ رَبُّكَ وَيُعَلِّمُكَ مِن تَأۡوِيلِ ٱلۡأَحَادِيثِ ٦ ﴾ [يوسف: ٦] 

ความว่า “และเช่นนั้นแหละพระเจ้าของเจ้าทรงเลือกเจ้า และทรงสอนเจ้าให้รู้วิชาทำนายฝัน” (สูเราะฮฺ ยูสุฟ : 6)

เหมือนที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงคัดเลือกบรรดานบีก่อนหน้านี้มาแล้ว ดังนั้น บรรดาคนดีทั้งหลาย(ศอลิหูน) ก็มีส่วนเกี่ยวกับการคัดเลือกดังกล่าวนี้จากอัลลอฮฺเช่นเดียวกัน เพราะพวกเขาคือผู้ที่สืบทอดมรดกในด้านความรู้จากบรรดานบีทั้งหลาย

- ท่านจะมีความรู้สึกเช่นไร หากอัลลอฮฺทรงสร้างท่านให้เป็นหนึ่งในสิ่งที่ไม่มีชีวิต ไม่มีลมหายใจ หรืออาจจะเป็นสัตว์  หรือเป็นผู้ที่ปฏิเสธศรัทธา หรือไม่ก็เป็นผู้ที่เรียกร้องผู้คนไปสู่การปฏิบัติในสิ่งที่อุตริกรรม อาจจะเป็นผู้ที่ฝ่าฝืนในการกระทำสิ่งที่เป็นบาปใหญ่(ฟาสิก) หรืออาจเป็นผู้ศรัทธาแต่ไม่ได้เป็นผู้ที่เรียกร้องสู่อิสลามที่มีอยู่ในตัวของเขาเลย หรือท่านอาจจะเป็นผู้ที่เรียกร้องสู่แนวทางแห่งการฝ่าฝืน(ต่ออัลลอฮฺ)

- ท่านไม่เห็นดอกหรือว่า การที่ท่านรู้สึกว่าอัลลอฮฺได้ทรงคัดเลือกท่าน และทรงให้ท่านเป็นหนึ่งในหมู่ผู้เรียกร้องจากกลุ่มของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ คือปัจจัยที่จะทำให้ท่านนั้นยืนหยัดอย่างมั่นคงในแนวทางและเส้นทางที่ท่านก้าวเดินอยู่นี้

 เก้า  ดะอฺวะฮฺเชิญชวนผู้อื่นสู่แนวทางของอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา

จิตวิญญาณของเราเมื่อไม่มีการขยับเขยื้อนและไม่ปลดปล่อยให้มันได้เคลื่อนไหว มันก็จะเสื่อมโทรมและเน่าเสีย ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดที่จะให้จิตวิญญาณของเรามีการเคลื่อนไหวนั้นคือ การมุ่งมั่นในการเรียกร้องเชิญชวนผู้อื่นให้หันมาสู่แนวทางของอัลลอฮฺ เพราะมันคือหน้าที่ของบรรดาเราะสูลทั้งหลายที่เคยปฏิบัติมาแล้ว มันคือสิ่งที่จะปลดปล่อยจิตวิญญาณของเราให้รอดพ้นจากการต้องถูกทรมาน ซึ่งด้วยการเรียกร้องเชิญชวนผู้อื่นนี่เองที่จะส่งผลให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่ ทำให้การปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ นั้นประสบกับความสำเร็จอย่างง่ายดาย ดังที่อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า

﴿ فَلِذَٰلِكَ فَٱدۡعُۖ وَٱسۡتَقِمۡ كَمَآ أُمِرۡتَۖ ١٥ ﴾ [الشورى: ١٥] 

ความว่า “ดังนั้น เพื่อการนี้แหละเจ้าจงเรียกร้องเชิญชวน และจงดำรงมั่นอยู่ในแนวทางที่เที่ยงธรรมดังที่เจ้าได้รับบัญชา” (สูเราะฮฺ อัช-ชูรอ : 15)

มันย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องถ้าจะมีคนกล่าวว่า “คนคนนี้ไม่มีทั้งความก้าวหน้าและความล้าหลังภายในตัวของเขาเลย” แท้ที่จริงแล้ว จิตวิญญาณนั้นเมื่อมันไม่หมกมุ่นกับการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺแล้วไซร้ มันก็จะหมกมุ่นอยู่กับการทำสิ่งที่ฝ่าฝืน เพราะความศรัทธานั้นมีการเพิ่มขึ้นและลดลง

การเรียกร้องเชิญชวนผู้อื่นสู่แนวทางที่ถูกต้อง ด้วยการทุ่มเทเวลา ใช้พลังของสติปัญญาและพลังกาย รวมทั้งการใช้ลิ้นในการพูดคุยอย่างสม่ำเสมอ โดยทำหน้าที่เรียกร้องเชิญชวนผู้อื่นด้วยความทุ่มเทเสมือนว่ากลายเป็นงานที่ทำให้มุสลิมคนหนึ่งจดจ่ออยู่กับมันตลอดเวลา ย่อมจะทำให้เขามีความสามารถที่จะปิดกั้นช่องทางที่ชัยฏอนจะเข้ามาล่อลวงและฉุดดึงเขาให้ตกอยู่ในความหลงผิดและฟิตนะฮฺต่าง ๆ ได้

ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่ทำหน้าที่เรียกร้องเชิญชวนผู้อื่นย่อมจะมีความรู้สึกที่ท้าทายต่อการเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรคนานา ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านของผู้ที่ไม่เห็นด้วย หรือการที่จะต้องเผชิญหน้ากับบรรดาผู้หลงผิดทั้งหลาย ในขณะที่เดินอยู่บนเส้นทางแห่งการดะอฺวะฮฺเชิญชวนของเขา จนทำให้ความศรัทธาและความยำเกรงของเขานั้นได้เพิ่มและเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้น การทำหน้าที่เรียกร้องเชิญชวนผู้อื่นนอกจากจะส่งผลให้เขาได้รับผลตอบแทนอันยิ่งใหญ่แล้ว มันยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะให้ได้มาซึ่งสภาพของการยืนหยัดอย่างหยัดยืน และจะเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องเขาไม่ให้ยอมแพ้หรือก้าวถอยหลัง เนื่องจากผู้ที่ทำงานด้วยการรุกย่อมไม่มีความจำเป็นต้องคอยปกป้องตัวเอง และอัลลอฮฺก็ย่อมอยู่เคียงข้างบรรดาผู้ที่ทำหน้าที่เรียกร้องเชิญชวนผู้อื่น โดยที่พระองค์จะทรงทำให้พวกเขามีสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคง และทรงคุ้มครองพวกเขาในทุกย่างก้าวที่เขาได้ก้าวเดินไป ถ้าจะเปรียบผู้ที่ทำหน้าที่เรียกร้องเชิญชวนผู้อื่น ก็เปรียบได้กับหมอที่รักษาโรคต่าง ๆ ด้วยประสบการณ์และองค์ความรู้ที่มีอยู่ในตัวเขา ดังนั้น การที่เขาได้รักษาโรคให้กับผู้อื่น เขาก็ย่อมที่จะมีภูมิคุ้มกันให้ห่างไกลจากโรคนั้นมากกว่าผู้อื่นอย่างแน่นอน

 สิบ  พยายามอยู่ใกล้กับคนที่จะนำมาซึ่งสภาพของการยืนหยัดเพื่อการยืนที่มั่นคงให้แก่ท่าน

คุณลักษณะของคนประเภทข้างต้นคือ กลุ่มคนที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«إِنَّ مِنَ النَّاسِ نَاساً مَفَاتِيْحُ لِلْخَيْرِ مَغَالِيْقُ لِلشَّرِ»

ความว่า “แท้จริง ในหมู่มนุษย์นั้นจะมีผู้ที่เป็นกุญแจไขสู่ความดีงามและปิดกั้นสิ่งที่ชั่วร้าย” (หะดีษมีสถานะหะสัน บันทึกโดย อิบนุ มาญะฮฺ จากท่านอนัส 237 และท่านอิบนุ อบี อาศิม ในอัส-สุนนะฮฺ 1/127 ดู อัส-สิลสิละฮฺ อัศ-เศาะฮีหะฮฺ 1332)

การเข้าหาบรรดาอุละมาอ์ บรรดาคนดีและบรรดาผู้ศรัทธาที่ทำหน้าที่ดะอฺวะฮฺเชิญชวน และการคลุกคลีห้อมล้อมอยู่กับพวกเขา ถือเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะได้มาซึ่งสภาพของการยืนหยัดเพื่อการยืนที่มั่นคงได้

ในหน้าประวัติศาสตร์อิสลามได้มีเหตุการณ์ความวุ่นวาย(ฟิตนะฮฺ)เกิดขึ้นอย่างมากมาย และแล้วอัลลอฮฺก็ทรงประทานสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคงให้แก่บรรดาผู้ศรัทธาเพียงแค่คนบางคนที่พระองค์ทรงประสงค์เท่านั้น

ดังที่ท่านอะลี บิน อัล-มะดีนีย์ ได้กล่าววไว้ว่า

«أَعَزَّ اللهُ الدِّيْنَ بِالصِّدِيْقِ يَوْمَ الرِّدَّةِ ، وَبِأَحْمَدَ يَوْمَ الْمِحْنَةِ»

ความว่า “อัลลอฮฺทรงให้ศาสนานี้มีชัยสูงส่งด้วย(อบูบักรฺ)อัศ-ศิดดีก ในเหตุการณ์การหันหลังออกจากศาสนาของผู้คน(ริดดะฮฺ) และด้วยอิมามอะหฺมัด ในเหตุกาณ์แห่งการทดสอบ(ด้วยการปรากฏขึ้นของกลุ่มมุอฺตะซิละฮฺที่กล่าวว่าอัลกุรอานนั้นคือมัคลูกหรือสิ่งที่ถูกสร้าง) (ดู สิยัรฺ อะลาม อัน-นุบะลาอ์ 11/196)

และจงพิจารณาคำกล่าวของท่านอิบนุลก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ต่อบทบาทของอาจารย์ของท่าน ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ ที่เป็นแรงใจในการยืนหยัดอย่างมั่นคง ท่านได้กล่าวว่า “เมื่อใดที่พวกเราประสบกับสภาวะของความหวาดผวา หรือมีความคิดที่ไปในทางที่ไม่ดี และรู้สึกว่าแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่นี้คับแคบไปหมด เราก็จะไปหาท่าน(อิบนุ ตัยมียะฮฺ) และแค่เพียงได้เห็นและสดับฟังคำตักเตือนของท่าน ความรู้สึกต่างๆ ที่วนเวียนอยู่ในใจก็จะมลายหายไป ความสงบสุขของจิตใจ ความเข้มแข็ง และความเชื่อมั่นก็จะเข้ามาแทนที่  มหาบริสุทธิ์แด่องค์อัลลอฮฺผู้ทรงให้บ่าวของพระองค์สัมผัสกับสวนสวรรค์ก่อนที่จะได้เจอมันจริงๆ และทรงเปิดประตูของมันในโลกแห่งการปฏิบัติ  ทรงประทานลมรำเพยของมันและกลิ่นไอของมัน ที่อบอวลหอมหวานเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดพลังที่จะบรรลุและแข่งขันกันเพื่อให้ได้ซึ่งสวนสวรรค์นั้น” (อัล-วาบิลฺ อัศ-ศ็อยยิบ หน้า 97)

ณ ตรงนี้ เป็นที่ประจักษ์ว่าความเป็นพี่น้องกันในอิสลาม ถือเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะคอยย้ำเตือนให้มีความยืนหยัดอย่างมั่นคง ในบรรดาพี่น้องทั้งหลายที่มีคุณธรรมซึ่งอยู่รายล้อมรอบตัวท่าน บรรดาผู้เป็นตัวอย่างและพี่เลี้ยงทั้งหลายผู้คอยฝึกฝนท่าน พวกเขาเหล่านี้แหละที่จะเป็นกลุ่มคนที่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่ท่านบนแนวทางที่ท่านกำลังเดินอยู่ พวกเขาประหนึ่งเสาที่เข้มแข็งที่จะช่วยค้ำจุนท่าน นำความหนักแน่นมั่นคงให้แก่ท่านด้วยกับการนำเสนอโองการต่าง ๆ ของอัลลอฮฺและความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นหิกมะฮฺซึ่งมีอยู่ในตัวของพวกเขา ด้วยเหตุนี้ ท่านจงพยายามแสวงหาความใกล้ชิดและอยู่ร่วมกับพวกเขาเหล่านั้นเถิด จงอย่าอยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยวเพราะจะทำให้ชัยฏอนมาฉุดดึงท่านไปได้ แท้จริง สุนัขจิ้งจอกนั้นคอยจ้องที่จะกินแกะหลงฝูงอยู่เสมอ       

 สิบเอ็ด  เชื่อมั่นในความช่วยเหลือของอัลลอฮฺและในอนาคตของอิสลาม

เรามีความจำเป็นต่อการยืนหยัดเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ความช่วยเหลือหรือชัยชนะนั้นเกิดความล่าช้า เพื่อไม่ให้เท้าของเราเกิดการเพลี่ยงพล้ำหลังจากที่มันยืนหยัดได้อย่างมั่นคงแล้ว ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้กล่าวว่า

﴿ وَكَأَيِّن مِّن نَّبِيّٖ قَٰتَلَ مَعَهُۥ رِبِّيُّونَ كَثِيرٞ فَمَا وَهَنُواْ لِمَآ أَصَابَهُمۡ فِي سَبِيلِ ٱللَّهِ وَمَا ضَعُفُواْ وَمَا ٱسۡتَكَانُواْۗ وَٱللَّهُ يُحِبُّ ٱلصَّٰبِرِينَ ١٤٦ وَمَا كَانَ قَوۡلَهُمۡ إِلَّآ أَن قَالُواْ رَبَّنَا ٱغۡفِرۡ لَنَا ذُنُوبَنَا وَإِسۡرَافَنَا فِيٓ أَمۡرِنَا وَثَبِّتۡ أَقۡدَامَنَا وَٱنصُرۡنَا عَلَى ٱلۡقَوۡمِ ٱلۡكَٰفِرِينَ ١٤٧ فَ‍َٔاتَىٰهُمُ ٱللَّهُ ثَوَابَ ٱلدُّنۡيَا وَحُسۡنَ ثَوَابِ ٱلۡأٓخِرَةِۗ وَٱللَّهُ يُحِبُّ ٱلۡمُحۡسِنِينَ ١٤٨ ﴾ [ال عمران: ١٤٦،  ١٤٨] 

ความว่า “และนบีกี่มากน้อยแล้ว ที่กลุ่มชนอันมากมายได้ต่อสู้ร่วมกับเขา แล้วพวกเขาหาได้ท้อแท้ไม่ต่อสิ่งที่ได้ประสบแก่พวกเขาในทางของอัลลอฮฺ และพวกเขาหาได้อ่อนกำลังลง และหาได้ยอมสยบไม่ และอัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้ที่อดทนทั้งหลาย และคำพูดของพวกเขามิปรากฏเป็นอื่นใด นอกจากพวกเขากล่าวว่า โอ้พระเจ้า แห่งพวกข้าพระองค์ โปรดได้ทรงอภัยโทษให้แก่พวกข้าพระองค์ด้วยเถิด ซึ่งบรรดาความผิดทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ และการที่พวกข้าพระองค์กระทำเกินขอบเขตในกิจการของพวกข้าพระองค์ และโปรดทรงให้เท้าของพวกข้าพระองค์มั่นอยู่ และโปรดทรงช่วยเหลือพวกข้าพระองค์ให้ชนะเหนือกลุ่มชนผู้ปฏิเสธศรัทธาด้วย แล้วอัลลอฮฺก็ทรงประทานให้แก่พวกเขาซึ่งผลตอบแทนแห่งโลกนี้ และผลตอบแทนที่ดีแห่งปรโลก และอัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้กระทำดีทั้งหลาย” (สูเราะฮฺ อาล อิมรอน : 146-148)

เมื่อท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ปรารถนาที่จะให้บรรดาเศาะหาบะฮฺ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกทรมานมีสภาพที่สามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงในบททดสอบและการทรมานในรูปแบบต่าง ๆ ที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่นั้น ท่านก็จะบอกเล่าแก่พวกเขาถึงอนาคตของอิสลามว่าเป็นเช่นไร แล้วท่านเคยกล่าวอะไรแก่พวกเขาบ้าง

มีบันทึกจากอัล-บุคอรีย์ โดยการรายงานของท่านค็อบบาบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ซึ่งท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«وَلَيُتِمَّنَّ اللهُ هَذَا الأَمْرَ حَتَّى يَسِيرَ الرَّاكِبُ مِنْ صَنْعَاءَ إِلَى حَضْرَمَوْتَ لا يَخْشَى إِلاَّ اللهَ عَزَّ وَجَلَّ، وَالذِّئْبَ عَلَى غَنَمِهِ»

ความว่า “แน่แท้ อัลลอฮฺจะทรงให้อิสลามนี้ต้องลุล่วงสมบูรณ์ จนกระทั่งว่าคนขี่พาหนะสามารถจะเดินทางจากเมืองศ็อนอาอ์จนถึงเมืองหัฏเราะเมาตฺ(ทั้งสองเมืองอยู่ในประเทศเยเมน)ได้(อย่างปลอดภัย) โดยที่เขาไม่กลัวผู้ใดเลยนอกจากอัลลอฮฺ และ(ไม่กลัวสิ่งใดเลย)นอกจากแค่กลัวว่าสุนัขจิ้งจอกจะมาทำร้ายฝูงแกะของเขาเท่านั้น” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ ดู ฟัตหุลบารี 7/165)

ดังนั้น การนำเสนอหะดีษในเชิงบวก ที่นำข่าวดีเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของอิสลามในอนาคตข้างหน้ามาเล่าให้ฟังแก่กลุ่มชนรุ่นหลังนั้น จะเป็นสิ่งที่สามารถเสริมสร้างศักยภาพให้แก่พวกเขาให้มีสภาพที่สามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงได้

 สิบสอง  ให้รู้จักแก่นแท้ของความจอมปลอมและไม่หวั่นเกรงมัน

อัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ได้ตรัสว่า

﴿ لَا يَغُرَّنَّكَ تَقَلُّبُ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ فِي ٱلۡبِلَٰدِ ١٩٦ ﴾ [ال عمران: ١٩٦] 

ความว่า “อย่าให้การเคลื่อนไหวของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาในเมืองต่างๆ ล่อลวงเจ้าให้ขยาดเป็นอันขาด” (สูเราะฮฺ อาล อิมรอน : 196)

อายะฮฺข้างต้น เป็นการปลอบประโลมผู้ศรัทธาและให้กำลังใจเพื่อที่พวกเขาจะได้มีสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคง

และอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ได้ตรัสอีกว่า

﴿ فَأَمَّا ٱلزَّبَدُ فَيَذۡهَبُ جُفَآءٗۖ ١٧ ﴾ [الرعد: ١٧] 

ความว่า “สำหรับฟอง(สิ่งไร้ค่า)นั้นก็จะออกไปเป็นสิ่งเหลือเดน” (สูเราะฮฺ อัร-เราะอฺดุ : 17)

อายะฮฺข้างต้นเป็นบทเรียนแก่ผู้ที่มีปัญญาทั้งหลายว่า อย่าได้หวาดหวั่นหรือเกรงกลัวต่อความจอมปลอม และอย่าจำนนหรือยอมแพ้ต่อความจอมปลอมทั้งหลาย

หนึ่งในวิธีการนำเสนอของอัลกุรอานก็คือ การนำเสนอและเปิดเผยความชั่วร้ายของกลุ่มหลงผิดต่างๆ รวมทั้งเปิดเผยให้เห็นถึงจุดประสงค์และวิถีทางของพวกเขา ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า

﴿ وَكَذَٰلِكَ نُفَصِّلُ ٱلۡأٓيَٰتِ وَلِتَسۡتَبِينَ سَبِيلُ ٱلۡمُجۡرِمِينَ ٥٥ ﴾ [الأنعام: ٥٥] 

ความว่า “และในทำนองนั้นแหละ เราจะแจกแจงโองการทั้งหลาย และเพื่อที่วิถีทางของผู้กระทำผิดจะได้ประจักษ์ชัด” (สูเราะฮฺ อัล-อันอาม : 55)

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อที่จะไม่ทำให้มุสลิมถูกบุกรุกโจมตีในขณะที่พวกเขาเผลอ และเพื่อที่พวกเขาจะได้รู้ว่าอิสลามจะถูกรุกรานจากหนทางใด

กี่มากน้อยแล้วที่เราได้ยินและได้เห็นกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ ต้องล้มลง และเหล่าดาอีย์นักเชิญชวนสู่อิสลามมากมายที่ต้องเพลี่ยงพล้ำและขาดการยืนหยัด เมื่อพวกเขาต้องประสบกับบททดสอบที่ไม่ทันตั้งตัว อันเนื่องมาจากการไม่รู้ถึงแผนการของบรรดาศัตรูของพวกเขาเอง

 สิบสาม  ปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ส่งผลต่อการยืนหยัดเพื่อการยืนที่มั่นคง(ในดีนของอัลลอฮฺ)

และที่สำคัญที่สุดในประเด็นนี้ก็คือ “ความอดทน” มีหะดีษที่บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม ได้รายงานว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า 

«وَمَا أُعْطِيَ أَحَدٌ عَطَاءً خَيْرًا وَأَوْسَعَ مِنَ الصَّبْرِ»

ความว่า “ไม่มีสิ่งใดที่ถูกประทานให้กับคนคนหนึ่งจะเป็นสิ่งที่ดีและกว้างขวางยิ่งไปกว่าความอดทน” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ ในหมวดซะกาต บรรพ อัล-อิสติอฺฟาฟฺ อะนิล มัสอะละฮฺ -การยับยั้งตนเองจากการขอผู้อื่น- และมุสลิม ในหมวดซะกาต บรรพ ฟัฎลุต ตะอัฟฟุฟ วัศ ศ็อบรฺ -ความประเสริฐของการยับยั้งตนเองและการอดทน)

การอดทนที่ดีที่สุดคือการอดทนในครั้งเริ่มแรกที่ต้องเผชิญกับบททดสอบ คนคนหนึ่งเมื่อเขาต้องประสบกับสิ่งที่เขาไม่เคยคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้น เขาอาจจะเพลี่ยงพล้ำและอาจจะไม่มีความหนักแน่นมั่นคงที่จะเผชิญกับสิ่งเหล่านั้นได้ ถ้าหากว่าเขาปราศจากความอดทน

- จงพิจารณาในคำกล่าวของท่านอิบนุล เญาซีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ เถิดว่า “ฉันได้เห็นชายชราคนหนึ่งมีอายุเกือบ 80 ปีแล้ว ซึ่งเขาเป็นผู้ที่รักษาการละหมาดญะมาอะฮฺอย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อหลานชายของเขาได้เสียชีวิตลง เขาก็ได้กล่าวว่า ไม่สมควรที่คนหนึ่งคนใดต้องขอดุอาอ์อีกแล้ว เพราะอัลลอฮฺไม่เคยตอบรับดุอาอ์เลย หลังจากนั้นเขาก็ได้กล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮฺทรงทำร้ายจิตใจของฉัน พระองค์ไม่ทรงให้บุตรหลานของฉันหลงเหลืออยู่เลย” (ดูในหนังสือ อัษ-ษะบาต อินดัล มะมาต โดยอิบนุล เญาซีย์ หน้า 34) และแน่นอนอัลลอฮฺทรงสูงส่งและบริสุทธิ์จากคำกล่าวนี้ยิ่งนัก

- ในช่วงเวลาที่บรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบกับภยันตรายจากการทำสงครามอุหุด ซึ่งพวกเขาไม่เคยคิดมาก่อนว่าต้องประสบกับความยากลำบากในบททดสอบครั้งนั้น เพราะอัลลอฮฺได้สัญญาว่าจะช่วยเหลือพวกเขา แต่แล้ว พระองค์ก็ทรงสอนพวกเขาด้วยกับบทเรียนที่หนักยิ่ง ด้วยกองเลือดและบรรดาชุฮะดาอ์(ผู้ที่เสียชีวิตในหนทางของอัลลอฮฺ) ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า

﴿ أَوَلَمَّآ أَصَٰبَتۡكُم مُّصِيبَةٞ قَدۡ أَصَبۡتُم مِّثۡلَيۡهَا قُلۡتُمۡ أَنَّىٰ هَٰذَاۖ قُلۡ هُوَ مِنۡ عِندِ أَنفُسِكُمۡۗ ١٦٥ ﴾ [ال عمران: ١٦٥] 

ความว่า “และเมื่อมีภยันตรายหนึ่งประสบแก่พวกเจ้า ทั้งๆ ที่มันเคยประสบแก่พวกเจ้ามาแล้วถึงสองเท่าแห่งภยันตรายนั้น พวกเจ้าก็ยังกล่าวว่าสิ่งนี้มาจากไหนกระนั้นหรือ ? จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่ามันมาจากที่ตัวของพวกเจ้าเอง” (สูเราะฮฺ อาล อิมรอน : 165)

อะไรเล่าคือสาเหตุแห่งความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นในตัวของพวกเขา ? อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า

﴿ فَشِلۡتُمۡ وَتَنَٰزَعۡتُمۡ فِي ٱلۡأَمۡرِ وَعَصَيۡتُم مِّنۢ بَعۡدِ مَآ أَرَىٰكُم مَّا تُحِبُّونَۚ مِنكُم مَّن يُرِيدُ ٱلدُّنۡيَا ١٥٢ ﴾ [آل عمران: ١٥٢] 

ความว่า “พวกเจ้าขลาดที่จะต่อสู้  ขัดแย้งกันในคำสั่ง และพวกเจ้าได้ฝ่าฝืนหลังจากที่พระองค์ได้ทรงให้พวกเจ้าเห็นสิ่งที่พวกเจ้าชอบ ในหมู่พวกเจ้านั้นมีผู้ที่ปรารถนาแต่โลกนี้” (สูเราะฮฺ อาล อิมรอน : 152)

 สิบสี่  คำสั่งเสียจากผู้มีคุณธรรม

เมื่อผู้ศรัทธาคนหนึ่งต้องประสบกับบททดสอบต่าง ๆ จากพระเจ้าของเขา สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เขามีสภาพที่สามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงได้นั้น คือ การที่อัลลอฮฺทรงประทานให้คนดีมีคุณธรรมเป็นผู้ที่คอยให้คำตักเตือนและกำลังใจเพื่อสร้างความหนักแน่นมั่นคงแก่เขา คำพูดของเขาจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และประคับประคองให้ผู้ศรัทธาอยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรงในการก้าวเดิน คำพูดเหล่านั้นจะเต็มไปด้วยการสะกิดหัวใจให้รำลึกถึงอัลลอฮฺ ให้คิดถึงการที่ต้องพบพระองค์ ให้คิดถึงสวนสวรรค์และนรกของพระองค์

โอ้ พี่น้องของฉัน และนี่ก็คือตัวอย่างจากเรื่องราวของท่านอิมามอะหฺมัด เราะหิมะฮุลลอฮฺ ในช่วงเวลาที่ท่านได้ประสบกับบททดสอบอันหนักหน่วง แล้วท่านก็ได้ผ่านพ้นมันไปจนออกมากลายเป็นประหนึ่งทองคำที่ถูกร่อนไฟจนสะอาดบริสุทธิ์

ท่านอิมามอะหฺมัดถูกล่ามโซ่เพื่อนำตัวไปยังอัล-มะอ์มูน ซึ่งได้ข่มขู่ว่าจะทรมานท่านอย่างหนักก่อนที่ตัวท่านจะถูกนำไปถึงที่ของอัล-มะอ์มูนด้วยซ้ำ กระทั่งคนใช้คนหนึ่งของท่านอิมามอะหฺมัดได้กล่าวแก่ท่านว่า “ฉันมีความกังวลเป็นอย่างยิ่ง โอ้อบู อับดิลลาฮฺ (อิมามอะหฺมัด) เพราะอัล-มะอ์มูนได้ชักดาบของเขาออกมาแบบที่ไม่เคยทำเช่นนี้มาก่อนเลย และเขาได้สาบานด้วยการที่ตนเป็นเครือญาติกับท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า หากท่านไม่ยอมรับในคำพูดที่ว่า อัลกุรอานนั้นคือมัคลู้ก(สิ่งที่ถูกสร้าง) แน่แท้ เขาก็จะสั่งประหารท่านด้วยดาบดังกล่าวอย่างแน่นอน” (ในหนังสือ อัล-บิดายะฮฺวัน นิฮายะฮฺ 1/332)

ณ ที่นี้เอง บรรดาผู้มีสติปัญญาจึงได้ใช้โอกาสที่จะพูดให้กำลังใจแก่อิมามของพวกเขาให้มีความยืนหยัดในจุดยืน มีระบุใน สิยัรฺ อะลามุน นุบะลาอ์ โดย อัซ-ซะฮะบีย์ 11/238 จากท่านอบู ญะอฺฟัร อัล-อันบารีย์ ได้เล่าว่า “เมื่อฉันได้รับข่าวว่าท่านอิมามจะถูกนำตัวส่งไปยังอัล-มะอ์มูน ฉันก็เลยข้ามแม่น้ำฟุรอตไป เมื่อมาถึงที่นั้นฉันก็ได้พบกับท่านอิมามและให้สลามแก่ท่าน ท่านจึงกล่าวว่า โอ้ อบู ญะอฺฟัรฺเอ๋ย ท่านทำให้ตัวท่านลำบากเสียแล้ว ฉันจึงกล่าวตอบว่า โอ้อิมามเอ๋ย ณ วันนี้ท่านคือผู้นำและผู้คนทั้งหลายต่างก็ตามท่าน ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ หากว่าท่านได้ยอมรับว่าอัลกุรอานนั้นคือมัคลู้ก(สิ่งที่ถูกสร้าง) แน่แท้ ผู้คนก็จะกล่าวตามท่านอย่างแน่นอน แต่หากว่าท่านฏิเสธต่อมัน ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็จะเห็นด้วยตามท่านเช่นกัน นอกจากนี้ ถึงแม้นว่าท่านจะไม่ถูกอัล-มะอ์มูนประหาร ท่านก็จะต้องตายอยู่ดี ความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่านจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิดและอย่าได้ยอมรับในความต้องการของพวกเขาเลย เมื่อได้ยินเช่นนั้นท่านอิมามอะหฺมัดจึงร้องไห้พร้อมได้กล่าวว่า มาชาอัลลอฮฺ ! แล้วท่านก็กล่าวอีกว่า โอ้ อบู ญะอฺฟัรฺ จงทวนคำพูดของท่านเมื่อสักครู่นี้เถิด ดังนั้น ฉันจึงกล่าวคำพูดเหล่านั้นซ้ำตามเดิม ท่านอิมามได้แต่กล่าวว่า มาชาอัลลอฮฺ ! ...”

ท่านอิมามอะหฺมัดได้กล่าวไว้ในขณะที่ท่านกำลังถูกนำตัวไปยังอัล-มะอ์มูนว่า “และแล้วเราก็ถูกนำตัวไปยังเขต อัร-เราะห์บะฮฺ ในช่วงกลางดึก จู่ ๆ ก็มีชายคนหนึ่งมาขวางทางและกล่าวถามว่า คนไหนคือ อะหฺมัด บิน หัมบัล ? ดังนั้น จึงมีคนชี้ว่า คนนี้แหละ เขาจึงกล่าวแก่คนจูงอูฐว่า จงหยุดสักครู่ก่อน แล้วเขาก็ได้กล่าวแก่อิมามอะหฺมัดว่า นี่ท่าน ! ดูท่า ท่านคงไม่พ้นที่จะถูกสังหาร ณ ที่นี้และท่านก็จะได้เข้าสวรรค์ จากนั้นเขาก็ได้กล่าวอีกว่า ฉันขอมอบหมายท่านต่ออัลลอฮฺ เมื่อกล่าวจบเขาก็เดินออกไป ฉันจึงได้ถามว่าคนคนนี้เป็นใคร มีคนกล่าวแก่ฉันว่า นี่คือชายชาวอาหรับคนหนึ่งจากเผ่าเราะบีอะฮฺ เขาทำอาชีพตัดเย็บเสื้อขนสัตว์(ศูฟ)ในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง เขามีชื่อว่า ญาบิรฺ บิน อามิรฺ เป็นที่รู้กันว่าเขาเป็นคนดีคนหนึ่ง” (ดู สิยัรฺ อะลามุน นุบะลาอ์ 11/241)

ใน “อัล-บิดายะฮฺ วัน นิฮายะฮฺ” ได้มีรายงานว่า ชายอาหรับชนบทคนหนึ่งได้กล่าวแก่ท่านอิมามอะหฺมัด ว่า “โอ้ นี่ท่าน ! แท้จริงท่านคือตัวแทนของผู้คนทั้งหลาย ดังนั้นอย่าได้ทำให้พวกเขาผิดหวัง และแท้จริง ณ วันนี้ ท่านคือผู้นำของผู้คนทั้งหลาย ดังนั้นอย่าได้ยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเรียกร้อง(ให้ท่านกล่าวว่าอัลกุรอานนั้นคือมัคลู้ก)เลย เพราะคนที่ตามท่านก็จะยอมรับด้วยเช่นกันแล้วท่านก็จะต้องแบกรับบาปของพวกเขาในวันกิยามะฮฺ และหากว่าท่านรักอัลลอฮฺ ท่านก็พึงอดทนในสิ่งที่ท่านกำลังประสบอยู่เถิด เพราะไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นอุปสรรคระหว่างท่านกับสวนสวรรค์ได้ นอกจากท่านจะถูกพวกเขาฆ่าเท่านั้น”

อิมาม อะหฺมัด กล่าวว่า “คำพูดของเขานั้นได้เพิ่มความหนักแน่นมั่นคงให้แก่ความตั้งใจของฉันในการปฏิเสธสิ่งที่พวกเขาได้เรียกร้องฉัน(ให้กล่าวว่าอัลกุรอานคือมัคลู้ก)ได้มากขึ้นทีเดียว” (ดู อัล-บิดายะฮฺ วัน นิฮายะฮฺ 1/332)

และในบางรายงาน ท่านอิมามอะหฺมัด ได้กล่าวว่า “ฉันไม่เคยได้ยินคำพูดใดที่จะมีความหนักแน่นมั่นคงในช่วงเวลาที่ฉันประสบกับปัญหานี้มากไปกว่าคำพูดของชายชนบทคนนั้นที่ได้พูดแก่ฉัน ตอนที่ฉันเจอเขา ณ เขต เราะห์บะฮฺ ฎูก  ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ระหว่างเมืองริกเกาะฮฺกับเมืองแบกแดด ติดกับแม่น้ำยูเฟรติส(อัล-ฟุรอต) ซึ่งเขาได้กล่าวว่า “โอ้ อะหฺมัดเอ๋ย หากว่าท่านได้ตาย ท่านก็จะตายในสภาพที่เป็นชะฮีด(ตายในหนทางของอัลลอฮฺ) และหากท่านได้มีชีวิต ท่านก็จะมีชีวิตอย่างผู้มีเกียรติ...ดังนั้น หัวใจของฉันจึงรู้สึกเข้มแข็งขึ้น” (ดู สิยัรฺ อะลามุน นุบะลาอ์ 11/241)

ท่านอิมามอะหฺมัด ได้เล่าถึงชายหนุ่มคนหนึ่งที่มีชื่อว่า มุหัมมัด บิน นูหฺ ซึ่งเป็นผู้ที่ร่วมอยู่กับท่านในการเผชิญหน้ากับบททดสอบนั้นว่า “ฉันไม่เคยเห็นผู้ใด ทั้ง ๆ ที่ยังมีอายุน้อยและมีความรู้ไม่มาก แต่กลับมีความมั่นคงในการปฏิบัติต่อคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ มากไปกว่า มุหัมมัด บิน นูหฺ ซึ่งฉันหวังว่าเขาจะสิ้นสุดชีวิตของเขาด้วยบั้นปลายที่ดีงาม(หุสนุลคอติมะฮฺ)  วันหนึ่ง เขาได้กล่าวแก่ฉันว่า โอ้ อบู อับดุลลอฮฺ พึงระวังต่ออัลลอฮฺเถิด พึงระวังต่ออัลลอฮฺเถิด แท้จริงท่านไม่เหมือนกับฉัน เพราะท่านเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้คนทั้งหลาย แท้จริงพวกเขาได้ยื่นคอของพวกเขาเพื่อฟังท่าน และพวกเขากำลังรอคอยว่าท่านจะกล่าวอะไรออกมา พึงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด และจงยืนหยัดต่อกำหนดของอัลอลฮฺเถิด จากนั้นเขาก็เสียชีวิต และฉันก็ได้ละหมาดให้แก่เขาและฝังศพของเขา” (ดู สิยัรฺ อะลามุน นุบะลาอ์ 11/242)

แม้กระทั่ง บรรดานักโทษในคุกที่ละหมาดเป็นมะอ์มูมพร้อมกับท่านอิมามอะหฺมัด ทั้งที่ท่านอยู่ในสภาพถูกล่ามโซ่ ก็ยังได้มีส่วนร่วมให้กำลังใจต่อการยืนหยัดของท่านด้วย

ครั้งหนึ่งท่านอิมามอะหฺมัด ได้กล่าวในขณะที่ท่านอยู่ในคุกว่า “ฉันไม่ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับคุกนี้หรอก สำหรับฉันแล้วคุกและบ้านคือสิ่งเดียวกัน และฉันก็ไม่ได้กลัวว่าฉันจะต้องถูกฆ่าด้วยดาบ แต่สิ่งที่ฉันหวั่นเกรงนั้นคือ การที่ต้องถูกทดสอบด้วยการถูกหวดด้วยแส้”

เมื่อนักโทษบางคนได้ยินท่านกล่าวเช่นนั้น ก็ได้กล่าวแก่ท่านว่า “โอ้ อบูอับดุลลอฮฺ ท่านอย่าได้กังวลใจใดๆ เลย มันก็แค่สองครั้งแรกที่โดนหวดเท่านั้น หลังจากนั้นท่านก็จะไม่มีความรู้สึกอีกแล้วว่าแส้ได้หวดส่วนไหนของร่างกายท่านบ้าง” เหมือนกับว่าเขาต้องการให้ท่านสบายใจขึ้น (ดู สิยัรฺ อะลามุนนุบะลาอ์ 11/240)

ด้วยเหตุนี้ โอ้พี่น้องที่มีเกียรติของฉัน จงจริงจังที่จะขอคำสั่งเสียจากบรรดาคนดีทั้งหลายเถิด และจงฟังมันให้เข้าใจเมื่อมันถูกสั่งเสียให้แก่ท่าน

- จงขอคำสั่งเสียก่อนที่ท่านจะออกเดินทางไปยังที่ใดที่หนึ่ง เมื่อท่านกังวลว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับท่าน

- จงขอคำสั่งเสียในช่วงเวลาที่ท่านกำลังเผชิญกับบททดสอบ หรือก่อนบททดสอบที่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับท่าน

- จงขอคำสั่งเสีย เมื่อท่านได้รับตำแหน่ง หรือได้รับมรดกและทรัพย์สินอันมากมาย

จงให้กำลังใจแก่ตัวเอง และจงให้กำลังใจแก่ผู้อื่น และอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นผู้ใกล้ชิดที่คอยคุ้มครองบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายเสมอ

 สิบห้า  พิเคราะห์ถึงความสุขในสวนสวรรค์และบทลงโทษในนรก และรำลึกถึงความตาย

สวนสวรรค์คือดินแดนแห่งความสุขรื่นเริง เป็นที่คลี่คลายความเศร้าโศก และเป็นบั้นปลายในการเดินทางของบรรดาผู้ศรัทธา จิตใจของคนนั้นถูกสร้างมาให้มีลักษณะไม่ชอบเสียสละทุ่มเทในการทำงานและยืนหยัด นอกจากต้องมีผลตอบแทนที่คุ้มกับความยากลำบากที่ได้ลงมือทำ และพอที่จะเป็นเหตุลดทอนอุปสรรคและความยุ่งยากที่พบเจอบนเส้นทางเดิน

ผู้ใดก็ตามที่รู้ว่ามีผลตอบแทนที่แน่นอนกำลังรอเขาอยู่ ความหนักหนาของงานก็จะดูเป็นเรื่องง่าย เขาจะเดินทางไปโดยที่รู้ว่าหากตัวเขาไม่มีความหนักแน่นมั่นคงแล้วไซร้ เขาก็จะสูญเสียสวนสวรรค์ที่ความกว้างของมันเท่ากับชั้นฟ้าและแผ่นดินไป เช่นเดียวกันนั้น จิตใจของมนุษย์มีความจำเป็นต่อสิ่งที่จะช่วยฉุดดึงเขาเพื่อยกระดับจากการเป็นแค่ธาตุดินในโลกนี้สู่ระดับชั้นในโลกอื่นที่สูงส่ง

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มักจะใช้วิธีการเล่าเรื่องราวของสวนสวรรค์เพื่อให้บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านยืนหยัดอย่างหยัดยืน ในหะดีษหะสันเศาะฮีหฺบทหนึ่ง มีรายงานว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เดินทางไปยังท่านยาสิรฺ  อัมมารฺ และ อุมมุ อัมมารฺ ซึ่งพวกเขากำลังถูกทรมานในหนทางของอัลลอฮฺ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวแก่พวกเขาว่า

«صَبْراً آلَ ياَسِرٍ صَبْراً آلَ ياَسِرٍ فَإِنَّ مَوْعِدَكُمُ الْجَنَّةُ»

ความว่า “จงอดทนเถิดครอบครัวของยาสิรฺ จงอดทนเถิดโอ้ครอบครัวของยาสิรฺ เพราะคำสัญญาที่พวกเจ้าจะได้รับนั้นคือ สวนสวรรค์” (บันทึกโดยอัล-หากิม 3/383 หะดีษมีสถานะหะสันเศาะฮีหฺ ดู ฟิกฮุสสีเราะฮฺ ตรวจทานโดยชัยคฺ อัล-อัลบานีย์ หน้า 103)

เช่นเดียวกันนั้น ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวแก่ชาวอันศอรฺว่า

«إِنَّكُمْ سَتَلْقَوْنَ بَعْدِي أَثَرَةً فَاصْبِرُوا حَتَّى تَلْقَوْنِي عَلَى الْحَوْضِ»

ความว่า“แท้จริงพวกท่านจะได้พบหลังจากฉันเสียชีวิต ว่ามีผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน(และพรรคพวก) ดังนั้นพวกท่านจงอดทนเถิด จนกว่าพวกท่านจะได้พบกับฉันที่สระน้ำ(อัล-เหาฎฺ) (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)

ผลเช่นเดียวกันนี้จะเกิดขึ้น สำหรับใครที่พิจารณาถึงสภาพของคนสองประเภท(ผู้ศรัทธา กับ ผู้ปฏิเสธศรัทธา) ในขณะที่อยู่ในหลุมฝังศพ ในทุ่งมะหฺชัรฺ ในช่วงที่กำลังสอบสวน(อัล-หิสาบ) ในช่วงที่กำลังถูกพิจารณาชั่งน้ำหนักความดีความชั่ว(อัล-มีซาน) ในการข้ามสะพาน(อัศ-ศิรอต) และทุกๆ สถานที่ในวันอาคิเราะฮฺ

การรำลึกถึงความตายจะคุ้มครองไม่ให้ผู้ศรัทธาตกอยู่ในความเสื่อมโทรม และเป็นสิ่งที่จะคอยหยุดยั้งเมื่อเขาจะกระทำสิ่งที่เป็นการละเมิดในคำสั่งของอัลลอฮฺ เพราะถ้าหากเขาได้รู้ว่าความตายนั้นใกล้ชิดกับตัวเขามากกว่าเชือกผูกรองเท้าของเขา และเวลาของมันนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ การก้าวเดินของเขาแล้วไซร้ เขาจะปล่อยให้ตัวเองหันเหเบี่ยงเบน หรือดื้อด้านในความหลงผิดบิดเบือนอยู่ได้อย่างไรกัน ด้วยเหตุนี้ ท่านเราะสูลุลอลฮฺ ศ็อลลัลลออุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้กล่าวว่า

«أَكْثِرُوا مِنْ ذِكْرِ هَاذِمِ اللَّذَّاتِ»

ความว่า “พวกท่านจงรำลึกถึงสิ่งที่จะช่วยตัดทอนความสุขสำราญให้มากๆ เถิด (คือให้นึกถึงความตายให้มาก) (บันทึกโดย อัต-ติรฺมิซีย์ 2/50 และอัล-อัลบานีย์กล่าวว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ดู อิรวาอุลเฆาะลีล 3/145)


 สนามแห่งการยืนหยัด

          สนามแห่งการยืนหยัดมีอย่างมากมาย เพียงพอแล้วสำหรับข้าพเจ้าที่จะนำเสนอให้แก่ท่านเป็นภาพรวมอย่างสังเขปดังนี้

 หนึ่ง  การยืนหยัดในบททดสอบต่าง ๆ

ความพลิกผันที่เกิดขึ้นในหัวใจของเรานั้นมักมีต้นเหตุมาจากการที่เราได้ประสบกับบททดสอบต่าง ๆ ดังนั้น หัวใจที่ต้องประสบกับบททดสอบทั้งที่เป็นบททดสอบในแง่ของความสุขสบายหรือเป็นบททดสอบในแง่ของการต้องเผชิญกับอุปสรรค ย่อมไม่มีใครที่จะสามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงได้นอกจากบรรดาผู้ที่มีความประจักษ์ชัดแจ้งในตัวของเขา นั่นคือผู้ที่ความศรัทธาได้เข้าไปอยู่เต็มในหัวใจของพวกเขาแล้ว

            ประเภทของบททดสอบต่างๆ

·      บททดสอบในทรัพย์สินเงินทอง

อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า

﴿ ۞وَمِنۡهُم مَّنۡ عَٰهَدَ ٱللَّهَ لَئِنۡ ءَاتَىٰنَا مِن فَضۡلِهِۦ لَنَصَّدَّقَنَّ وَلَنَكُونَنَّ مِنَ ٱلصَّٰلِحِينَ ٧٥ فَلَمَّآ ءَاتَىٰهُم مِّن فَضۡلِهِۦ بَخِلُواْ بِهِۦ وَتَوَلَّواْ وَّهُم مُّعۡرِضُونَ ٧٦ ﴾ [التوبة: ٧٥- ٧٦] 

ความว่า “และในหมู่พวกเขานั้นมีผู้ที่ได้สัญญาแก่อัลลอฮฺว่า ถ้าหากพระองค์ได้ทรงประทานแก่พวกเรา ซึ่งส่วนหนึ่งจากความกรุณาของพระองค์แล้วไซร้ แน่นอนเหลือเกิน พวกเราจะบริจาคทาน และแน่นอนพวกเราจะได้เป็นผู้อยู่ในหมู่คนดี ครั้นเมื่อพระองค์ได้ทรงประทานให้แก่พวกเขา ซึ่งส่วนหนึ่งจากความกรุณาของพระองค์ พวกเขาก็ตระหนี่ในส่วนนั้น และได้หนีถอยไปในสภาพที่พวกเขาเป็นผู้ผินหลังให้” (สูเราะฮฺ  อัต-เตาบะฮฺ 75-76)

·      บททดสอบในตำแหน่งเกียรติยศ

อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า

﴿ وَٱصۡبِرۡ نَفۡسَكَ مَعَ ٱلَّذِينَ يَدۡعُونَ رَبَّهُم بِٱلۡغَدَوٰةِ وَٱلۡعَشِيِّ يُرِيدُونَ وَجۡهَهُۥۖ وَلَا تَعۡدُ عَيۡنَاكَ عَنۡهُمۡ تُرِيدُ زِينَةَ ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَاۖ وَلَا تُطِعۡ مَنۡ أَغۡفَلۡنَا قَلۡبَهُۥ عَن ذِكۡرِنَا وَٱتَّبَعَ هَوَىٰهُ وَكَانَ أَمۡرُهُۥ فُرُطٗا ٢٨ ﴾ [الكهف: ٢٨] 

ความว่า “และจงให้ตัวเจ้าอดทนอยู่ร่วมกับบรรดาผู้วิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา ทั้งยามเช้าและยามเย็นด้วยความปรารถนาในความโปรดปรานของพระองค์ และอย่าให้สายตาของเจ้าหันเหออกไปจากพวกเขา ด้วยการที่เจ้าประสงค์ความสวยงามแห่งชีวิตของโลกนี้ และเจ้าอย่าเชื่อฟังผู้ที่เราทำให้หัวใจของเขาละเลยจากการรำลึกถึงเรา และปฏิบัติตามอารมณ์ต่ำของเขา และกิจการของเขาเป็นสิ่งที่ละเมิดหลงทาง” (สูเราะฮฺ อัล-กะฮฺฟุ : 28)

เกี่ยวกับบททดสอบทั้งสองข้างต้นนั้น ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَا ذِئْباَنِ جَائِعَانِ أُرْسِلاَ فِيْ غَنَمٍ بِأَفْسَدَ لَهاَ مِنْ حِرْصِ الْمَرْءِ عَلَى الْمَالِ وَالشَّرَفِ لِدِيِنِهِ»

ความว่า “การที่ปล่อยหมาป่าสองตัวในสภาพที่มีความหิวโหยไปอยู่ท่ามกลางฝูงแกะนั้น ยังไม่เสียหายมากเท่าการที่คนผู้หนึ่งละโมบในทรัพย์สินเงินทองและเกียรติยศซึ่งจะนำความเสียหายมายังศาสนาของเขา” (บันทึกโดย อิมาม อะหฺมัด ในมุสนัด 3/460 ดู เศาะฮีหุล ญามิอฺ 5496)

หมายความว่า การที่คนคนหนึ่งมีความโลภที่จะกอบโกยทรัพย์สินเงินทองและเกียรติยศนั้น มีความอันตรายต่อศาสนาของเขายิ่งกว่าความอันตรายที่จะปล่อยหมาป่าที่หิวโหยทั้งสองตัวให้ไปอยู่ท่ามกลางฝูงแกะเสียอีก

·      บททดสอบในตัวภรรยา

อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ إِنَّ مِنۡ أَزۡوَٰجِكُمۡ وَأَوۡلَٰدِكُمۡ عَدُوّٗا لَّكُمۡ فَٱحۡذَرُوهُمۡۚ وَإِن تَعۡفُواْ وَتَصۡفَحُواْ وَتَغۡفِرُواْ فَإِنَّ ٱللَّهَ غَفُورٞ رَّحِيمٌ ١٤ ﴾ [التغابن : ١٤] 

ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย แท้จริงในหมู่คู่ครองของพวกเจ้าและลูกหลานของพวกเจ้านั้น มีบางคนเป็นศัตรูแก่พวกเจ้า ฉะนั้นจงระวังต่อพวกเขา แต่ถ้าพวกเจ้าอภัยและยกโทษ(แก่พวกเขา) แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (สูเราะฮฺ อัต-ตะฆอบุน : 14)

·      บททดสอบในตัวลูกๆ

ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«الْوَلَدُ مَجْبَنَةٌ مَبْخَلَةٌ مَحْزَنَةٌ»

ความว่า “บรรดาลูก ๆ(จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด)ความขี้ขลาด ความขี้เหนียว และความโศกเศร้า” (บันทึกโดยอบู ยะอฺลา 2/305 โดยมีสายรายงานอื่น ๆ ที่เข้ามาเสริมให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ดู เศาะฮีหุล ญามิอฺ 7037)

·      บททดสอบจากผู้กดขี่ ผู้ปกครองที่เผด็จการและผู้อธรรมทั้งหลาย

ตัวอย่างที่ดีที่สุดที่จะนำเสนอ ณ ที่นี้คือ อัลลอฮฺ อัซซะวะญัลลา ได้ตรัสว่า

﴿ قُتِلَ أَصۡحَٰبُ ٱلۡأُخۡدُودِ ٤ ٱلنَّارِ ذَاتِ ٱلۡوَقُودِ ٥ إِذۡ هُمۡ عَلَيۡهَا قُعُودٞ ٦ وَهُمۡ عَلَىٰ مَا يَفۡعَلُونَ بِٱلۡمُؤۡمِنِينَ شُهُودٞ ٧ وَمَا نَقَمُواْ مِنۡهُمۡ إِلَّآ أَن يُؤۡمِنُواْ بِٱللَّهِ ٱلۡعَزِيزِ ٱلۡحَمِيدِ ٨ ٱلَّذِي لَهُۥ مُلۡكُ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضِۚ وَٱللَّهُ عَلَىٰ كُلِّ شَيۡءٖ شَهِيدٌ ٩ ﴾ [البروج: ٤،  ٩] 

ความว่า “บรรดาเจ้าของหลุมไฟนั้นถูกสาปแช่ง หลุมไฟที่เต็มไปด้วยเชื้อเพลิง ขณะที่พวกเขานั่งอยู่ตรงหน้าไฟ และพวกเขารู้เห็นเป็นพยานต่อสิ่งที่บรรดาลูกน้องกระทำกับบรรดาผู้ศรัทธา และพวกเขามิได้แก้แค้นเขาเหล่านั้นเว้นแต่ว่าเขาเหล่านั้นศรัทธาต่ออัลลอฮฺผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงได้รับการสรรเสริญ ผู้ซึ่งกรรมสิทธิ์แห่งชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินเป็นของพระองค์ และอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นพยานต่อทุกสิ่งอย่าง” (สูเราะฮฺ อัล-บุรูจญ์ 4-9)

มีบันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ จากการรายงานของท่านค็อบบาบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า

«شَكَوْنَا إِلَى رَسُولِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَهْوَ مُتَوَسِّدٌ بُرْدَةً لَهُ فِى ظِلِّ الْكَعْبَةِ، فَقُلْنَا : أَلاَ تَسْتَنْصِرُ لَنَا ؟ أَلاَ تَدْعُو لَنَا ؟. فَقَالَ : «قَدْ كَانَ مَنْ قَبْلَكُمْ يُؤْخَذُ الرَّجُلُ فَيُحْفَرُ لَهُ فِى الأَرْضِ فَيُجْعَلُ فِيهَا، فَيُجَاءُ بِالْمِنْشَارِ فَيُوضَعُ عَلَى رَأْسِهِ فَيُجْعَلُ نِصْفَيْنِ، وَيُمَشَّطُ بِأَمْشَاطِ الْحَدِيدِ مَا دُونَ لَحْمِهِ وَعَظْمِهِ، فَمَا يَصُدُّهُ ذَلِكَ عَنْ دِينِهِ»

ความว่า พวกเราได้มาร้องทุกข์ต่อท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยที่ท่านกำลังหนุนบนผ้าคลุมของท่านใต้ร่มเงาของกะอฺบะฮฺ พวกเราจึงได้กล่าวว่า “ท่านจะไม่ขอความช่วยเหลือให้แก่เราหรือ ? ท่านจะไม่ขอดุอาอ์ให้แก่เราหรือ ?” ท่านเราะสูลุลลอฮฺ จึงกล่าวตอบว่า “เคยมีชนก่อนหน้าพวกท่านที่ถูกนำตัวไป แล้วได้มีการขุดหลุมในดินเพื่อวางตัวเขาลงไปในนั้น แล้วเลื่อยก็ถูกนำมาวางไว้บนหัวของเขา แล้วก็เลื่อยหัวของเขาจนแยกออกเป็นสองส่วน และเขาได้ถูกหวีด้วยหวีเหล็กจนกระทั่งเหลือแต่เนื้อและกระดูก แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่สามารถจะหันเหเขาให้ออกจากศาสนาได้แม้แต่น้อย” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ ดู ฟัตหุลบารี 12/315)

·      บททดสอบจากดัจญาล

นี่คือบททดสอบอันยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิต ดังที่ท่านเราะสูลุลอฮฺ ศ็อลลัลอลฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«يَا أَيُّهَا الناَّسُ إِنَّهَا لَمْ تَكُنْ فِتْنَةٌ عَلَى وَجْهِ الْأَرْضِ مُنْذُ ذَرَأَ اللهُ آدَمَ أَعْظَمَ مِنْ فِتْنَةِ الدَّجَّالِ .. يَا عِبَادِ اللهِ، أَيُّهَا النَّاسُ : فاَثْبُتُوا فَإِنِّيْ سَأَصِفُهُ لَكُمْ صِفَةً لَمْ يَصِفْهَا إِياَّهُ قَبْلِيْ نَبِيٌّ .. »  

ความว่า “โอ้มนุษย์เอ๋ย จะไม่มีบททดสอบใด ๆ ที่ได้เกิดขึ้นบนหน้าแผ่นดินนี้ นับตั้งแต่อัลลอฮฺได้สร้างท่านนบีอาดัมขึ้นมา จะยิ่งใหญ่ไปกว่าบททดสอบของดัจญาล... โอ้บ่าวของอัลลอฮฺเอ๋ย โอ้มนุษย์เอ๋ย จงยืนหยัดอย่างหยัดยืนเถิด เพราะฉันจะบอกถึงลักษณะของมันให้แก่พวกท่าน ด้วยคุณลักษณะที่ไม่เคยมีนบีท่านใดก่อนหน้าฉันได้บอกถึง” (บันทึกโดยอิบนุ มาญะฮฺ 2/1359 ดู เศาะฮี หุลญามิอฺ 7752)

เกี่ยวกับสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคงของหัวใจและการหันเหของมันในช่วงขณะที่ต้องเผชิญกับบททดสอบต่าง ๆ นั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«تُعْرَضُ الْفِتَنُ عَلَى الْقُلُوبِ كَالْحَصِيرِ عُودًا عُودًا، فَأَيُّ قَلْبٍ أُشْرِبَهَا نُكِتَ فِيهِ نُكْتَةٌ سَوْدَاءُ، وَأَيُّ قَلْبٍ أَنْكَرَهَا نُكِتَ فِيهِ نُكْتَةٌ بَيْضَاءُ، حَتَّى تَصِيرَ عَلَى قَلْبَيْنِ عَلَى أَبْيَضَ مِثْلِ الصَّفَا فَلَا تَضُرُّهُ فِتْنَةٌ مَا دَامَتْ السَّمَاوَاتُ وَالْأَرْضُ، وَالْآخَرُ أَسْوَدُ مُرْبَادًّا كَالْكُوزِ مُجَخِّيًا لَا يَعْرِفُ مَعْرُوفًا وَلَا يُنْكِرُ مُنْكَرًا إِلَّا مَا أُشْرِبَ مِنْ هَوَاهُ»

ความว่า “ฟิตนะฮฺต่าง ๆ จะส่งผลต่อบรรดาหัวใจทั้งหลาย เหมือนเช่นเสื่อที่สร้างรอยให้กับคนนอนรอยแล้วรอยเล่า หัวใจดวงใดที่ได้ดื่มด่ำไปกับมัน ก็จะทำให้เกิดจุดดำจุดหนึ่ง และหัวใจดวงใดที่ปฏิเสธมัน ก็จะทำให้เกิดจุดขาวจุดหนึ่ง กระทั่งหัวใจได้แยกออกเป็นสองดวง ดวงหนึ่งมีความขาวที่บริสุทธิ์ซึ่งฟิตนะฮฺใด ๆ จะไม่สามารถสร้างความเสียหายแก่มันได้อีกตราบเท่าที่บรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินนี้ยังคงมีอยู่ ส่วนอีกดวงหนึ่งก็จะดำคล้ำดั่งกระทะที่หงายก้น โดยที่มันจะไม่รู้จักสิ่งที่ดีงามและจะไม่ปฏิเสธสิ่งชั่วร้ายใด ๆ เลย เว้นแต่จะคล้อยตามอารมณ์ใฝ่ต่ำของมันเท่านั้น” (บันทึกโดย อิมามอะหฺมัด 5/386 และมุสลิม 1/128 ซึ่งสำนวนเป็นของท่านมุสลิม)

 สอง  การยืนหยัดในสนามแห่งการต่อสู้(ญิฮาด)

อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ إِذَا لَقِيتُمۡ فِئَةٗ فَٱثۡبُتُواْ وَٱذۡكُرُواْ ٱللَّهَ كَثِيرٗا لَّعَلَّكُمۡ تُفۡلِحُونَ ٤٥ ﴾ [الانفال: ٤٥] 

ความว่า “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! เมื่อพวกเจ้าปะทะกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสมรภูมิ ก็จงยืนหยัดเถิด และจงรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มากๆ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” (สูเราะฮฺ อัล-อันฟาลฺ : 45)

หนึ่งในการกระทำที่เป็นบาปใหญ่ในศาสนาของเรานั้นคือ การหนีออกจากสมรภูมิที่กำลังมีการประจัญบานกันอยู่ และปรากฏว่าในขณะที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กำลังแบกก้อนดินบนหลังของท่านในการขุดสนามเพลาะ(ในเหตุการณ์การทำสงครามค็อนดัก) ท่านได้กล่าวซ้ำไปซ้ำมาพร้อม ๆ กับบรรดาผู้ศรัทธาว่า “ขอให้เท้าของเรามีความหนักแน่นมั่นคงด้วยเถิด หากเราได้เผชิญหน้ากับบรรดาศัตรู” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ ในหมวด อัล-เฆาะซะวาต การสงครามต่างๆ ของท่านเราะสูลุลลอฮฺ บรรพ ว่าด้วยการทำสงครามค็อนดัก(สนามเพลาะ) ดู ฟัตหุลบารี 7/399)  

 สาม  การยืนหยัดในวิถีทาง(มันฮัจญ์)ที่ตนเองก้าวเดินอยู่

อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า

﴿ مِّنَ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ رِجَالٞ صَدَقُواْ مَا عَٰهَدُواْ ٱللَّهَ عَلَيۡهِۖ فَمِنۡهُم مَّن قَضَىٰ نَحۡبَهُۥ وَمِنۡهُم مَّن يَنتَظِرُۖ وَمَا بَدَّلُواْ تَبۡدِيلٗا ٢٣ ﴾ [الاحزاب : ٢٣] 

ความว่า “ในหมู่ผู้ศรัทธานั้นมีบุรุษผู้มีสัจจะต่อสิ่งที่พวกเขาได้สัญญาต่ออัลลอฮฺเอาไว้ ดังนั้น ในหมู่พวกเขามีผู้ที่ได้บรรลุตามสัญญาของเขาแล้ว และในหมู่พวกเขามีผู้ที่ยังรอคอย(การตายชะฮีด) อยู่ และพวกเขามิได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด” (สูเราะฮฺ อัล-อะหฺซาบ : 23)

อุดมการณ์ของพวกเขามีคุณค่ายิ่งกว่าลมหายใจของพวกเขา เป็นคำมั่นสัญญาอันหนักแน่นมั่นคงไม่รู้จักความท้อถอยยอมจำนน

 สี่  การยืนหยัดในขณะที่จะเสียชีวิต

บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและบรรดาผู้กระทำความผิด(มะอฺศิยะฮฺ)ทั้งหลาย พวกเขาย่อมถูกต้องห้ามจากการได้อยู่ในสภาพที่สามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงในช่วงเวลาที่แสนจะวิกฤตที่สุด และพวกเขาย่อมไม่สามารถที่จะกล่าวกะลีมะฮฺชะฮาดะฮฺ(ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ) ในขณะที่พวกเขาใกล้ตายได้ และนี่คือสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการสิ้นสุดของชีวิตที่มีความเลวร้าย เช่นที่มีคนบางคนได้กล่าวแก่ผู้ที่ใกล้จะตายว่า “จงกล่าว ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ เถิด” แต่แล้วศีรษะของเขาก็ได้หันซ้ายหันขวา เป็นการปฏิเสธไม่ยอมที่จะเอ่ยคำกล่าวนั้นอย่างสิ้นเชิง

อีกบางคนเมื่อเขาใกล้จะตายก็เอาแต่พูดว่า “นี่เป็นสิ้นค้าชิ้นดีนะ นี่เป็นสิ้นค้าที่มีราคาถูกยิ่งนัก” บางคนก็ได้เอ่ยชื่อของตัวหมากรุกในแต่ละชิ้นว่ามีชื่ออะไรบ้าง บางคนก็เอาแต่ร้องเพลง และ บางคนก็จะเอาแต่เอ่ยถึงชื่อคนที่ตนเองหลงใหลชื่นชอบ

นี่เป็นเพราะว่า เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ คือสาเหตุที่ทำให้เขาหมกมุ่นจนลืมรำลึกถึงอัลลอฮฺในขณะที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในดุนยา

บางทีเราจะสังเกตเห็นว่าคนบางคนจะมีใบหน้าที่ดำคล้ำ และร่างกายจะมีกลิ่นที่เหม็น หรือบางคนก็จะหันหลังให้กับกิบละฮฺในขณะที่วิญญาณกำลังออกจากร่าง วะลาเหาละวะลา กูวะตะอิลลาบิลลาฮฺ –ไม่มีความสามารถและไม่มีพลังใดๆ นอกจากด้วยความสามารถและพลังของอัลลอฮฺ

ส่วนผู้ที่ชีวิตของเขานั้นกระทำแต่ความดีงามและเป็นผู้ที่เจริญรอยตามแบบฉบับของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อัลลอฮฺก็จะทรงประทานสภาพที่เขาสามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงให้แก่เขาในช่วงที่เขาใกล้จะหมดลมหายใจ กระทั่งเขาสามารถที่จะกล่าวกะลิมะฮฺชะฮาดะฮฺได้

ซึ่งเราอาจจะเห็นว่าใบหน้าของพวกเขานั้นมีความเบิกบาน และร่างกายของพวกเขานั้นจะมีกลิ่นที่หอมหวาน และสัญญาณอื่นๆ ที่บ่งชี้ถึงข่าวดีต่างๆ ในช่วงเวลาที่วิญญาณของพวกเขากำลังออกจากร่าง

นี่คือตัวอย่างเพียงตัวอย่างหนึ่ง สำหรับผู้ที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงประทานสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคงให้แก่เขาในช่วงเวลาที่เขากำลังใกล้ตาย นั่นคือท่านอบู ซุรฺอะฮฺ อัร-รอซีย์ หนึ่งในนักวิชาการหะดีษที่มีชื่อเสียง และที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้คือเรื่องราวของท่าน

ท่านอบู ญะอฺฟัร มุหัมมัด บิน อะลี ซึ่งเป็นเสมียนของท่านอบู ซุรฺอะฮฺ ได้เล่าว่า “ฉันได้มายังหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า มาชะฮฺรอน เป็นหมู่บ้านหนึ่งในเขต อัร-ร็อยย์ ในช่วงเวลาที่ท่านใกล้จะเสียชีวิต ซึ่งใกล้ ๆ กับท่านมีท่านอบู หาติม ท่านอิบนุ วาริฮฺ ท่านอัล-มุนซิรฺ บิน ชาซาน และท่านอื่นๆ ซึ่งพวกเขาก็ได้กล่าวถึงหะดีษที่เกี่ยวกับการตัลกีน(การสอนคนใกล้จะเสียชีวิต) ที่ว่า

«لَقِّنُوا مَوْتاَكُمْ لَا إِلَهَ إِلاَّ اللهُ»

ความว่า “พวกท่านจงสอนผู้ที่กำลังใกล้จะตายให้เขากล่าวว่า ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ เถิด”

แต่พวกเขาค่อนข้างละอายที่จะสอนท่านอบู ซุรฺอะฮฺ ในที่สุดพวกเขาจึงกล่าวว่า พวกเรามารายงานหะดีษข้างต้นกันเถิด ดังนั้น ท่านอิบนุ วาริฮฺก็เริ่มรายงานว่า “อบู อาศิมได้เล่าแก่เรา จากอับดุลหะมีด บิน ญะอฺฟัรฺ ได้เล่าจากศอลิหฺ บิน อบี...” ครั้นเมื่อกล่าวถึง บิน อบี ... เขาก็แสร้งไม่กล่าวให้จบ (เพื่อให้อบู ซุรฺอะฮฺ ได้กล่าวหะดีษนี้แทน)  จากนั้นท่านอบู หาติมก็ได้กล่าวต่อว่า “บุนดารฺได้เล่าแก่เรา จากอบูอาศิมได้เล่าแก่เรา จากอับดุลหะมีด บิน ญะอฺฟัรฺ จากศอลิหฺ ...” และเขาก็หยุดแค่นั้นไม่กล่าวให้จบ ส่วนคนอื่น ๆ นั้นก็นิ่งเงียบ เมื่อนั้น อบู ซุรฺอะฮฺ ก็ลืมตาขึ้น ขณะที่ท่านใกล้จะสิ้นลมเต็มทีแล้ว ท่านได้กล่าวรายงานหะดีษจนจบว่า “ท่านบุนดารฺได้เล่าแก่เรา จากอบู อาศิมได้เล่าแก่เรา จากอับดุลหะมีดได้เล่าแก่เรา จากศอลิหฺ บิน อบี เฆาะรีบ จากกะษีรฺ บิน มุรฺเราะฮฺ จากมุอาซฺ อิบนุญะบัล ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺได้กล่าวว่า

«مَنْ كَانَ آخِرَ كَلاَمِهِ لَا إِلَهَ إِلاَّ اللهُ دَخَلَ الجَنَّة»

ความว่า “ผู้ใดก็ตามที่คำพูดสุดท้ายของเขาคือ ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ เขาย่อมได้เข้าสวรรค์”

และแล้ววิญญาณของท่านอบู ซุรฺอะฮฺ ก็ได้ออกจากร่าง(ในขณะที่ท่านได้กล่าวหะดีษซึ่งมีคำว่า ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ อยู่ด้วย) เราะหิมะฮุลลอฮฺ – โอ้อัลลอฮฺโปรดประทานความเมตตาให้แก่ท่านด้วยเถิด” (จาก สิยัรฺ อะลามุน นุบะลาอ์ 13/76-85)

อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสถึงบุคคคลเช่นนี้ว่า

﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ قَالُواْ رَبُّنَا ٱللَّهُ ثُمَّ ٱسۡتَقَٰمُواْ تَتَنَزَّلُ عَلَيۡهِمُ ٱلۡمَلَٰٓئِكَةُ أَلَّا تَخَافُواْ وَلَا تَحۡزَنُواْ وَأَبۡشِرُواْ بِٱلۡجَنَّةِ ٱلَّتِي كُنتُمۡ تُوعَدُونَ ٣٠ ﴾ [فصلت: ٣٠] 

ความว่า “แท้จริง บรรดาผู้กล่าวว่าพระเจ้าของพวกเราคืออัลลอฮฺ แล้วพวกเขาก็ยืนหยัดตามคำกล่าวนั้น มะลาอิกะฮฺจะลงมาหาพวกเขา (เมื่อพวกเขาใกล้จะสิ้นลมหายใจ โดยจะกล่าวกับพวกเขาว่า) พวกท่านอย่าหวาดกลัวและอย่าเศร้าสลดใจ แต่จงต้อนรับข่าวดี คือสวนสวรรค์ซึ่งพวกเจ้าได้ถูกสัญญาไว้” (สูเราะฮฺ ฟุศศิลัต : 30)

โอ้ อัลลอฮฺ ได้โปรดบันดาลให้เราเป็นผู้หนึ่งในหมู่พวกเขาด้วยเถิด โอ้ อัลลอฮฺ เราขอต่อพระองค์ให้ทรงประทานสภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคงในทุกๆ กิจการงาน และให้มีความแน่วแน่บนการชี้นำอันถูกต้องด้วยเถิด และคำวิงวอนสุดท้ายของเรานั้นคือ อัลหัมดุลิลลาฮิร็อบบิลอาละมีน มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเป็นพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก